เชื่อว่าหลายคนคงจะเห็นข่าวการประกาศความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ของ SCB ที่ร่วมมือกับทั้ง AIS และ CP ที่สะท้อนให้เห็นว่ายุคนี้เราจะช้าในการปรับธุรกิจให้ทันกับยุคสมัยไม่ได้แล้ว
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก
จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการถูก disrupt นั้น เริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้
ทั้งนี้ SCB จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้
นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี
โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว
โดยจะเริ่มจากการโครงการปล่อยกู้รถหรูร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป ผู้นำด้านรถยนต์รายใหญ่ผ่านบริษัท Alpha X ซึ่งมีคุณวศิน ไสยวรรณ มานั่งเป็นผู้บริหาร
ดังนั้น SCB จึงประกาศบรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาร่วมทุน ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไป นับเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังสร้างฐานธุรกิจแห่งการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้กับทั้งสององค์กรชั้นนำระดับประเทศ
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่บริษัทชั้นนำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ Telco และสถาบันการเงิน ร่วมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์คนในวงกว้างโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
โดยจะมีลูกหม้ออย่างคุณต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร มานั่งเป็นซีอีโอ
นอกจากนี้ ยังมีมติให้บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ บริษัทย่อยและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ร่วมมือกับทาง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีจี ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เช่น บล็อกเชน ดีเซนทัลไลซ์ไฟแนนซ์ ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่ในอนาคต สำหรับการร่วมมือกันครั้งนี้นอกจากบริหากองทุนร่วมกันแล้ว ทั้งสองบริษัทยังจะร่วมทุนกับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายย่อยอีกด้วย แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ทำให้รายละเอียดในส่วนนี้ธนาคารจะมีการแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง