ก่อนหน้านี้อาจเป็นเพียงความรู้สึก ว่าหลาย content มีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อบุคคลที่เราชื่นชอบเป็นผู้แชร์ ล่าสุดความรู้สึกนี้ได้รับการยืนยันแล้ว เพราะการสำรวจชี้ว่าชื่อผู้แชร์หรือ sharer นั้นส่งแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านมองว่า content มีความน่าสนใจ เรียกว่ามีอิทธิพลมากกว่าชื่อต้นฉบับผู้เผยแพร่หรือ publisher เสียอีก
บทสรุปของการสำรวจนี้คือ “Who shares your content matters” ซึ่งเปิดประเด็นว่าอะไรจะสำคัญกว่ากัน เมื่อผู้บริโภคได้รู้ว่าใครเป็นผู้แชร์ content หรือใครเป็นผู้สร้าง content ปรากฏว่าชื่อของบุคคลที่แชร์ content นั้นชนะขาดลอย
ข้อสรุปนี้มาจากการสำรวจครั้งใหม่ของ Media Insight Project ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยในเครือสำนักข่าว AP ชื่อ The Associated Press-NORC Center for Public Affairs Research และสถาบันสื่อมวลชนอเมริกัน American Press Institute ผลการสำรวจนี้อธิบายได้ดีถึงปรากฏการณ์ข่าวปลอมจากสำนักข่าวโคมลอยซึ่งเรียกคนอ่านได้มหาศาล
การสำรวจพบว่า เรื่องราวที่โพสต์โดยเซเลบฯหรือบุคคลมีชื่อเสียงนั้นมีความถี่ถูกเปิดอ่านสูง ราว 50% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าได้อ่านเรื่องราวจากโพสต์ของเซเลบฯที่ตัวเองไว้วางใจ ขณะที่อีก 50% ที่เหลือบอกว่าได้อ่านเรื่องราวจากโพสต์ของเซเลบฯที่ตัวเองไม่ไว้วางใจ สรุปคือไว้วางใจหรือไม่ก็จะเปิดอ่านทั้งนั้น
กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งบอกว่าเชื่อในเรื่องราวที่ได้อ่านจากลิงก์ที่แชร์โดยเซเลบฯซึ่งไว้วางใจ แต่ราว 35% เท่านั้นที่จะเชื่อในเรื่องราวที่แชร์โดยเซเลบฯที่ไม่ได้ไว้ใจ ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกล้วนๆ โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าเรื่องราวที่อ่านเป็นข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้หรือไม่
ราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจำได้ว่าใครแชร์บทความไหน แต่ 20% เท่านั้นที่จำได้ว่าต้นฉบับผู้เผยแพร่บทความนี้เป็นใคร
บทสรุปของการสำรวจนี้ในมุมของนักการตลาด คือในเมื่อชื่อบุคคลที่แชร์ข่าวมีความสำคัญมากเช่นนี้ แปลว่า “influencer marketing” คือสิ่งที่ควรอยู่ในแผนการตลาดได้แล้วหากใครยังไม่ได้เริ่มต้น และแม้การให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของคอนเทนต์จะเป็นเรื่องหลักอันดับ 1 แต่ก็ต้องห้ามลืมที่จะเข้าถึง “right people” หรือกลุ่มคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้แชร์เรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลด้วย
ที่มา : PRDaily