ถือเป็นอีกหนึ่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เมื่อ Hiroshi Yamauchi ผู้บริหารสูงสุดของ Nintendo ที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 50 ปีได้จากไปด้วยวัย 85 ปีในวันที่ 19 กันยายน 2556 ที่่ผ่านมาด้วยโรคปอด แต่เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลผู้ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งคน รวมถึงบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่เขาได้สร้างไว้ เรามาทำความรู้จักกับ Nintendo บริษัทเกมจากแดนญี่ปุ่นที่ทั้งโลกยกย่องกันครับ
เหล่าตัวละครดังของ Nintendo (ภาพประกอบจาก Play Better & Junk)
หลายๆ คนอาจจะไม่เชื่อว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ของ Nintendo นั้นย้อนกลับไปถึงปี 1889 (พ.ศ. 2432) ซึ่งในตอนนั้นบริษัทมีชื่อว่า “Nintendo Koppei” ก่อตั้งโดย Fusajiro Yamauchi เพื่อจำหน่ายการ์ด Hanafuda ซึ่งเป็นการ์ดสำหรับใช้เล่นเกมต่างๆ ซึ่งก็คล้ายกับไพ่มาตรฐาน 52 ใบที่เราคุ้นกันในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งชื่อบริษัท Nintendo นั้นคาดกันว่ามาจากคำว่า Nintendou ซึ่งแปลว่า “ปล่อยให้เรื่องของโชคขึ้นกับสวรรค์เบื้องบน”
การ์ด Hanafuda (ภาพประกอบจาก Japanese-games-shop.com)
หลังจากที่บริษัทได้ผลิตและจำหน่ายการ์ด Hanafuda มาหลายสิบปี จุดเปลี่ยนของบริษัทก็เริ่มต้นขึ้นในปี 1953 (พ.ศ.2496) ซึ่งเป็นยุคที่หลานของ Fusajiro ที่ชื่อว่า Hiroshi Yamauchi ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัทนี้ต่อ ซึ่งบริษัทก็ได้เริ่มจำหน่ายการ์ดในรูปแบบพลาสติคเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น
Hiroshi Yamauchi (ภาพประกอบจาก Play4Real)
นวัตกรรมในการผลิตการ์ดพลาสติคนี้ได้สร้างความนิยมไปอย่างกว้างขวางและทำให้ Nintendo ได้กลายเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ต่อมาในปี 1956 (พ.ศ.2499) Hiroshi ได้เดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสเริ่มทบทวนถึงธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายการ์ดที่ทำอยู่ ต่อมาเขาจึงได้พบกับผู้รับจ้างผลิตการ์ดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเองและเขาก็ได้พบว่าอุตสาหกรรมนี้มันเล็กและมีข้อจำกัดมากเกินไป
จุดเปลี่ยนที่เริ่มเห็นชัดขึ้นตามมาในปี 1959 (พ.ศ.2502) เมื่อ Hiroshi ได้ลงนามในสัญญากับ Disney ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการพิมพ์ลายการ์ตูนของ Disney ลงบนการ์ดเพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้นเอง การ์ดที่ Nintendo ผลิตมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นการพนัน
การ์ดที่พิมพ์ลายการ์ตูนจาก Disney (ภาพประกอบจาก Nintendo.wikia.com)
จากการที่ Nintendo ได้รุกตลาดร่วมกับ Disney ทำให้บริษัทได้ก้าวเข้าไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เด็กลงมาก บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่นั่นก็คือ หนังสือคู่มือที่อธิบายวิธีการเล่นการ์ดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยในปีแรกเพียงปีเดียว บริษัทสามารถขายการ์ดนี้ได้ถึง 600,000 ชุด และความสำเร็จนี้เป็นตัวผลักดันให้บริษัทก้าวเข้าสู่ความเป็นบริษัทมหาชนในปี 1962 (พ.ศ.2505)
การเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทำให้บริษัทมีเงินทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำในการขยายกิจการ แต่การขยายกิจการของ Nintendo นั้นออกจะประหลาดสักหน่อย เพราะธุรกิจใหม่ๆ ที่บริษัทเลือกเปิดได้แก่ บริษัทรถแท็กซี่, โรงแรมสำหรับพักชั่วคราว, บริษัทข้าว, บริษัทผลิตเครื่องดูดฝุ่น รวมไปถึงบริษัทผลิตของเล่น
บริษัทให้บริการแท็กซี่ของ Nintendo (ภาพประกอบจาก Learn Something Every Day)
เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก บริษัทลูกส่วนใหญ่ก็ไปไม่รอด ยกเว้นก็เพียงบริษัทผลิตของเล่นที่ดูจะมีอนาคตมากที่สุด ซึ่งต่อมาในปี 1965 (พ.ศ. 2508) บริษัทได้จ้างวิศวกรคนหนึ่งชื่อว่า Gunpei Yokoi เข้ามาเป็นวิศวกรที่ดูแลรักษาอุปกรณ์และระบบของบริษัท และเขาผู้นี้นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Nintendo
Gunpei Yokoi (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
ในปี 1970 (พ.ศ.2513) ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพหนี้สินและกำลังดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดในอุตสาหกรรมของเล่นอยู่นั้น ในขณะที่ Hiroshi กำลังเดินสายตรวจโรงงานที่ Hanafuda เขาก็ได้เห็นตอนที่ Gunpei Yokoi กำลังเล่นกับของเล่นที่คล้ายกับแขนที่ยืดออกไปได้ เขาเกิดความสนใจในทันทีและตัดสินใจที่จะเสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งเขาได้ขอให้ Gunpei พัฒนาของเล่นชิ้นนี้ต่อให้สามารถกลายเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายได้ พร้อมตั้งชื่อมันว่า “Ultra Hand”
Ultra Hand ของเล่นที่ริเริ่มโดย Gunpei Yokoi (ภาพประกอบจาก Gamemories)
Ultra Hand สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านชิ้นและทำให้ Gunpei ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่ง Gunpei ได้กลายเป็นพนักงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและอยู่เบื้องหลังสินค้าจำนวนมากของ Nintendo และถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ เพราะในขณะนั้นมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ผลิตของเล่นที่โดดเด่นแบบนี้ ซึ่งด้วยจำนวนคู่แข่งที่น้อย ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาสูงและสร้างกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ในช่วงเวลานี้เอง Nintendo ได้เริ่มหันมาให้ความสนใจในวิดีโอเกม และเริ่มต้นโดยการเป็นผู้จัดจำหน่าย Magnavox Odyssey ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง Magnavox Odyssey ถือได้ว่าเป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมเครื่องแรกของโลกทีเดียว
Magnavox Odyssey (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
หลังจากที่ Nintendo ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการเป็นตัวแทนจำหน่าย บริษัทก็ตัดสินใจที่จะเริ่มพัฒนาเกมให้กับเครื่องเล่นต่าง ซึ่งเกทแรกที่เริ่มวางจำหน่ายในปี 1975 (พ.ศ. 2518) มีชื่อว่า EVR Race ก่อนที่จะตามมาติดๆ ด้วยเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเกมหนึ่งอย่าง Donkey Kong
EVR Race (ภาพประกอบจาก Nintendo)
Donkey Kong ซึ่งพัฒนาโดย Shigeru Miyamoto (ซึ่งเป็นพนักงานดาวรุ่งอีกหนึ่งคนของบริษัท) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและได้ถูกพัฒนาให้เครื่องเล่นหลายๆ รุ่น รวมถึง Atari 2600, Intellivision และ ColecoVision ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ บริษัทก็ได้ริเริ่มพัฒนาเครื่องเล่นพกพา เช่น Game & Watch ซึ่งถึอได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ Game Boy ที่ทุกคนรู้จักนั่นเอง
Game & Watch (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
หลังจากที่ผ่านไปได้ไม่นานนัก บริษัทก็เริ่มต้องการขยับไปอีกขั้นให้มากกว่าแค่การพัฒนาเกม จึงเป็นที่มาของการเริ่มผลิตตัวเครื่องเล่นเกมของตัวเองขึ้นในปี 1983 (พ.ศ. 2526) ซึ่งเครื่องเล่นเกมรุ่นแรกของบริษัทก็คือ “Famicom” (ย่อมาจาก Family Computer) ซึ่งวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
เครื่องเล่นเกม Famicom (ภาพประกอบจาก Wikipedia)
Famicom ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามด้วยตัวเลขร่วม 500,000 เครื่องภายในเวลาเพียง 2 เดือน แต่บริษัทก็พบว่ามีลูกค้าจำนวนมากร้องเรียนเข้ามาเรื่องเครื่องเล่นมีอาการค้าง ซึ่งต่อมาบริษัทก็พบว่าปัญหามาจากชิปที่ใช้ประมวลผลทำให้บริษัทต้องเรียกสินค้าที่ยังไม่ถูกจำหน่ายคืนทั้งหมด และบริษัทก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการขอเป็นพันธมิตรกับบริษัท Atari แต่ในปีนั้น ญี่ปุ่นก็เผชิญกับปัญหา Video Game Crash หรือวิกฤติของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม อันเนื่องมาจากการอิ่มตัวของตลาดและคุณภาพของเกมในตลาดที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแข่งขันจากเกมบนคอมพิวเตอร์ด้วย
ในปี 1985 (พ.ศ. 2528) บริษัทได้เดินหน้ากับอีกหนึ่งก้าวสำคัญ นั่นคือการวางจำหน่ายเครื่อง Famicom ทั่วโลก โดยในครั้งนี้ เครื่อง Famicom ถูกปรับแก้ในจุดที่เคยบกพร่องซึ่งรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ด้วย พร้อมกับปรับรูปแบบของตัวเครื่องและเปลี่ยนชื่อเป็น Nintendo Entertainment System หรือ NES และเพื่อป้องกันวิกฤติแบบเดิม Nintendo ได้สร้างข้อจำกัดเรื่องจำนวนเกมที่ผลิต รวมไปถึงการควบคุมบริษัทผู้พัฒนาเกมที่จะมีส่วนร่วมด้วย
Nintendo Entertainment System (ภาพประกอบจาก BusinessWeek)
ในปีเดียวกันกับการเปิดตัว NES บริษัทยังได้เปิดตัวเกมใหม่ที่มีชื่อว่า Super Mario Bros ที่กลายเป็นตำนานอีกหน้าของโลกเทคโนโลยีและโลกบันเทิงด้วย
เกม Super Mario Bros (ภาพประกอบจาก The Industry Hotspot)
หลังจากนั้นเป็นต้นมา Nintendo ก็ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและบุกทั้งตลาดเครื่องเล่นคอนโซลและแบบพกพาและกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการเกมของโลกได้อย่างภาคภูมิ
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2013 (พ.ศ.2556) ที่ผ่านมา นิตยสาร Forbes ได้สรุปตัวเลขสำคัญๆ ของบริษัทไว้ดังนี้
- มูลค่าบริษัทในตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 14,390 ล้านเหรียญ หรือราว 450,000 ล้านบาท
- มีพนักงานทั้งสิ้นราว 4,900 คน
- ถูกจัดให้อยู่ที่อันดับ 84 ของบริษัทที่เน้นนวัตกรรม (ตกลงจากอันดับที่ 45 ในปีก่อนหน้า)
- ถูกจัดให้อยู่ที่อันดับ 40 ของแบรนด์ที่ทรงพลังที่สุดของโลก
- มีเงินสดในบัญชีราว 11,600 ล้านเหรียญ หรือราว 360,000 ล้านบาท
- มีรายได้ราว 7,820 ล้านเหรียญ 243,000 ล้านบาท
- ในช่วงปีที่ผ่านมา การเติบโตของยอดขายลดลง 10.5%
- ในรอบ 5 ปี ผลตอบแทนประจำปีลดลง 21.1%
นั่นหมายถึงว่าขณะนี้ Nintendo กำลังอยู่ในจุดที่ยอดขายตกต่ำและอาจจะต้องหาทางออกท่ามกลางการแข่งขันที่รุงแรงอย่างเร่งด่วน นวัตกรรมและแบรนด์ที่เคยแข็งแรงอาจจะพยุงบริษัทได้อีกสักระยะ แต่อนาคตคงไม่สวยงามนักหากบริษัทยังไม่มีแผนที่ขยับขยายหรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักให้ฉีกออกไปเหมือนที่ Hiroshi Yamauchi เคยทำในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต้องมาเอาใจช่วยกันต่อไปว่า Nintendo จะก้าวต่อไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คงจะไม่สามารถ”ปล่อยให้เรื่องของโชคขึ้นกับสวรรค์เบื้องบน”ได้อย่างแน่นอน
ที่มา: Today I Found Out , Forbes
ติดตามคอลัมน์ “So Now You Know by @chyutopia” ได้ที่ thumbsup.in.th อย่างต่อเนื่อง แล้วเรื่องราวบริษัทเทคโนโลยีดีๆ ก็จะไม่ไกลตัวอีกต่อไป