“เชลล์ชวนชิม” สัญลักษณ์แนะนำอาหารอร่อยในเมืองไทยที่ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 กำลังมีภาพลักษณ์และรูปแบบนำเสนอแบบใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น วันนี้เชลล์ชวนชิมเปิดให้นักชิมเข้าถึงร้านอร่อยในตำนานเชลล์ชวนชิมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มได้บนเว็บไซต์ www.shellshuanshim.com, เพจเฟซบุ๊ก @shellshuanshimofficial และช่องยูทูบเชลล์ชวนชิม Shellshuanshim channel ทั้ง 3 ช่องทางสะท้อนตัวตนของเชลล์ชวนชิมบนโลกออนไลน์ได้หลายมุมมอง ทุกมุมมองถือว่าโดดเด่นน่าจับตาในวันที่สมรภูมิแนะนำร้านอาหารออนไลน์แข่งขันกันดุเดือดเหลือเกิน
สำหรับประวัติเชลล์ชวนชิม ข้อมูลระบุว่าเชลล์ชวนชิมถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดย ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและการโฆษณา บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในขณะนั้น ได้ทรงดำริที่จะส่งเสริมการขายแก๊สหุงต้มของเชลล์ จึงได้ทรงปรึกษากับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และเกิดเป็นแนวคิดที่จะชูเรื่องอาหาร โดยการแนะนำอาหารอร่อยในประเทศไทย ถือกำเนิดเป็น “เชลล์ชวนชิม” ขึ้นมาใน พ.ศ.2504
1. 1 เดือนผู้ติดตาม 13,547 คน (สถิติวันที่ 22 กันยายน 62)
จากวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่เพจเชลล์ชวนชิมได้อัปเดตรูปภาพหน้าปกครั้งแรกบนเฟซบุ๊ก จำนวนผู้กดถูกใจเพจทะลุหลัก 12,450 คนแล้ว และ 13,547 คนกำลังติดตามเพจเชลล์ชวนชิม
หากเชลล์ชวนชิมต้องการตามรอย @MichelinGuideThailand ถือว่า @shellshuanshimofficial จะต้องทำการบ้านอีกมากเพราะ @MichelinGuideThailand มียอดผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กมากกว่า 458,598 คน
แต่หากเชลล์ชวนชิมมองแอปพลิเคชันรีวิวร้านอาหารอย่าง wongnai.com เป็นเป้าหมาย เชลล์ชวนชิมจะต้องวิ่งสู้ฟัดทุกกระบวนท่า เพราะวันนี้ @Wongnai มีผู้ติดตาม 4 ล้านคนเฟซบุ๊ก ผ่านคำการันตีว่า Wongnai เป็นแอปร้านอาหารอันดับ 1 ของไทย
2. โพสต์แชร์สูงสุด 5,400 ครั้ง (สถิติวันที่ 22 กันยายน 62)
หากวัดกันเฉพาะบนเพจเฟซบุ๊ก โพสต์ย้อนระลึกถึงเรื่องราวของ “คุณชายนักชิม” ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 กันยายนนั้นมียอดผู้แสดงความรู้สึก 1.1 หมื่นครั้งมีความคิดเห็น 135 รายการ และยอดแชร์ 893 ครั้ง โพสต์นี้ถือว่าทำ engagement ได้น้อยกว่าโพสต์ที่ 2 วันที่ 13 กันยายน 62 เรื่อง “5 ร้านรุ่นแรกที่ได้เชลล์ชวนชิม” ที่มีผู้แสดงความรู้สึก 2.8 หมื่นครั้ง ความคิดเห็น 287 รายการ แชร์ 1,500 ครั้ง แต่ทั้งหมดเทียบไม่ได้กับโพสต์ที่ 3 วันเดียวกัน (13 กันยายน 62) เรื่อง “อร่อยตามรอย 8 ร้านโปรด ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์” ซึ่งมียอดแชร์พุ่งสูงสุด 5,400 ครั้ง บนความคิดเห็น 698 รายการ
มุมมองนี้สะท้อนถึงเนื้อหาที่ชวนให้ชาวเฟซบุ๊กคลิกแชร์ ว่าตัวตนของ “คุณอาหม่อม” ยังมีมนต์ขลังชวนให้คนตามรอย หลายความเห็นแชร์เพื่อชวนเพื่อนไปตามรอยให้ครบทั้ง 8 ร้าน ขณะที่หลายความเห็นยืนยันว่าร้านใน 8 รายการนี้อร่อยจริงสมที่ได้รับการแนะนำ
3. ร้านใหม่แชร์น้อย
หลังจากสิ้นตำนาน ม.ร.ว.ถนัดศรี แบรนด์เชลล์ชวนชิมเริ่มดึง “ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์” มาเป็นจุดชูโรงไม่ให้แบรนด์ตายไปผ่านคอนเทนต์แบบใหม่เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือโพสต์แนะนำร้านเชลล์ชวนชิมใหม่บนเฟซบุ๊กกลับมี engagement น้อยกว่าชัดเจนโดยเฉพาะยอดการแชร์
โพสต์วิดีโอเรื่องอร่อยตามรอย 8 ร้านโปรดฯ สามารถเฉลี่ยยอดแชร์ 5,400 ครั้งออกมาเป็น 600 ครั้งตลอด 9 วันที่เผยแพร่ (5400/9) ขณะที่โพสต์แรกของเพจอย่าง ทิ้งห่างจากโพสต์วันที่ 17 กันยายนเรื่อง “โคคอตฟาร์มโรสต์แอนด์ไวน์เนอรี่ (Cocotte Farm Roast & Winery) ร้านสเต๊กเฮาส์เกรดพรีเมียมในบรรยากาศฟาร์มชนบทของฝรั่งเศสใจกลางสุขุมวิท” ที่มียอดแชร์ 14.6 ครั้งในช่วง 5 วัน (73/5)
แต่ต้องยกให้ว่าเชลล์ชวนชิมมียอดแชร์ที่เหนือกว่า @MichelinGuideThailand ซึ่งมียอดแชร์สูงสุดในรอบการโพสต์ตั้งแต่สิงหาคม-กันยายน ราว 359 ครั้งเท่านั้น เป็นโพสต์รวมร้าน street food ย่านเยาวราชที่มีการแสดงความรู้สึก 4,900 ครั้ง ความคิดเห็น 54 รายการ
4. เว็บไซต์เน้นค้นหา
จากการสำรวจเว็บไซต์ของเชลล์ชวนชิม เป้าหมายหลักของการออกแบบเว็บไซต์คือการเปิดให้คนไทยค้นหาร้านอร่อยระหว่างการเดินทาง ภายในเว็บไซต์รวบรวมความอร่อยไว้เพียบ จุดขายที่เชลล์ชวนชิมการันตีคือ “ข้อมูลแน่น เส้นทางเป๊ะ สะดวกทันใจในคลิกเดียว!”
จุดขายนี้ทำให้เว็บไซต์ shellshuanshim.com ต่างจาก guide.michelin.com ที่เน้นเปิดช่องให้คนค้นหาชื่อร้าน เพราะเชลล์ชวนชิมเพิ่มฟีเจอร์ทั้ง “อร่อยตามเส้นทาง” และ “ร้านใกล้คุณ” ให้ผู้ใช้ค้นหาร้านที่อยู่ใกล้ ซึ่งจะไปท้าชนกับ wongnai.com ที่เปิดให้ค้นหาทั้งร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ร้านเสริมสวยและสปา ในหลายพื้นที่ทั่วไทย
แต่ที่สุดแล้ว เชลล์ชวนชิมและ wongnai.com ถือเป็นมวยคนละคู่ เพราะ wongnai.com ไม่ได้เน้นให้คนเดินทางเหมือนเชลล์ชวนชิม โมเดลธุรกิจด้านอาหารของ wongnai.com จึงเปิดให้นักชิมคลิกสั่งเดลิเวอรี่ได้ตามสะดวก คู่ไปกับการแตกไลน์ทุกบริการที่เกี่ยวกับการรีวิวและไลฟ์สไตล์คนเมือง แต่กรณีของเชลล์ชวนชิมนั้นจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้เมื่อผู้คนออกเดินทางแล้วเติมน้ำมันกับเชลล์ ซึ่งไม่ได้เน้นโปรโมทแก๊สหุงต้มของเชลล์แบบเดิมอีกต่อไป
5. YouTube ต้องเร่งเครื่อง
ช่องยูทูบของเชลล์ชวนชิม “Shellshuanshim channel” มีสถิติ subscriber เพียง 89 รายเท่านั้น (สถิติ 22 กันยายน 62) ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ติดตามบนเพจเฟซบุ๊ก
สถิติระบุว่าช่องเชลล์ชวนชิมก่อตั้งวันที่ 1 สิงหาคม 62 แต่เพิ่งอัปวิดีโอจำนวน 4 ชิ้นในช่วง 4 วัน (18-22 กันยายน) มียอดชมเพิ่งตั้งไข่ 415 view ทั้ง 4 วิดีโอเป็นชิ้นเดียวกับที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่แน่ เชลล์ชวนชิมอาจจะเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ด้านคอนเทนต์วิดีโอ เพื่อเพิ่มยอดชมในแพลตฟอร์มอื่นเช่นกัน