Site icon Thumbsup

ฟัง 1 วิธีคิดของ Sheryl Sandberg ทำได้ก็พัฒนาตัวเองสำเร็จ

มนุษย์งานหลายคนใช้เวลาทั้งชีวิตมองหากลยุทธ์เพื่อตัวเองอยู่เสมอ หลายคนหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บนความหวังให้เนื้องานดีขึ้นแต่ประหยัดเวลาและไม่ยุ่งยากขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้ Sheryl Sandberg ผู้บริหารคนเก่งของ Facebook เคยให้คำแนะนำไว้ในระหว่างงานอบรมหนึ่งที่ Stanford Technology Ventures ซึ่งแม้คำแนะนำนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ถือว่าไม่เคยเก่าและทุกคนทุกวัยสามารถนำไปใช้ได้ในโลกดิจิทัล

คำแนะนำของ Sheryl Sandberg

“Be a player, not a victim.” คำนี้จะช่วยเตือนสติให้ทุกคนจงเป็นผู้เล่น ไม่ใช่เหยื่อ

การเป็น victim หรือเป็น player มีความสำคัญตรงไหน? คำตอบคือเพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะตำหนิผู้อื่น เมื่อเกิดปัญหาหรือมีข้อบกพร่องใดๆเกิดขึ้น ทันทีที่สิ่งใดไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะโทษใครก็ได้ เพื่อเยียวยาภาวะหดหู่ภายในใจ ก็โทษว่าเป็นเพราะไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม

แทนที่จะคิดแบบนี้ Sandberg ย้ำว่าควรหลีกเลี่ยงการโยนบาปทั้งหมดให้ปัจจัยแวดล้อม เธออธิบายว่าไม่มีอะไรที่สามารถควบคุมได้สมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงไม่มีใครที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้สมบูรณ์ทุกครั้ง

ใครที่ไม่คิดโทษลมฟ้า จะสามารถฝึกตัวให้มองว่าเราเองที่เป็นเจ้าของผลงานทุกอย่าง ซึ่งแม้ในเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับบุคคลอื่น หรือต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอก และเมื่อเรามองว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลนั้น เราจะกลายเป็น “player” แต่ถ้ามองไม่ออก เราจะกลายเป็น “victim” หรือเหยื่อที่ถูกกระทำ

Sandberg ให้ตัวอย่างไว้ 2 เรื่อง ได้แก่

victim: “ฉันไม่ได้สายนะ เพราะวันนี้รถติด”
player: “ฉันมาสายเพราะไม่ได้เผื่อเวลารถติด”

อีกตัวอย่างคือ

victim: “โครงการนี้ไม่เสร็จ เพราะเพื่อนร่วมงานของฉันไม่ได้ทำหน้าที่ของเขา”
player: “โครงการนี้ไม่เสร็จ เพราะฉันไม่ได้ตั้งทีมที่เพื่อนร่วมงานอยากทำหน้าที่ของเขา”

ใครที่เห็นตัวเองเป็น “เหยื่อ” ก็จะตำหนิติเตียนไปทั่ว จุดนี้การศึกษาในปี 2004 ที่ตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Glamorgan พบว่าทันทีที่ใครโฟกัสกับการกล่าวโทษคนอื่น ความสามารถในการเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนนั้นจะลดลง รวมถึงการดำเนินการเพื่อแก้ไขก็จะลดลงด้วย ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถในการพัฒนาตัวเอง

อีกด้าน การพลิกมุมให้ตัวเองเป็น “ผู้เล่น” และรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้เรากลายเป็นนักแก้ปัญหา และพยายามคิดให้ออกว่าทำไมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ทุกคนพัฒนาได้

นอกจากนี้ การรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสร้างภาพผู้นำที่แท้จริงได้ด้วย คนที่สามารถรับผิดชอบและกลายเป็น “ผู้เล่น” จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่ได้อีกในระยะยาว

ที่มา: : INC.