ในยุคนี้การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้การค้าขายเป็นเรื่องสะดวกสบายมากขึ้น ผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อสินค้าทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่ สามารถมองหาช่องทางสร้างธุรกิจของตัวเองได้ไม่ยาก แต่การจะกระโดดเข้ามาในวงการ SME ช่วงเวลานี้ ควรจะต้องรู้อะไรบ้าง และสินค้ากลุ่มไหนกำลังเป็นที่ต้องการในอนาคตของคนไทย
เราจึงอยากสรุปเทรนด์กลุ่มสินค้าที่น่าสนใจมาให้สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ จากงาน “SME ปี 2023 พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป SME ยุคใหม่ต้องเปลี่ยนตาม” จัดโดย CP ALL และ สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นงานสัมมนาต่อยอดความรู้เพื่อผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถปั้นธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 แบรนด์ SME รุ่นใหม่ที่พัฒนาธุรกิจสอดคล้องกับเทรนด์สินค้าแห่งอนาคตจนประสบความสำเร็จ เบื้องหลังของแต่ละคนจะมีวิธีคิดอย่างไร ติดตามไปด้วยกันได้ในบทความนี้
7 กลุ่มสินค้ามาแรงปี 2566
หนึ่งในช่วงที่น่าสนใจใน Session ของดร.วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ซีพี ออลล์ ตัวแทนศูนย์ 7-Eleven สนับสนุน SME ที่ได้เผยถึงเทรนด์กลุ่มสินค้ามาแรงในปี 2566 ทำให้เห็นถึงเทรนด์สินค้าที่จะได้รับความนิยมในอนาคตถึง 7 กลุ่มสินค้า ดังนี้
1.สินค้าสำหรับผู้สูงวัย
สินค้าสำหรับผู้สูงวัยเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น แถมยังมีกำลังซื้อสูง ชอบสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สินค้าที่ให้ประสบการณ์ที่ดี เช่น ข้าวต้มพร้อมรับประทานที่ยังคงความหอมเหมือนหุงเองและยังคงคุณประโยชน์ของข้าวได้ครบถ้วน ก็จะได้ใจลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ
2.สินค้าเพิ่มความสะดวก
อีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีคือ สินค้าในกลุ่มที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่แปลกใหม่ เพียงแค่ปรับมุมมองที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ให้สะดวกในการรับประทาน เช่น ผลไม้พร้อมทานที่หยิบทานได้เลยไม่ต้องปอก และมีปริมาณอยู่ในสัดส่วนที่อิ่มกำลังดีสำหรับทาน 1-2 คนก็ได้รับความสนใจไม่น้อย
3.สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
SME Sistar – สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
การมาของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น กลุ่มลูกค้าหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง สะท้อนจากการขยายตัวของสินค้ากลุ่มธัญพืชและสมุนไพรที่ได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงสินค้าอาหาร ผู้คนเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แต่สำหรับลูกค้า 7-Eleven แล้วจะต่างจากลูกค้ากลุ่ม Healthy โดยปกติตรงที่ แม้จะชอบอาหารสุขภาพ แต่รสชาติที่อร่อยด้วยยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
4.สินค้าไซส์เล็ก
SME น้ำพริกคุณชาย – สินค้าไซส์เล็ก และต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
เทรนด์สินค้ากลุ่มนี้สอดคล้องกับนิสัยของคนรุ่นใหม่ที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ชอบความสะดวกสบาย นิยมอยู่อาศัยคนเดียวหรือมีครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นสินค้าเพื่อการบริโภคในขนาดเล็กจึงตอบโจทย์ ทั้งสินค้าอุปโภคอย่างครีมบำรุงหรือเครื่องสำอางอาจปรับขนาดให้อยู่ในรูปแบบซองหรือขนาดทดลอง เพื่อความสะดวกในการพกพาและราคาจับต้องได้ง่าย
5.สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคยุคใหม่มักมองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจกับเรื่องราวของสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นับตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ กระบวนการผลิตไปจนถึงตัวสินค้า ยอมจ่ายเงินให้กับแบรนด์ที่สามารถออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่ตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
6.สินค้าต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
SME บ๊วยรัศมีแข – สินค้าต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
เทรนด์ความสนใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือ Local Lover มีแนวโน้มเติบโตอีกครั้งในช่วงหลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มองหาของฝากจากไทยก็กำลังได้รับความนิยม ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าท้องถิ่น สามารถขึ้นทะเบียนขอรับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยืนยันว่าเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพและมีแหล่งที่มาจากท้องถิ่นนั้น ๆ จริง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มฐานลูกค้าประจำของสินค้าท้องถิ่นนั้น
7.สินค้าที่มีนวัตกรรม
สินค้านวัตกรรมยังคงเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้แม้จะเป็นสินค้าพื้นบ้านก็มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน อาทิ กล้วยหอมสินค้าขายดีใน 7-Eleven, เทรนด์อาหาร Meat Zero, เจลลี่ 0 แคลอรี หรือซุปฟักทองส่งออกที่เก็บได้นานขึ้น ก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในงานนี้เองทางทีมก็ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ 3 ตัวแทนแบรนด์ SME ที่พัฒนาธุรกิจสอดคล้องกับเทรนด์สินค้าเหล่านี้ เข้ามาแชร์ประสบการณ์การนำสินค้าเข้ามาขายใน 7-Eleven รวมถึงเบื้องหลังแนวคิดสินค้าของแต่ละแบรนด์จะมีวิธีคิดอย่างไร มาทำความรู้จักพวกเขาไปพร้อมกัน
“บ๊วยรัศมีแข” แบรนด์ขนมของคนบันเทิงที่อยากส่งเสริมรายได้ชุมชน
จุดเริ่มต้นของบ๊วยรัศมีแข เริ่มจากได้ลองชิมบ๊วยจากโรงงานของคนสนิทแล้วประทับใจในรสชาติ จากนั้นก็ได้เริ่มศึกษากระบวนการทำ ผลิตออกมาขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ก่อน ก่อนจะขยับเข้ามาขายใน 7-Eleven โดยเริ่มจากสาขาในปั๊มก่อน เนื่องจากเป็นขนม Snack ที่ทานง่าย สามารถแก้ง่วงระหว่างขับรถได้
และก็ได้เริ่มความท้าทายทีมตัวเองด้วยการนำสินค้าเข้าสู่ 7-Eleven ในครั้งนี้ ทางทีม 7-Eleven ก็ให้ได้คำแนะนำทางแบรนด์ในเรื่องของคุณภาพการผลิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจจิ้งจากแบบกระปุก ขยายมาเป็นแบบซองที่สามารถพกพาทานได้ง่ายในปริมาณที่ราคาเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ช่วยให้คุณรัศมีแขมั่นใจในคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิตของแบรนด์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้พอแบรนด์ขยับเข้ามาขายใน 7-Eleven แล้ว ไลน์การผลิตก็ต้องขยายขึ้น ช่วยทำให้โรงงานกลายเป็นการกระจายรายได้ให้คนในชุมชนเกษตรกรมากขึ้น
การกระโดดเข้ามาทำธุรกิจถือเป็น Challenge ใหม่ในชีวิตคุณรัศมีแขไม่น้อย จากคนวงการบันเทิงที่เข้ามาศึกษาการผลิตบ๊วยให้ได้คุณภาพ ได้รสชาติที่ถูกใจลูกค้า การควบคุมการผลิตให้ทันส่งขายได้อย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงการสื่อสารแบรนด์ไปยังลูกค้าใหม่ ๆ เป็นโจทย์ที่ทำให้มีเรื่องให้เรียนรู้มากมาย
หลายคนอาจคิดว่าการเป็นคนดังจะเข้ามาทำแบรนด์ก็เป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับรัศมีแข กลับมองว่าการใช้ชื่อเสียงตัวเองในการสื่อสารแบรนด์ ยิ่งทำให้ต้องมุ่งมั่นรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีที่สุด เพราะหากสินค้าไม่ดีก็จะกระทบชื่อเสียงในวงการไปด้วย จึงมีสิ่งหนึ่งที่เจ้าตัวยึดถืออยู่เสมอ คือการต้องรักในสิ่งที่ทำก่อนเสมอ เราควรที่จะทำความเข้าใจสินค้าที่เรากำลังขาย รักสินค้าของเราให้ได้ก่อน เพราะถ้าทำมาจากใจ เราจะเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อคุณภาพสินค้าและลูกค้าเองก็จะรับรู้ได้เช่นกัน
“น้ำพริกคุณชาย” แบรนด์น้ำพริกไซส์เล็ก อร่อยตามตำรับ ด้วยวัตถุดิบจากเกษตรกร
จากประสบการณ์ทำธุรกิจขายน้ำพริกในระดับ B2B ตั้งแต่รุ่นคุณแม่มากว่า 20 ปี รวมถึงส่งกระเทียมเจียวขายให้ทาง 7-Eleven มายาวนาน คุณเบนซ์ทำให้ธุรกิจที่บ้านเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงมองว่าจะต้องสร้าง Branding ของตัวเองให้แข็งแรงขึ้น จึงได้ปลุกปั้นสร้างแบรนด์ “น้ำพริกคุณชาย” เป็นสินค้าไซส์เล็กที่ต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดดเด่นด้วยรสชาติที่ได้มาตรฐานตามตำรับน้ำพริกของไทย
โดยแรกเริ่มเข้าสู่ 7-Eleven ด้วยเมนู “เห็ดกรอบขี้เมาเจ” ขายในช่วงเทศกาลกินเจ ก่อนจะขยาย SKU เป็นน้ำพริกเมนูอื่น ๆ ด้วย เริ่มจากขายแบบกระปุกจนพัฒนาเป็นถุงซิปล็อก เน้นทานสะดวก ทานไม่หมดก็เก็บได้ ตอบโจทย์ลูกค้าสมัยใหม่ที่อยากอร่อยกับน้ำพริก
“SISTAR” สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม พกพาง่ายในราคาสบายกระเป๋า
จุดเด่นของ SISTAR วางตัวเองเป็นแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่อยากเป็นพี่สาว-น้องสาวกับลูกค้า คัดสรรสิ่งดี ๆ ตามมาตรฐานในราคาที่เป็นมิตร มองกลุ่มเป้าหมายเป็นสาววัยกลางคนตามหัวเมืองที่สามารถดูแลตัวเองให้มั่นใจได้ หรือจะพกไปเที่ยวก็สะดวกด้วยราคาที่สบายกระเป๋า
เข้าใจว่าลูกค้าใน Convenience Business ต้องการอะไร ก่อนจะนำสินค้าและแผนการตลาดเข้ามานำเสนอทีมบริหารผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางทีมก็ได้ให้คำแนะนำอย่างเข้มข้นกว่าที่จะออกวางขายจริงในท้องตลาด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ซึ่งเคล็ดลับการทำธุรกิจ SME ฉบับของ SISTAR เธอก็ได้ให้คำแนะนำว่าควรจะให้ความสำคัญกับทั้งงานหน้าบ้านและงานหลังบ้าน โดยงานหน้าบ้านนั้น ผู้ประกอบการควรจะจับเทรนด์สินค้าให้ทัน หลังโควิดลูกค้าดูแลผิวหน้ายังไง เทรนด์ลูกค้าเปลี่ยนไปไหม ส่วนงานหลังบ้านเองเมื่อลงขายใน 7-Eleven แล้ว ควรดูแลเรื่องการซัพพอร์ตสต๊อก ต้องบริหารจัดการสต๊อกให้ดี เมื่อทำการตลาดโปรโมตออกไป ต้องมีของหน้าร้านให้พร้อมซื้อทันที ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเสียโอกาสในการขายไปได้
นอกจากนี้ประสบการณ์จากเหล่า SME ตัวจริงแล้ว ภายในงานก็ยังมีศูนย์ 7-Eleven สนับสนุน SME มาให้คำปรึกษาข้อมูลเรื่องการนำเสนอสินค้า และช่วยพัฒนาปรับปรุงต่อยอดสินค้าได้ พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจนำสินค้าวางขายใน 7-Eleven พร้อมรับคำปรึกษาจากตัวแทนศูนย์ฯ อีกด้วย
แต่สำหรับใครที่ไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ แต่มีความสนใจอยากนำสินค้าเข้ามาขายใน 7-Eleven ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ผ่านศูนย์ 7-Eleven สนับสนุน SME ที่ช่องทาง FB: 7SMECenter, Tiktok: 7SMECenter, www.7smesupportcenter.com หรือ โทร.02 826 7750 ได้เลย