นี่คืออีกสัญญาณที่สะท้อนว่า “ภาพถ่าย” คือสิ่งที่มีอิทธิพลสุดขีดบนเครือข่ายสังคม โดยล่าสุด Snapchat สามารถครองตลาดส่วนใหญ่และขึ้นเป็นเบอร์ 1 แอปแชตอเมริกันได้สำเร็จในมุมทราฟฟิกการใช้งาน โดยมีสถิติรับส่งข้อความเหนือกว่าคู่แข่งอย่าง WhatsApp เรียบร้อย เบ็ดเสร็จแล้ว Snapchat คือผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรับส่งข้อความโดยเฉพาะที่มีอัตราการใช้งานมากที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ
สถิติล่าสุดนี้เป็นของบริษัท Sandvine ซึ่งพบว่าขณะนี้ Snapchat คือ “third-party messaging app” ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในแถบอเมริกาเหนือ โดยจากการตรวจสอบการใช้งานทราฟฟิกเครือข่ายของลูกค้า Sandvine (ซึ่งได้แก่ลูกค้ากลุ่มบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐาน) พบว่าความนิยมของ Snapchat นั้นเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติของบริการพื้นฐาน Snapchat ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติเกี่ยวกับภาพและวิดีโอ ทั้งหมดนี้มีผลทำให้ Snapchat สามารถโกยยอดทราฟฟิกแบบถล่มทลายชนิดที่เรียกได้ว่า major volume impact
Sandvine วิเคราะห์ว่า Snapchat สามารถสร้างทราฟฟิกเหนือกว่า WhatsApp เพราะการเปิดให้ผู้ใช้ส่งข้อความพร้อมภาพ ขณะที่ฝ่ายหลังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ส่งเพียงข้อความถึงกัน จุดนี้ทำให้ Sandvine สร้างเป็นสมการออกมาว่า popularity + media type = major traffic influence นั่นคือทราฟฟิกมหาศาลจะเกิดขึ้นได้เมื่อแอปพลิเคชันนั้นมีความนิยมและมีสื่อในรูปแบบของตัวเองที่ชัดเจน
ไม่เพียง Snapchat แอปพลิเคชันอย่าง Twitch.TV ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้สามารถชมเพื่อนเล่นวิดีโอเกมได้ก็สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้ได้อย่างก้าวกระโดดไม่แพ้กัน โดยขณะนี้ Twitch.TV มีทราฟฟิกการใช้งานมากกว่า HBO Go เรียบร้อย จุดนี้ถือเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าสมการของ Sandvine เป็นความจริง
Sandvine เชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ Snapchat ในอนาคต คือปริมาณทราฟฟิกมหาศาลที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกไม่รู้จบ แน่นอนว่า Snapchat รู้ตัวดีและได้ทำงานร่วมกับบริษัทเฉพาะทางเพื่อจัดการกับคอนเทนต์มหาศาลที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในเครือข่ายของตัวเอง ซึ่งคาดว่าจะเกิดการใช้ประโยชน์จากคอนเทนต์บน Snapchat ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ที่น่าสนใจคือ Sandvine พบว่าหากเทียบในกลุ่มทราฟฟิกจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดียว จะพบว่าในช่วงเที่ยงคืนหรือ 12:00 AM ปริมาณทราฟฟิกจาก Snapchat จะคิดเป็น 12% ของทราฟฟิกรวมในเครือข่าย ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน่าทึ่งที่แอปพลิเคชันหนึ่งสามารถทำยอดทราฟฟิกได้มากถึงขั้นนี้
ที่มา : Techcrunch