ใครที่พลาดโอกาสเข้าร่วมงาน “Faster Future / SCB FinTech Forum” ต้องบอกว่าน่าเสียดายทีเดียว เพราะมีการบรรยายพิเศษในหลาย ๆ หัวข้อที่น่าสนใจ รวมถึงการบรรยายเรื่อง “2017 Tech Trend in ASIA” โดยคุณ Jeffrey Paine ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการกองทุน Golden Gate Ventures กองทุนสตาร์ทอัปชั้นนำจากสิงคโปร์ที่มาบอกเล่าถึงเทรนด์การเติบโตของภาคธุรกิจดิจิทัลที่จะเห็นได้มากขึ้นในปี 2017 นี้
โดยคุณ Jeffrey Paine เริ่มต้นด้วยภาพรวมการใช้งานอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการยกตัวอย่างสถิติการใช้งานของประชากรในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่มีการใช้งานเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามมีการเสิร์ชหาข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนถึง 3 พันล้านครั้งต่อวัน ฟิลิปปินส์ที่มีการส่งข้อความ 500 ล้านครั้งต่อวัน เป็นต้น หรือแม้แต่ประเทศ Emerging Market อย่างเมียนมาร์ก็มียอดผู้ใช้งานอุปกรณ์โมบายล์เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตัดมาที่ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม คุณ Jeffrey ได้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหลายด้าน ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจได้ หนึ่งในนั้นก็คือ ตลาดสินค้าฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดสินค้าสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ที่ภูมิภาคนี้มีผู้นับถืออยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโตสูง
นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดกลางและเล็กใน SEA ก็มีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในด้านต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น คุณ Jeffrey มองว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคดังกล่าว (จริง ๆ ก็รวมถึงโลกทั้งโลกด้วย) สูงมาก และเขายังได้เพิ่มปัจจัยพิเศษขึ้นมาอีกหนึ่งตัว นั่นคือเรื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจออกนโยบายกระทบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคได้
“ที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถสร้างยูนิคอร์นให้เกิดขึ้นได้หลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Grab, Razer, Traveloka, UNG, Garena และ Tokopedia รวมถึงธุรกิจที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ เช่น Carousell, Reebonz หรือ PropertyGuru จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 40 พันล้านเหรียญสหรัฐมาลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว”
มากไปกว่านั้น เขายังมองว่าการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้อยู่ในระดับเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2006 และอินเดียเมื่อปี 2011 เลยทีเดียว
แต่ SEA ไม่ใช่ “จีน – อินเดีย”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถจัดการได้ด้วยกลยุทธ์แบบเดิมที่เคยใช้สำเร็จมากับจีนและอินเดียนั้น มาจากเหตุผลดังต่อไป
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมแบบผสม ขณะที่จีนและอินเดียมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเป็นของตนเอง
- แต่ละประเทศมีภาษาทางการของประเทศตัวเอง ทำให้มีภาษาทางการมากถึง 14 ภาษา
- ระบบกฏหมายของแต่ละประเทศแยกออกจากกัน
- แต่ละประเทศอาจไม่ได้ตั้งอยู่ชิดติดกัน ส่วนจีนและอินเดียนั้นรวมตัวกันเป็น One Piece
- มีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาบุกตลาด ขณะที่จีนและอินเดียนั้นการแข่งขันมาจากคู่แข่งในประเทศเป็นส่วนใหญ่
จากจุดนี้ Jeffrey Paine มองว่า การลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าการลงทุนในจีนและอินเดีย ที่มีคู่แข่งเบอร์แข็ง ๆ และเข้าใจตลาด เข้าใจประชากรของประเทศรออยู่นั่นเอง
8 ธุรกิจมีศักยภาพ
- B2B eCommerce ในปี 2017 นี้ คุณ Jeffrey มองว่าจะได้เห็นการตัวเลขการค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยธุรกิจในการบริหารจัดการสินค้าที่ขายบนโลกออนไลน์มากขึ้น
- FinTech อีกหนึ่งตัวที่จะมีการเติบโตก็คือ FinTech โดยจะพบการใช้ Big Data, Real Time Credit Rating, ธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบ ไปจนถึง On-demand Insurance
- Entertainment เช่น สื่อทางเลือกต่าง ๆ การเกิดขึ้นของ VDO Blogging บริการ Live Streaming หรือกระทั่งแพลตฟอร์มด้าน short VDO และ Ad Tech รูปแบบใหม่ ๆ
- Automotive เช่น ระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัจฉริยะ แพลตฟอร์มด้านการบำรุงรักษารถยนต์ทั้งแบบ B2B และ B2C ไปจนถึงการให้เช่าหรือยืมรถยนต์ไปใช้
- HealthCare ในส่วนนี้ก็อาจเป็นบริการที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินมาแล้ว เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับโรงพยาบาล คลินิค การนำอุปกรณ์ Sensor IoT มาใช้ตรวจวัดค่าต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล ระบบดูแลผู้สูงอายุจากบ้าน ไปจนถึงบริการประเภท Doctor – on – demand เป็นต้น
- Enterprise SAAS เป็นเรื่องของการนำ AI หรือ Machine Learning เข้ามาวิเคราะห์การดำเนินงานของธุรกิจมากขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาระบบบริการลูกค้าอัตโนมัติโดยใช้ AI เป็นตัวจักรสำคัญ
- Transport เช่น อาจมีการเปิดตัวบริการคล้าย ๆ Uber แต่สำหรับรถบรรทุกสินค้า เป็นต้น หรือบริการที่ช่วยวางแผนเส้นทางเดินรถ
- AgriTech ในปี 2017 เราอาจได้เห็นการนำ Big Data เข้ามาช่วยปรับปรุงการเกษตร ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีแพลตฟอร์มสนับสนุนทางการเงินแก่เกษตร ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้จึงอาจถือได้ว่า ปี 2017 เป็นปีแห่งโอกาสและความท้าทายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว