กลายเป็นข่าวที่วงการโฆษณาต่างประเทศให้ความสนใจสำหรับ Seoul Secret บริษัทไทยที่ส่งจดหมายขอโทษกรณีโฆษณาสินค้าช่วยให้ผิวขาวหรือ skin-whitening product นั้นส่งสารเข้าข่ายเหยียดสีผิว โดยยอมถอดคลิปโฆษณาทั้งบน YouTube และ Facebook ออกหมดเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ตามรายงานจาก Reuters แบรนด์ไทยชื่อ Seoul Secret ตัดสินใจถอดโฆษณาของตัวเองออกจาก YouTube ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยโฆษณาดังกล่าวแพร่ภาพผู้หญิง 2 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือคริส หอวัง ที่ถูกปรับสีผิวเป็นสีดำ ก่อนที่สารในโฆษณาจะสรุปว่า “แค่ขาวก็ชนะ”
การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากชาวเน็ตพร้อมใจกันวิจารณ์โฆษณาชิ้นนี้ว่าเป็นการเหยียดผิว การสรุปว่าผู้ที่มีผิวดำคือผู้แพ้นั้นทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย ทั้งชาวเน็ตที่มองว่าเป็นการเหยียดสีผิว ขณะที่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์มองว่าสื่อควรจะตระหนักถึงสารที่ละเอียดอ่อนลักษณะนี้ให้มาก แม้แต่ ”เมญ่า-นนธวรรณ ฌรรวนธร” มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2014 และนางเอกละครเรื่องสาวน้อยร้อยล้าน ที่ถูกพูดถึงเรื่องสีผิวมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนประกวดนางงาม ก็แสดงความเห็นต้านโฆษณานี้เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา
กรณีของเมญ่านั้นมีการแชร์คลิปวิดีโอโฆษณาต้นเหตุผ่านทางเฟซบุ๊ก “Maeya Mae Nonthawan” พร้อมข้อความออกความเห็นทำนองว่า “ดำก็ชนะได้” ขอเพียงพิสูจน์กันด้วยความสามารถเท่านั้น
ดำๆๆก็ชนะได้ค่ะ ดำก็ไม่หนักหัวใคร ..ค่านิยมที่ล้าสมัยมากค่ะ พิสูจน์ด้วยความสามารถเถอะ จะขาวจะดำ ถ้าเก่งและเป็นคนดีคนก็พร้อมจะยอมรับและชื่นชม
โพสต์โดย Maeya Nonthawantas Bramaz เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2016
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประเด็นร้อนเรื่องโฆษณาสะท้อนค่านิยมเรื่องสีผิว อย่างไรก็ตาม Seoul Secret พร้อมยอมรับผิดและออกแถลงการณ์ขอโทษทุกฝ่ายพร้อมชี้แจงว่าบริษัทฯไม่มีเจตนาเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติ แต่ตั้งใจสื่อถึงการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทั้งในแง่บุคลิกภาพ รูปลักษณ์ ความสามารถ ความเป็นมืออาชีพ
ในขณะที่ Seoul Secret ถอดโฆษณาชิ้นนี้แล้ว สื่อดังอย่าง CNN และ Reuters พร้อมใจรายงานข่าวที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ยังไม่นับสื่อไทยและแหล่งเผยแพร่ดราม่าที่มุ่งวิจารณ์ตัวโฆษณาและพรีเซนเตอร์อย่างคริส หอวัง ทั้งหมดนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ข่าวที่ทำให้ Seoul Secret เป็นที่รู้จักทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แม้ว่าจะเป็นข่าวในภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีก็ตาม
ตั้งใจหรือจงใจ
ใครที่ติดตามโฆษณามา ก็อาจจะพอคุ้นกับโฆษณาโดนัทเจ้าหนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อปี 2556 เรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาจนต้องมีการขอโทษขอโพยขึ้นมา แม้ในตอนนั้นเองเมืองไทยยังไม่มีกระแสในเรื่องนี้มากนักเว้นเสียแต่หลายๆ ท่านที่พอจะรู้กระแสจากต่างประเทศมาบ้างก็จะมองไปในทิศทางการเหยียดผิว นั่นน่าจะเป็นที่มาทำให้คนไทยมีการเริ่มรู้และหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
พอมาในครั้งนี้ เชื่อโดยส่วนตัวว่าคนในไทยเองมีการรับรู้มาแล้ว การทำโฆษณานี้เหมือนเป็นการจงใจที่จะหยิบเรื่องนี้มาเล่นและทำให้คนพูดถึงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความตั้งใจตามการแถลงจะแจ้งว่าไม่มีเจตนาก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ได้ก็น่าจะเป็นไปตามที่ทางบริษัทคาดเอาไว้แต่และ ด้วยแรงผลักของการพูดถึงของสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ชื่อนี้ถูกกระจายตามช่องทางต่างๆ แล้วเรียบร้อย ด้วยทิศทางของแบรนด์ที่เราคิดกันว่าเป็นลบ
แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีกลุ่มคนที่สนใจเฉพาะตัวสินค้า ด้วยเหตุผลที่สินค้านี้มันไปตรงใจกับกลุ่มลูกค้าแบบเต็มๆ นั่นเอง สิ่งนี่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของสินค้านี้แล้ว ขอบคุณภาพจากคุณ Surasak Lhuengusakul
หากจะถามในแง่ของการจัดการ Online Crisis Management ก็ถือว่าทำออกมาอย่างรวดเร็วตามแรงกดดันของสังคมและทิศทางของกระแสลบ แต่หากสังเกตกันดีๆ Comment ทั้งหลายถูกลบออกไปจากหน้า Facebook Page อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ไม่ได้จะบอกว่าผิดที่ทำอย่างนี้ แต่อยู่ที่วิจารณญาณและการทำ Crisis Management Plan ที่ทางบริษัทได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก การลบออกก็เพื่อทำให้บรรยากาศของหน้า Pages ดูกลางๆ เพราะลองคิดดูว่าถ้าเราเข้าไปที่หน้านั้นแล้วเจอแต่ข้อความที่ไปในเชิงลบ มันชวนให้เรากลายเป็นมนุษย์เผือก ด่าตามคนอืนไปด้วย ทั้งนี้ก็ต้องรับสภาพว่าหากลบหมดจนเกลี้ยงขนาดนี้เราจะถูกมองว่าเป็นอย่างไรด้วย
สุดท้ายแล้ว การทำการประชาสัมพันธ์ล้วนอยู่ที่วิจารณญาณของเจ้าของตั้งแต่แรกว่าเขาต้องการอะไร เขาจะสนใจหรือตั้งใจมองข้ามเพื่อความดังหรือธุรกิจตัวเอง
อย่าลืมว่า ออนไลน์เมื่อทำไปแล้ว มันก็จะยังคงอยู่ตลอดไป เหมือนเรากดลบข้อความแต่ก็ยังคงมีนักแคปเจอร์ในตำนานรออยู่นั่นเอง…