สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จับมือกสิกรไทยและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท
ด้วยในปัจจุบันหลายธุรกิจในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่ดิจิทัล ทำให้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดไทย ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์มาก ผู้ประกอบการบางรายมีความสามารถในการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ แต่ยังขาดแคลนเงินทุนในการสร้างธุรกิจ และไม่มีเงินทุนเพียงพอในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองให้แข่งขันเทียบเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่ได้
SIPA หนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าผลักดันและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ได้จับมือร่วมกับสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารกสิกรไทยและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในวงเงินที่ภาครัฐอนุมัติเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 2 ปี โดยตั้งเป้ามีผู้ประกอบการมาขอจดทะเบียนเข้าโครงการ 400 รายในปี 2560
ชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี ผู้จัดการฝ่ายมาตรการส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ทาง SIPA มีมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไอซีที โดยแบ่งมาตรการส่งเสริมออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
- การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย SIPA ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไร ยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ทำให้ผู้ประกอบการยังมีเงินสดอยู่ในมือ และทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้
- เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยทาง SIPA จะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการดำเนินการผ่าน SIPA จะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จากระยะเวลาปกติจะใช้เวลา 1-2 เดือน และจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ เรียกได้ว่าเบ็ดเสร็จจบในที่เดียว
- การสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นมาตรการที่สนับสนุนและจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ ซึ่งล่าสุดซิป้าได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำ ทั้งธนาคารกสิกรไทยและเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อสนันสนุนแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการในรูปแบบของวงเงินค้ำประกันมูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 2 ปีและมีเป้าหมายการสนับสนุนผู้ประกอบการประมาณ 400 ราย
ทั้งนี้การดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยได้ออกผลิตภัณฑ์สนับสนุน อาทิ เรื่องการโอนสิทธิ์การรับเงิน สัญญาให้ทุน สัญญาร่วมทุน สัญญาจ้าง คือถ้าผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถนำสัญญาไปกู้เงินกับกสิกรไทยได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็จะพิจารณาเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยใช้สัญญากับซิป้าเป็นตัวค้ำประกันโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์อย่างอื่น รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เรื่องการกู้เงินแบบ Clean Loan โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินประเภทนี้จะคิดในอัตราค่อนข้างสูง แต่โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ ทาง SIPA ได้ลดลงมาในอัตราต่ำ
ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการที่เรียกว่า Startup Innovation วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่ยุ่งยาก โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หรือผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการ รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ซอฟต์แวร์สามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้ ด้วยการแสดงตัวตน มีผลิตภัณฑ์ มีลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 ราย ในระยะเวลา 2 ปี และเป็นบริษัทคนไทยที่มีคนไทยถือหุ้นเกิน 51%
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ดำเนินงานภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยมีหลักสำคัญคือต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีขีดการแข่งขันที่เท่าเทียม และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการดำเนินธุรกิจได้