Site icon Thumbsup

โกอินเตอร์! SCB ร่วมลงทุนใน Ripple Startup Blockchain ชั้นนำของโลก

 unnamed

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยการดำเนินงานของบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในเครือด้านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ประกาศแผนการลงทุนใน Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษาและทดลอง เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) บน Blockchain นี้ เพื่อพัฒนาและสร้างเสถียรภาพให้กับการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาดำเนินการ ลดค่าใช้จ่าย และมั่นใจได้ในความปลอดภัยในโลกการเงินแห่งยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นฟินเทคที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในแวดวงการเงินและธุรกรรมออนไลน์ของโลก และเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติโลกการเงินยุคใหม่ โดยการลงทุนใน Ripple ครั้งนี้จะช่วยทำให้ธนาคารเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าไปลงทุนใน Ripple พร้อมศึกษาและทดลองระบบการโอนเงินข้ามประเทศที่ใช้โซลูชั่น Blockchain นี้ด้วย โดยผ่านการดำเนินงานของดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งมีพันธกิจหลักในการวิเคราะห์และเสาะหาโอกาสด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมฟินเทคของธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อยกระดับการบริการลูกค้า”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เครือข่ายธุรกรรมการเงินระดับโลกของ Ripple มีการเชื่อมโยงกับธนาคารชั้นนำของโลก อาทิ Standard Chartered, Royal Bank of Canada (RBC), Westpac, National Australia Bank (NAB), Mizuho Financial Group (MHFG), BMO Financial Group และ Shanghai Huarui Bank ซึ่งต่างมีการนำเทคโนโลยี Blockchain นี้มาพัฒนาบริการการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

“เมื่อเครือข่ายภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้มีความพร้อมและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ที่จะนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้งาน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายแก่ลูกค้า ทั้งยังอยู่ภายใต้ระบบการรักษาความปลอดภัยระดับโลก” นายธนากล่าว

โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในรอบ Series B ของ Ripple ซึ่งเป็นการระดมทุนทั้งสิ้นจำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมลงทุนที่สำคัญรายอื่น ๆ ประกอบด้วย Accenture, Addreessen Horowitz, Google Ventures, IDG Capital Partners, Santander InnoVentures และ Seagate

“การดำเนินการครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยพาณิชย์ในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินยุคใหม่ (FinTech Ecosystem) โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์ส เป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ ดิจิทัล เวนเจอร์สจะได้ร่วมมือกับ Ripple ในการสร้างความรู้และความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจไทยเกี่ยวกับนวัตกรรม Blockchain ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่และเป็นที่รู้จักในวงแคบ ให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในการช่วยยกระดับการทำธุรกรรมออนไลน์ในภาคการเงินและภาคธุรกิจต่างๆ” นายธนากล่าวเสริม

เกี่ยวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures)

ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารฯ เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนใน Financial Technology จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,760 ล้านบาท ข้อมูลเพิ่มเติม www.dv.co.th

เกี่ยวกับ Ripple

Ripple คือผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินระดับโลกที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนมูลค่าและเงินตราให้มีลักษณะเดียวกับระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดเป็นแนวคิด Internet of Value (IoV) โซลูชั่นของ Ripple ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมโดยให้ธนาคารต้นทางและปลายทางติดต่อกันโดยตรงแบบเรียลไทม์ มีธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมเป็นพันธมิตรกับ Ripple เพื่อยกระดับบริการการชำระเงินข้ามประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสถาบันการเงินและผู้ดูแลสภาพคล่องระดับโลกที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Ripple คือสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเงินทุน มีสำนักงานในซานฟรานซิสโก นิวยอร์ค ลอนดอน ซิดนีย์ และลักเซมเบิร์ก Ripple ยังเป็นผู้เสริมสร้างแนวคิด Internet of Value โดยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการการชำระเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานร่วมของคณะทำงานด้านการชำระเงินบนเว็บของเวิลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม (W3C)