ทำไมบางคนสดชื่นเมื่อตื่นเช้า บางคนคิดอะไรไม่ออกตอนบ่าย บางคนไอเดียดีๆ เกิดขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดินแล้ว คำตอบคือ Chronotpye หรือนาฬิกาชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
Dr. Michael Breus นักจิตวิทยาได้แบ่งบุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิตของคนเราเป็น 4 ลักษณะ โดยเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ หมี สิงโต หมาป่า และโลมา
ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดจะมีช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตื่น-นอน การทำงาน และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน หากเรานำมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หมี ตื่น-นอนตามเวลา
พฤติกรรมการนอนสอดคล้องกับเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก คนกลุ่มนี้มักมีบุคลิกเป็นมิตร เปิดใจกว้าง มีตารางชีวิตคงที่ ให้ความสำคัญกับการนอนมาก หากวันธรรมดา (Weekday) นอนไม่พอ มักนอนชดเชยในวันหยุด (Weekend) ช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือกลางวัน
บุคลิกแบบหมีคิดเป็น 50-55% ของประชากร
หมาป่า นอนดึกตื่นสาย
พฤติกรรมนอนดึก ตื่นสายคือบุคลิกภาพแบบหมาป่า คนกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นคนเก็บตัว อารมณ์แปรปรวน แต่มีความคิดสร้างสรรค์ มักมีปัญหาการตื่นนอนในตอนเช้า ช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือตอนเย็น
บุคลิกแบบหมาป่าคิดเป็น 15% ของประชากร
สิงโต ตื่นก่อนนาฬิกาปลุก
คนตื่นเช้าคือบุคลิกแบบสิงโต สามารถตื่นเช้าได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้นาฬิกาปลุก มีลักษณะเป็นคนอารมณ์มั่นคง มองโลกในแง่ดี มักมีอาการสมองล้าในช่วงบ่าย มีพลังงานมากที่สุดก่อนเที่ยง แต่จะเหลือพลังงานน้อยในตอนเย็น ช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือตอนเช้า
บุคลิกแบบสิงโตคิดเป็น 15% ของประชากร
โลมา หลับๆ ตื่นๆ
ลักษณะการนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ คนกลุ่มนี้มักมีนิสัยขี้กังวล ชอบความสมบูรณ์ ไม่ชอบความเสี่ยง มีความเฉลียวฉลาด มีปัญหาการนอนไม่หลับ แต่สามารถทำงานได้ตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาทำงานที่ดีที่สุดคือช่วงสายถึงบ่าย
บุคลิกแบบโลมาคิดเป็น 10% ของประชากร
ทั้งนี้ ใครที่มีบุคลิกแบบไหนไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นตลอด Dr. Breus เผยว่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนอาจเปลี่ยนไปตามอายุ เช่น วัยเด็กเป็นหมี ตอนวัยรุ่นเป็นหมาป่า วัยทำงานเป็นโลมา วัยเกษียณเป็นสิงโต เป็นต้น
ที่มา