ไวรัสโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติที่มนุษยชาติต้องเผชิญแบบไม่ทันตั้งตัวและความรุนแรงได้บดบังปัญหาหลายอย่างที่โลกเผชิญอยู่ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ที่โลกประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่องและอาจก่อตัวเป็นวิกฤติใหญ่ให้กับโลกใบนี้ในระยะอันใกล้นี้ได้
คุณเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า “อีกมิติหนึ่งที่เราควรจะคิดเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจปกติเราใช้เงินและความมั่นใจแก้ แต่วิกฤติเชิงกายภาพ อย่างโควิด-19 และวิกฤติโลกร้อนคล้ายกันที่ใช้เงินและความมั่นใจแก้ไม่ได้ แต่ป้องกันได้ ตอนนี้จึงเห็นว่ามันเป็นเวลาที่เราจะต้องกลับมามองเรื่อง Climate Change ให้มากกว่าเดิมอีก เพราะถ้าเราไม่แก้เรื่องนี้เลย สักวันหนึ่งก็จะเป็น New Covid อีก”
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์มายาวนานที่ผ่านมา SENA ได้ให้ความสำคัญกับบทบาท ของการลดภาวะโลกร้อนผ่านนโยบายบริษัทที่ลงมือปฏิบัติจริงด้วยการพัฒนาหมู่บ้านที่ติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) จนกลายเป็นโครงการหมู่บ้านโซลาร์เซลล์เต็มรูปแบบรายแรกของไทย
โดยได้ติดตั้งไปแล้ว มากกว่า 400 หลังคาเรือน ขนาด 2.2-2.5 กิโลวัตต์ต่อหลังคิดเป็น 1เมกะวัตต์ เมื่อคิดคำนวณในระยะเวลา 10 ปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ได้ถึง 16-63 ต้น สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ 2-9 ตันต่อปี
แต่โควิด-19 ทำให้คนไทยต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Distancing) ถูกกักตัวและทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) ตามนโยบายของรัฐเพื่อลดการติดเชื้อได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่แพงขึ้น ด้วยหลายกิจกรรมที่เพิ่มจากการอยู่บ้านโดยเฉพาะช่วงนี้อากาศนั้นร้อนสุดๆ ทำให้การเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศมีมากขึ้น
ประกอบกับส่วนใหญ่คนลืมคิดว่าค่าไฟฟ้าที่ใช้อยู่เป็นแบบอัตราก้าวหน้าใช้มากก็ยิ่งจ่ายสูง โดยกรณีใช้ไม่เกิน 150 หน่วยคิดค่าไฟเฉลี่ยที่ 3.24 บาท ต่อหน่วย แต่หากอยู่ระหว่าง 151-400 หน่วย จะคิดหน่วยละ 4.221 บาทต่อหน่วยและเกินกว่า 400 หน่วยเป็นต้นไปคิดหน่วยละ 4.42 บาท ซึ่ง SENA ได้รับเสียงสะท้อนจากลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ฯว่าทำให้เขาประหยัดค่าไฟไปได้มาก
จึงทำให้SENA พลิกมุมมองเรื่องโซลาร์ฯ ที่ไม่เพียงตอบโจทย์การลดโลกร้อน แต่ยังทดสอบกับพฤติกรรม Work From Home ที่เชื่อว่าจะกลายเป็น New Normal
หลังจากนี้อย่างน้อยก็ 1-2 ปี ด้วยการหันมา ติดโซลาร์ฯกับบ้านขนาดเล็ก หรือ ทาวเฮ้าส์ กำลังผลิต 1.28 กิโลวัตต์ ด้วยราคาขายประมาณ 2 ล้านบาท โดยจะนำร่องติดตั้งทุกยูนิตในโครงการ “เสนาวิลล์ ลำลูกกา- คลอง 6” โดยเตรียมเปิดตัวเดือนมิถุนายน 2563
การติดตั้งขนาด 1.28 กิโลวัตต์เป็นสเกลที่เล็กมากพูดตรงๆว่าไม่ได้คิดกำไรเลยแต่เราอยากให้คนที่มีรายได้น้อยเข้าถึง และต้องการทดสอบว่าการทำงานอยู่บ้านจะเป็น New Normal จริงหรือไม่ แต่ระหว่างนี้หากเราทำไปแล้ว พอโควิด-19 จบแล้ว ทุกคนก็กลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิมเราก็เลิกได้
แต่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนแต่อาจไม่ได้เต็ม 100% เพราะจริงๆ ที่ผ่านมาก็มีคนจำนวนหนึ่งทำงานที่ร้านกาแฟแทนการทำงานที่ออฟฟิศออยู่แล้ว แต่พอโควิด-19 จึงต้องไปทำงานที่บ้านแทน รวมทั้งยังมีกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ที่ก็ทำงานที่บ้านเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดและมองว่าเมื่อโควิด-19 มาจะยิ่งทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งหาวิธีพึ่งพาพลังงานเป็นของตนเองมากขึ้น และต้องตอบโจทย์ในการลดโลกร้อนเพื่อความยั่งยืนเพราะโควิด-19 ทำให้โลกไม่มีอะไรแน่นอนมากขึ้น
ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อมาเสริมศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ให้สามารถ กักเก็บพลังงานช่วงกลางวันไว้ใช้กลางคืนให้ตอบโจทย์ทั้งด้านราคาที่ถูกลง ขนาดที่เบาเหมาะกับการติดตั้ง ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดภายใน 5 ปีนี้น่าจะเห็นการมาของแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างแน่นอน
แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอกับโลกใบนี้เพราะพฤติกรรมของประชากรโลก ที่เปลี่ยนแปลงด้วยการอยู่บ้านมากขึ้น ลดการใช้รถใช้ถนน โรงงานต่าง ๆ ปิดทำการ ทำให้ธรรมชาติในหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดการฟื้นฟูตัวเองท้องฟ้าดูสดใสสัตว์ต่างๆที่ไม่เคยเห็นออกมาเผยโฉมหน้า ฯลฯ เหล่านี้ได้ชี้ให้เราเห็นว่าวิกฤติบางอย่างนั้นมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ และหนึ่งในวิกฤติที่ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงให้ลดลงก็คือ “ Climate Change” นั่นเอง