ปกติในการเข้าใช้งานในข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เรามักจะต้องใช้รหัสผ่านหรือ Password ในการเข้าไป หรือถ้าอย่างดีหน่อยก็จะเป็นการใช้ลายนิ้วมือหรือการสแกนม่านตา แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งจะปฏิวัติวงการรักษาความปลอดภัยระบบด้วยรหัสผ่านในอนาคต เพราะเทคโนโลยีนี้เปิดทางให้ชาวไอทีสามารถใช้ “ชีพจร” ของตัวเองในการเปิดล็อกซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์ โดยไม่ต้องเสียเวลาจรดนิ้วกดรหัสผ่านอีกต่อไป
เทคโนโลยีไฮเทคที่อาจจะมาเปลี่ยนแปลงโลกไอทีในอนาคตนี้พัฒนาโดย Foteini Agrafioti วิศวกรแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ผลงานนี้ถูกเรียกว่าเทคโนโลยี HeartID ออกแบบมาเพื่อบริษัทรักษาความปลอดภัยนามว่า Bionym
HeartID ถูกจัดประเภทให้เป็น biometric technology หรือเทคโนโลยีชีวภาพที่ผู้ใช้จะสามารถนำจังหวะการเต้นของหัวใจมาใช้แทนรหัสผ่านได้ ซึ่งสามารถทำงานได้จริงเพราะระบบดังกล่าวไม่ได้นำเพียงข้อมูลชีพจรมาคำนวณ แต่ยังนำข้อมูลการเต้นของหัวใจแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันมาคำนวณอย่างแม่นยำ
วิศวกรผู้พัฒนาอย่าง Agrafioti อธิบายว่าข้อมูลที่จะถูกนำมาใช้กับระบบ HeartID นั้นถูกเรียกว่าข้อมูล ?ECG biometrics” ซึ่งจะสามารถระบุตัวตนบุคคลได้โดยการนำข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจหลากหลายส่วนมาประมวลผลเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นข้อมูลเฉพาะซึ่งสามารถนำมายืนยันตัวบุคคลได้
ที่ผ่านมา ผู้ใช้หลายคนเลือกจะตั้งรหัสผ่านในอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันคนแปลกหน้ามาลักลอบใช้งานหรือสอดแนมข้อมูล การนำชีพจรซึ่งแต่ละบุคคลมีข้อมูลความถี่แตกต่างกันจึงเป็นความสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นข้อมูลที่ทุกคนมีอยู่แล้ว และสามารถใช้งานได้สะดวกสบายเพียงจรดนิ้วมือบนเครื่องอ่าน
อย่างไรก็ตาม ชีพจรนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายเทคโนโลยีชีวภาพที่อาจแทนที่ระบบรหัสผ่านในปัจจุบัน เพราะยังมีระบบ biometric login อื่นๆเช่น เทคโนโลยีวิเคราะห์ใบหน้า และแอพพลิเคชันที่สแกนลายนิ้วมือ ซึ่งมีแนวโน้มอนาคตสดใสเพราะมีราคาไม่แพง น่าเสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลราคาระบบ HeartID ในขณะนี้ มีเพียงข้อมูลว่าตัวระบบสามารถนำไปฝังกับอุปกรณ์พกพาทั้งหลายอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้
ที่มา: PSFK