ซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างรถยนต์ยังมีอัปเกรด อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่กว่าอย่างเช่น “บ้าน” จึงมีแนวโน้มจะถูกพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน และนี่คือภารกิจที่ Siri Venture ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” เข้ามารับหน้าที่สร้างให้สำเร็จ
โดยย้อนหลังความเป็นผู้นำในวงการ PropTech ของคุณชาคริตนั้นเกิดขึ้นในปี 2009 กับการผุดโปรเจ็ค Digital Sales Kit แบบ Multi-Touchให้แสนสิริใช้ขายคอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2010 สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัว iPad ก็เป็นคุณชาคริตอีกเช่นกันที่ดึง iPad มาทำ iPad Sales Kit ให้กับแสนสิริเป็นรายแรกของไทย โดยทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่
แต่ภารกิจที่เขาจะต้องมีต่อ SIRI Venture ในปัจจุบันและอนาคตเบื้องหน้านั้นต่างออกไป (อ่าน แสนสิริเปิดตัว SIRI Venture VC ด้าน PropTech รายแรกของไทย) เพราะวิสัยทัศน์ของเขาบอกว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ยุค “Formless, Borderless และ Limitless” แล้วนั่นเอง
“เมื่อก่อนเราจับเงินเป็นธนบัตร จนกระทั่งวันหนึ่งมันเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของบัตรเครดิต ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่รูปแบบดิจิทัล ลูกค้าจีนมาไทยวันนี้สามารถจ่ายเงินผ่าน WeChat เหล่านี้จะเห็นว่าฟอร์มมันเริ่มหายไป ดังนั้น คำถามสำคัญของปีนี้คือ ธุรกิจต้องถามตัวเองว่าพร้อมแล้วหรือยังที่จะรับเงินจากฟอร์มอื่น”
“การที่มัน Formless มันนำไปสู่ Borderless ไร้รูป ไร้พรมแดน และนำไปสู่การไร้ขีดจำกัดหรือ Limitless นี่คือสิ่งที่สตาร์ทอัปมองอยู่ นี่คือ New Economy ถ้าธุรกิจจะต้องแข่งขันใน New Economy ทุกธุรกิจต้องปรับตัว นี่คือที่มาของ Digital Transformation ถ้าคุณไม่เข้าใจเรื่องนี้ภายในปี 2017 โอกาสที่จะถูก Disruption มีสูง”
ที่สำคัญ คุณชาคริตยังมองว่า นี่ก็อาจเป็นที่มาของ S-Curve ตัวใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย
“เพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องมองหาก็คือ New Research, New Product, New Design, New Services, New Business Model ไปจนถึงการเป็น New Company ดังนั้นสิ่งที่ SIRI Venture จะทำมีสามเรื่องคือ Research, Develop และ Partner ความตั้งใจของเราก็คือจะพาสตาร์ทอัปที่มีเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้”
“ตัวอย่างแรกที่เราทำอยู่ก็คือสิ่งที่บริษัท HomeService Technology ของผมเอง Siri Venture ถือหุ้นอยู่ 51% เป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมกับฝ่ายนิติบุคคล ให้อยู่ใน Digital Form โดยเริ่มต้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว ตอนนี้ เรามีแอปพลิเคชันสำหรับบ้าน ที่ลูกบ้านสามารถแจ้งซ่อมได้ผ่านแอปพลิเคชัน และเรามีการจับเวลาเลยว่า โครงการใช้เวลาซ่อมกี่นาที อยากจะจองสปา จองห้องประชุมก็ทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้เราสร้างเซอร์วิสใหม่ ๆ ได้เต็มไปหมด”
คุณชาคริตได้ยกตัวอย่าง Smart Home ที่สามารถใช้แอปพลิเคชันสั่งเปิดปิดไฟ แอร์ ในบ้านได้ล่วงหน้า
แต่ความอัจฉริยะของระบบยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเฟสต่อไปก็คือการนำ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) มาใช้งานร่วมด้วย ซึ่งความเป็นไปได้ที่ AI จะมาให้บริการแก่ลูกบ้านแสนสิริ รวมถึงลูกค้ารายต่าง ๆ นั้นอาจอยู่ในรูปแบบเช่น AI ตรวจจับได้ว่า รถกำลังแล่นเข้ามาในถนนหมู่บ้าน AI จะถามเลยว่า ให้เปิดไฟ เปิดแอร์ในบ้านไว้รอเลยไหม หรือถ้านอนอยู่ในบ้านสองคนบนเตียง และคนหนึ่งลุกจากเตียงตอนตีสาม เซนเซอร์ต้องจับได้เลยและเปิดไฟห้องน้ำให้โดยอัตโนมัติ
“นี่คือ AI เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องสร้างต่อไปมีอีกเยอะ เราจะสร้างไปถึง Preventive Maintenance ที่ระบบอัตโนมัติสามารถเข้าไปช่วยลูกบ้านในการบำรุงรักษาได้ ไม่ต้องรอให้อุปกรณ์เสียก่อนจึงค่อยซ่อม เช่น ติดเซนเซอร์ตรวจจับความชื้นไว้ใต้พื้นบ้าน ถ้าตรวจจับได้ก็แจ้งเตือน ไม่ต้องรอให้พื้นบวมเสียก่อนจึงจะค่อยซ่อม เหล่านี้คือสิ่งที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเข้าไปช่วยได้”
แต่เมื่อมีสิ่งที่อยากทำมหาศาล การจะลดความยุ่งยากลงจึงต้องเปลี่ยนให้ทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของแพลตฟอร์ม เพื่อที่ว่าใครมีเซอร์วิสใหม่่ ๆ ดี ๆก็สามารถนำมา Plug-in เข้าด้วยกันได้ หรือสามารถอัปเกรดได้ไม่ต่างจาก OS บนสมาร์ทโฟน
“ใครที่ซื้อรถ Tesla เมื่อสามปีที่แล้ว ไม่มีหรอก AutoPilotแต่เทสล่าอัปเดตซอฟต์แวร์เมื่อต้นปีที่แล้ว เท่านี้คนที่ซื้อรถก็ได้ลองขับแล้ว ผมถึงบอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น บ้านที่ซื้อไปก็ควรอัปเกรดได้เช่นกัน”
เชื่อว่าหลังจากจบงานนี้แล้ว งานของคุณชาคริตที่รออยู่ข้างหน้า อาจไม่ใช่แค่การสร้างบ้านที่อัปเกรดได้ให้แสนสิริ แต่บางทีอาจเป็นการอัปเกรดคุณภาพชีวิตครั้งใหญ่ของสังคมไทยทั้งหมดเลยก็เป็นได้