เครือข่ายสังคมแชตและแชร์ภาพ Snapchat เผยตัวเลขสุดเซอร์ไพร์สเกี่ยวกับจำนวนรูปภาพที่มีการแชร์บนเครือข่ายในแต่ละวัน โดยประกาศว่าผู้ใช้ Snapchat ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากภาพถ่ายมากกว่า 350 ล้านรูปต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทีเดียว
ในปัจจุบัน แอพพลิเคชันแชร์ภาพถ่ายนั้นมีจำนวนมากมายแทบจะล้นตลาด แต่ต้องยอมรับว่าแอพพลิเคชันเหล่านั้นก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียทั้งหมด โดยบางแอพพลิเคชันฮิตฮ็อตเพียงพักเดียวก็จะถูกลืมไป ขณะที่แอพที่ประสบความสำเร็จแท้จริงนั้นมีอยู่ไม่มาก ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ Snapchat โดยการแชร์ภาพบนเครือข่ายของ Snapchat นั้นเกิดขึ้นในแต่ละวันกว่า 350 ล้านภาพ กระโดดเพิ่มจาก 200 ล้านภาพเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อัตราการเติบโตของการแชร์ภาพบน Snapchat นั้นน่าสนใจมาก จุดนี้ Evan Spiegel (ชายภาพบน) ซีอีโอของ Snapchat กล่าวกับเว็บไซต์ Techcrunch ว่าเดือนตุลาคมปี 2012 จำนวนภาพที่ถูกแชร์บน Snapchat มีเพียงแค่ 20 ล้านภาพต่อวันเท่านั้น แสดงว่าในเวลาไม่ถึง 1 ปี จำนวนการแชร์ภาพของ Snapchat นั้นเกิดขึ้นหลายสิบเท่าตัว
ซีอีโอ Spiegel อธิบายว่าจำนวนรูปภาพที่ถูกแชร์จากอุปกรณ์ที่เป็น Android นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จุดนี้เป็นผลเกื้อหนุนกับยอดดาวน์โหลดแอพบน Playstore ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%
ความนิยมในการแชร์ภาพถ่ายที่เพิ่มมากขึ้นนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของ Mary Meeker นักวิจัยตลาดที่มองว่าความนิยมในการแชร์ภาพถ่ายจะขยายตัวเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2013 เบื้องต้นพบว่าการคาดการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง หลังจากที่ Instagram เจ้าตลาดแชร์ภาพถ่ายออนไลน์เพิ่งจะเผยตัวเลขผู้ใช้ในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านคน
ซีอีโอ Snapchat กล่าวถึงกรณีที่ Snapchat ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับ Instagram เนื่องจากทั้งคู่เป็นแอพพลิเคชันสำหรับแชร์ภาพถ่ายเหมือนกัน จุดนี้ซีอีโอ Spiegel เชื่อว่า Snapchat มีจุดยืนที่แตกต่างกัน โดย Snapchat เป็นเครือข่ายสำหรับแชร์ช่วงเวลาที่น่าจดจำ ส่วน Instagram มีไว้เพื่อเก็บภาพถ่ายสวยงามมากกว่า
สิ่งที่ thumbsupers ได้จากข่าวนี้น่าจะเป็นกำลังใจอย่างหนึ่งว่าแอพฯ แนว chat ก็ไม่ได้มาถึงทางตันเสมอไป แม้ว่าแอพฯ แบบ WhatsApp, LINE, WeChat จะออกมาเกลื่อนกันเต็มไปหมด หากมีนวัตกรรมที่เจาะใจคนจริงๆ สมัย Facebook เกิด ก็เกิดท่ามกลาง Friendster และ Hi5 เช่นกัน แล้วคุณล่ะ คิดว่าเพราะอะไร snapchat ถึงเติบโต อย่างน้อยก็ในเมืองนอก
ที่มา: Techcrunch