ธุรกิจ SME หรือ Small and Medium Enterprise เป็นธุรกิจเอกชนขนาดย่อมที่มีความเป็นอิสระ และมีต้นทุนในการลงทุนและจำนวนพนักงานไม่สูงมาก ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้ ทำให้ ‘เงินสด’ ถือเป็นสภาพคล่องหลักของธุรกิจ SME ดังนั้นการบริหารสภาพคล่อง หรือ ‘การหมุนเงิน’ ของธุรกิจ SME จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการควรเรียนรู้และทำให้ถูกต้อง เพื่อให้ธุรกิจไม่ชะงักตัวจนต้องปิดตัวลง และยังสามารถเติบโตและไปได้ไกลขึ้นด้วย
วันนี้ทีมงาน thumbsup ได้ข้อมูลดี ๆ จาก K-Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากธนาคารกสิกรไทย จึงนำบทความดังกล่าวมาสรุปเป็นภาพง่าย ๆ ให้ผู้อ่านได้รับชมและรับทราบกันครับ
หลักการคำนวนเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ SME
การคำนวนว่าเราจะต้องมีเงินสดไว้เป็นทุนสำรองใช้จ่ายในธุรกิจเท่าไร ต้องตั้งคำถามกับธุรกิจของตัวเอง 3 อย่าง คือ
- สต๊อกสินค้าจะขายได้เมื่อไร
- ลูกหนี้จะชำระเงินเมื่อไร
- เราต้องจ่ายเงินเจ้าหนี้เมื่อไร
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก K-Expert มีสูตรคำนวนให้ง่าย ๆ ดังนี้
เงินหมุนเวียนในธุรกิจ (บาท) = ลูกหนี้การค้า + มูลค่าสต๊อกสินค้า – เจ้าหนี้การค้า
ซึ่งแต่ละตัวแปรก็มีสูตรคำนวนแยกย่อยอย่างละเอียดออกมาอีก คือ
ลูกหนี้การค้า = ยอดขายต่อเดือน X สัดส่วนการขายเชื่อ* X ระยะเวลาเฉลี่ยของการเก็บหนี้ (เดือน)
มูลค่าสต๊อกสินค้า = ต้นทุนขายต่อเดือน X ระยะเวลาเก็บสินค้าในสต๊อก (เดือน)
เจ้าหนี้การค้า = ต้นทุนขายต่อเดือน X สัดส่วนการซื้อเชื่อ* X ระยะเวลาเฉลี่ยของการจ่ายหนี้ (เดือน)
*สัดส่วนการซื้อ/ขายเชื่อ คือ เปอร์เซ็นต์การซื้อ/ขาย แบบไม่ใช้เงินสด เช่น สัดส่วนลูกหนี้ชำระเงินด้วยการผ่อนผ่านบัตรเครดิตคิดเป็นประมาณ 30% ก็ให้นำเปอร์เซ็นต์ตรงนี้มาคำนวน
หากคำนวนออกมาแล้วเงินหมุนเวียนในธุรกิจมีค่าเป็นบวกเยอะ ๆ แสดงว่าเรายิ่งต้องมีเงินสดเป็นทุนสำรองเยอะมากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้าหากตัวเลขติดลบ แสดงว่าธุรกิจของเรามีสุขภาพของเงินทุนค่อนข้างดี เพราะสามารถนำเงินที่ค้างเจ้าหนี้การค้ามาหมุนได้ก่อน
ซึ่งนอกจากสูตรคำนวนแล้ว ทาง K-Expert ยังแนะนำเทคนิคสำหรับผู้ประกอบการ SME ไว้ดังนี้
รับเงินให้ไว และเน้นเก็บเงินสด
ปัญหาหลัก ๆ ในการหมุนเงินของ SME ส่วนมากมักจะมาจากการขายเงินเชื่อมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้ลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้การค้า และทำให้ผู้ประกอบการต้องสำรองเงินทุนมาใช้หมุนแทนส่วนที่ลูกหนี้การค้ายังจ่ายไม่ครบไปก่อน
ดังนั้นหากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาเน้นขายเงินสดมากขึ้น หรือเสนอให้ลูกค้าชำระเงินผ่อนเร็วขึ้นแลกกับส่วนลดเล็กน้อย ก็จะทำให้มีสภาพคล่องมาหมุนในธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
จ่ายเงินให้ช้าลง ถ้าจ่ายเป็นเงินสดให้ขอส่วนลด
นอกจากที่เราต้องต่อรองกับลูกค้า หรือลูกหนี้การค้าแล้ว การเจรจากับเจ้าหนี้การค้าก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยให้สภาพคล่องของธุรกิจ SME มีการหมุนเวียนที่ดียิ่งขึ้น
ซึ่งการเจรจากับเจ้าหนี้การค้าจะมีหลักการที่แปรผกผันกับการขาย คือเราจะต้องชะลอการจ่ายเงินของเราให้ช้าลง
จากที่เคยจ่ายเป็นเงินสด หากเรามีประวัติการชำระเงินที่ดีทุกงวด ก็อาจจะขอ credit term 30-60 วัน เพื่อนำสินค้ามาสต๊อกขายก่อนจ่ายเงินได้
แล้วในกรณีที่ไม่สามารถขอ credit term ได้ ก็ยังสามารถลองต่อรองขอลดราคาสินค้าลงเล็กน้อย เพื่อลดต้นทุนแลกกับการที่เจ้าหนี้การค้าได้รับเงินสดเร็วได้เช่นเดียวกัน
หมุนสต๊อกสินค้าให้รวดเร็ว
การบริหารสต๊อกเป็นปัจจัยเบื้องหลังหลัก ๆ ที่ช่วยให้สภาพคล่องของธุรกิจดีขึ้น โดยเราต้องจัดสต๊อกสินค้าให้อยู่กับเราสั้นที่สุด ไม่ให้มีสินค้าค้างสต๊อกเยอะ ทำให้เงินทุนหมุนเวียนโดยไม่จมกับสต๊อกสินค้า
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก K-Expert ได้ยกตัวอย่างการจัดการสต๊อกสินค้าเบื้องต้นไว้ ดังนี้
- ทำการประมาณการขายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน โดยศึกษาจากประวัติการขายย้อนหลัง เพื่อดูว่าสินค้าได้ได้รับความนิยม มาก/น้อย อย่างไร และจะสต๊อกสินค้า เพิ่ม/ลด เท่าไร ทำให้สามารถผลิต หรือซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้ในปริมาณที่ไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป
- หากพบว่ามีสินค้าชนิดไหนเริ่มค้างสต๊อกเยอะ อาจจะนำมาจัดโปรโมชั่นลดราคา เพื่อระบายสินค้าออก และนำเงินมาใช้จ่ายในธุรกิจต่อไป
- จัดระบบสต๊อกสินค้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น สินค้าไหนที่มีวันหมดอายุให้จัดการแบบมาก่อน ขายก่อน และตัดสินค้าที่เสื่อมสภาพ หรือชำรุดออกจากคลัง
เสริมสภาพคล่องของธุรกิจผ่านสินเชื่อ
กรณีที่เงินสดขาดมือ แต่ต้องการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ การขอสินเชื่อจากธนาคารก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนมาหมุนเวียนมากขึ้น เช่น
- การขอวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือ Over Draft (OD) โดยต้องมีหลักทรัพย์ เช่น บ้าน โรงงาน ที่ดิน หรือเงินฝาก มาค้ำประกัน เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ทางธุรกิจให้ทันเวลา
- ขอตั๋วสัญญาการใช้เงิน หรือ Promissory Note (PN) ที่มีการกำหนดเวลาอย่างชัดเจนว่าต้องชำระเงินคืนภายในกี่วัน เช่น 60 วัน หรือ 90 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการเสริมสภาพคล่องของตัวเองในระยะสั้นได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการยังต้องการเงินทุนหมุนเวียนอยู่ก็ยังสามารถต่อตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปได้
แต่อย่างไรก็ตามการเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อไม่ควรทำเป็นระยะเวลานานจนเกินไป ควรที่จะใช้เป็นตัวเลือกเสริมในยามที่ธุรกิจเกิดขาดสภาพคล่องเพื่อให้ยังดำเนินการต่อไปได้เท่านั้น
ทิ้งท้าย
เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ หากกระแสเงินสดมีรายรับมากกว่ารายจ่าย และทำได้ตามที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ธุรกิจของเราก็จะสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ได้ครับ
ข้อมูลจาก : K-Expert