ต้องบอกว่ามีผู้ก่อตั้งกิจการหน้าใหม่ในโลกดิจิทัลน้อยรายนักที่จะปฏิเสธเงินเสนอซื้อกิจการหลายพันล้านเหรียญสหรัฐจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังในวงการ แต่ Snapchat เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัปนั้นที่ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร่วม 100,000 ล้านบาท) จาก Facebook โดยล่าสุดซีอีโอ Snapchat ยอมเปิดเผยแล้วว่า เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ คืออะไร
Evan Spiegel ซีอีโอของ Snapchat เปิดเผยเหตุผลนี้กับนิตยสาร Forbes ว่าโลกใบนี้มีผู้ที่เข้ามาก่อตั้งธุรกิจประเภทเครือข่ายสังคมเพียงไม่กี่ราย เขาจึงมองว่าการขายกิจการเพื่อทำกำไรในระยะสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ
แม้ซีอีโอ Snapchat จะอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างผ่อนคลายและเข้าใจได้ง่าย แต่เชื่อว่ากว่าที่ซีอีโอหนุ่มจะสามารถตกผลึกความคิดเช่นนี้นั้นคงต้องผ่านการชั่งใจมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงมูลค่ากิจการ Snapchat ที่สำนักข่าว Wall Street Journal เปิดเผยว่า Facebook เสนอซื้อกิจการเครือข่ายสังคมแชร์ภาพแนวคิดใหม่ด้วยเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้การปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการนี้กลายเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ช่วงปี 2013 ที่ผ่านมาอย่างไม่น่าแปลกใจ
เหตุผลที่ซีอีโอ Snapchat อธิบายไว้ทำให้สตาร์ทอัปทั่วโลกควรใส่ใจกับคำว่า “short-term gain” ให้มากขึ้น การทำกำไรระยะสั้นนั้นสะท้อนออกมาชัดเจนเมื่อสำนักข่าว Forbes คำนวณว่า Spiegel และผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Bobby Murphy จะได้รับเงินคนละ 750 ล้านเหรียญ (เกือบ 25,000 ล้านบาท) เท่านั้นจากข้อเสนอของ Facebook จุดนี้ทำให้เชื่อว่าผู้ก่อตั้ง Snapchat มองเห็นโอกาสใหญ่กว่าที่รออยู่
รายงานของ Forbes ระบุว่าซีอีโอ Facebook อย่าง Mark Zuckerberg เข้าพบ Spiegel ครั้งแรกในปลายปี 2012 พร้อมกับพยายามให้ข้อมูลเชิงขู่กับผู้สร้าง Snapchat ด้วยการบอกว่า Facebook มีแผนเปิดตัวแอปพลิเคชันลักษณะเดียวกัน ปรากฏว่าการส่งสัญญาณรบกับ Snapchat นั้นล่มไม่เป็นท่า เพราะแอปพลิเคชันที่ถูกเปิดตัวในครั้งนั้นคือ Facebook Poke ซึ่งไม่ได้รับเสียงฮือฮาจากตลาดเท่าที่ควร แถมยังทำให้ผู้ก่อตั้ง Snapchat เชื่อมั่นในจุดยืนของตัวเองมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ Snapchat ประกาศเพิ่มทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้บริษัทถูกประเมินว่ามีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ (ราว 66,000 ล้านบาท) แน่นอนว่ามูลค่านี้น้อยกว่าที่ Facebook เสนอซื้อกิจการไป แต่อย่างน้อย Snapchat ก็ยังเป็นบริการที่มีจุดยืนที่มั่นคงและชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มา : Mashable