ปัจจุบันการจับจ่ายใช้สอยบนอุปกรณ์พกพาเป็นที่นิยมและมีความแพร่หลายมากขึ้นในทุกขณะ เหตุผลหลักคือผู้คนเริ่มมีความมั่นใจในธุรกรรมบนโลกออนไลน์ที่มากขึ้น พร้อมกับเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสำหรับการชำระเงินเองก็มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงทำให้การซื้อของผ่านโทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นเรื่องที่เห็นกันได้อย่างชินตา อย่างไรก็ดี เวลาที่ไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า เรายังต้องใช้บัตรเครดิตเพื่อทำธุรกรรมอยู่ด้วยความเคยชิน แต่ถ้าเราจะเอาโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวมาช่วยในเรื่องนี้ จะทำให้คุณไม่ต้องพกบัตรพลาสติกในกระเป๋า…มันจะดีแค่ไหน?
อันที่จริงแล้วการใช้โทรศัพท์มือถือในการชำระเงินไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเริ่มมี ถ้าย้อนกลับไปเรามีระบบการสร้างกระเป๋าเงิน หรือ Wallet ผ่านแอปพลิเคชัน เราสามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินจำลอง และชำระค่าสินค้าหรือบริการได้จริงที่จุดรับชำระ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ อย่างไรก็ตามรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นรูปแบบของเดบิต หรือการใส่เงินเข้าไปในระบบก่อน จึงสามารถที่จะใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ ซึ่งแตกต่างจากบัตรเครดิตอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้เรื่องของความปลอดภัย ก็ยังถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ให้บริการต้องตระหนัก เพราะหลายงานสำรวจพบว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางออนไลน์ ก็เพราะกังวลเรื่องของความปลอดภัยนั่นเอง
และเมื่อผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก อย่าง Google และ Apple ออกโรงเปิดระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ที่ชื่อว่า Android Pay และ Apple Pay โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลาง เพื่อให้คนไม่จำเป็นที่จะต้องควักบัตรพลาสติกออกมาชำระเงิน ก็ทำให้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการพกบัตรเครดิตจำลองอยู่บนโทรศัพท์มือถือ ที่ถือได้ว่ากลายเป็นอวัยวะอีกชิ้นที่ติดตัวทุกๆ คนอยู่ตลอดเวลา
Samsung ในฐานะผู้นำด้านการผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็กระโดดลงมาในสังเวียนนี้ด้วยเช่นกัน โดยเปิดให้บริการ “Samsung Pay” ที่ผู้ใช้สามารถใช้สมาร์ทโฟนของตัวเอง เพิ่มบัตรเครดิตของธนาคารที่ร่วมบริการ และใช้งานแทนบัตรพลาสติกในกระเป๋าได้ทันที แน่นอนว่าการเข้ามาแข่งกับผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการอย่าง Google และ Apple นั้น Samsung ก็ต้องมีสิ่งที่เหนือกว่าอยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นก็คงเป็นการยากที่จะยกระดับของบริการให้เหนือกว่าบริษัททั้งสอง
ปัจจุบันสิ่งที่ยังเป็นข้อจำกัดของทั้ง Apple Pay และ Android Pay ก็คือการใช้งานกับเครื่องรูดบัตร หรือที่เราเรียกกันติดปากกว่าเครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ซึ่งจะต้องรองรับระบบ NFC เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติเครื่องรูดบัตรประเภท NFC (เช่น VISA Paywave) นั้นมีจำนวนน้อยมาก เพียง 5-6% ของเครื่องรูดบัตรในเมืองไทยทั้งหมด นั่นทำให้บริการทั้งสองยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศเรา
แต่สิ่งที่ Samsung ทำก็คือการนำเทคโนโลยี MST หรือ Magnetic Secure Transmission ที่จะทำให้สามารถใช้จ่ายบัตรเครดิตสำหรับเครื่อง EDC ที่เป็นแบบเครื่องอ่านแถบแม่เหล็กแบบเดิมได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทาง นั่นหมายถึงเครื่องรูดบัตรแทบจะทั้งหมดจะสามารถรองรับบริการ Samsung Pay ได้ทั้งสิ้น (เครื่องอ่านบัตรประเภทชิพ ปกติจะรองรับการใช้แถบแม่เหล็กได้เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว) โดยที่ทาง Samsung ยกจุดเด่นของบริการ Samsung Pay สามเรื่องหลักๆ ก็คือ “ง่าย” “ปลอดภัย” และ “สะดวก” คือ
“ง่าย” – การใช้งาน Samsung Pay บนสมาร์ทโฟนของ Samsung รุ่นที่รองรับนั้นง่ายมากๆ ครับ เพียงแค่เรียกบัตรโดยลากนิ้วขึ้นจากจอด้านล่าง เลือกบัตรที่ต้องการใช้ชำระสินค้า (ในเครื่องสามารถบรรจุบัตรเครดิตสูงถึง 12 ใบ) และแตะนิ้วเพื่อยืนยันตัวตน ก็สามารถนำสมาร์ทโฟนไปแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระเงินได้แล้วครับ
“ปลอดภัย” – นอกจากจะใช้นิ้วมือเพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของบัตรเครดิตนั้นแล้ว (ซึ่งถึงคุณถูกขโมยบัตรไป ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนำบัตรเครดิตไปใช้) Samsung Pay ยังทำงานอยู่บน Samsung Knox แพลตฟอร์มด้านความปลอดภัย ที่ทำให้คุณไร้กังวลแม้ว่าโทรศัพท์จะหาย คุณจะอุ่นใจได้ว่าไม่มีใครสามารถนำบัตรเครดิตของคุณไปใช้ได้ แม้ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม
และ “สะดวก” – อย่างที่บอกไปครับ Samsung Pay รองรับเทคโนโลยี MST และ NFC นั่นทำให้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรูดบัตรแบบใด ก็สามารถที่จะใช้งานได้ ทำให้สะดวก ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องพกบัตรพลาสติกอีกต่อไป
สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการใช้งาน Samsung Pay นั้น เพียงคุณใช้สมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับ เช่น Samsung Galaxy S7, S7 edge, S6 edge+, Note5, A7 และ A5 เวอร์ชัน 2016 (A9 Pro จะใช้ได้เร็วๆ นี้) รวมทั้งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตธนาคารที่ร่วมรายการ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซิตี้แบงค์, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารกรุงเทพ (สองธนาคารหลังจะใช้ได้ในวันที่ 1 และ 15 ธันวาคมนี้ ตามลำดับ)
คุณสามารถตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมรายการ และโปรโมชั่นการใช้งาน Samsung Pay ได้ และข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.samsung.com/th/samsungpay/
บทความนี้เป็น advertorial