Site icon Thumbsup

:: So Now You Know :: Tencent ยักษ์ใหญ่โลกอินเทอร์เน็ตจากจีนที่ผงาดขึ้นอันดับ 3 ของโลก

tencent

สำนักงาน Tencent (ภาพประกอบจาก TheNextWeb)

เชื่อว่าคนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโลกอินเทอร์เน็ตคงจะเคยได้ยินชื่อ Tencent กันมาบ้าง แต่สำหรับหลายๆ คนที่ยังไม่คุ้นกับชื่อนี้ วันนี้ So Now You Know ขอแนะนำให้รู้จักกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกไซเบอร์จากแดนมังกร บริษัทที่สามารถผลักดันให้ตัวเองก้าวขึ้นไปอยู่ได้ถึงอันดับ 3 ของโลก แซงหน้าแม้แต่ Facebook ที่ทุกคนคุ้นเคย มาดูกันว่า Tencent เป็นใครครับ

Tencent Holdings Limited เป็นบริษัทลงทุนของจีนที่มีบริษัทลูกอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ, บันเทิง, อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงบริการเสริมบนโทรศัพท์ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับการโฆษณาออนไลน์ในจีนด้วย สำนักงานใหญ่ของ Tencent ตั้งอยู่ในเมืองเสินเจิ้นที่เราคุ้นเคยชื่อกันเป็นอย่างดี โดยบริการต่างๆ ของ Tencent ที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้ ได้แก่ บริการแชตชื่อดังอย่าง Tencent QQ และบริการแชตบนมือถืออย่าง WeChat

 

 Tencent QQ ที่บ้านเรามี Sanook! เป็นผู้ให้บริการภายใต้ชื่อ Sanook! QQ (ภาพประกอบจาก btrax)

แอพพลิเคชั่นแชตบนมือถือ WeChat

Tencent ก่อตั้งในปี 1998 (พ.ศ. 2541) โดย  Ma Huateng และ Zhang Zhidong ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกของบริษัทถือเป็นช่วงที่ Tencent ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาในปี 2001 (พ.ศ. 2544) บริษัทสัญชาติแอฟริกาใต้ที่มีชื่อว่า Naspers ได้เข้ามาลงทุนโดยแลกกับการถือหุ้นทั้งสิ้น 46% (ปัจจุบันลดลงเหลือ 34%) ซึ่งในช่วงเวลานี้ Tencent ได้เปิดให้บริการแชต OICQ อยู่ แต่ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น QQ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (คาดกันว่าชื่อ IOCQ ถูกฟ้องโดย ICQ) โดยรายได้หลักของบริษัทในยุคนั้นมาจากการขายโฆษณาและค่าบริการรายเดือนของผู้ที่ใช้ QQ แบบพรีเมี่ยม ก่อนที่จะเริ่มมีการสร้างรายได้จากการใช้งาน QQ บนโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนให้กับสินค้าขนมและเสื้อผ้าในเวลาต่อมา

 Ma Huateng วัย 41 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chairman ของ Tencent (ภาพประกอบจาก Jing Daily)

รายได้ที่สำคัญอีกส่วนของบริษัทมาจากการขายสินค้าบนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Virtual Goods ที่ผู้ซื้อเอาไปเล่นในเกมออนไลน์, ในสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในปี 2009 รายได้จาก virtual goods ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากของบริษัท โดยการซื้อสินค้าออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้จะถูกดำเนินการผ่านสกุลเงินออนไลน์ของบริษัทที่มีชื่อว่า Q Coins ที่สามารถใช้ซื้อริงโทน, วอลเปเปอร์, พื้นที่เก็บข้อมูล รวมไปถึงของตกแต่งตัวการ์ตูนบนโลกออนไลน์ได้อีกด้วย

สัดส่วนรายได้จาก Virtual Goods และการเปรียบเทียบกับ Facebook ในปี 2009 (ภาพประกอบจาก China Social Games)

ลองขยับมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการต่างๆ ของ Tencent กันครับ เริ่มจาก QQ ซึ่งเป็นบริการแรกของบริษัทที่เปิดตัวในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งปัจจุบันนี้ถือเป็นบริการแชตที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดตัวหนึ่งในจีน โดยมีผู้ใช้งานสูงถึง 647.6 ล้านคนในปี 2010 (พ.ศ. 2553) และทำให้ QQ ขึ้นเป็นสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกในปีนั้น (แน่นอนว่าปัจจุบันคือ Facebook ที่มีผู้ใช้งานทะลุุ 1,200 ล้านคนแล้ว) โดยปัจจุบัน QQ มีฐานผู้ใช้รวมกว่า 800 ล้านคนแล้ว

บริการต่อมาที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้บริษัทเช่นกันได้แก่ เกมออนไลน์ โดยบริษัทเปิดให้บริการหลากหลายเกมผ่านช่องทาง QQ Games โดยเกมส่วนใหญ่จะเป็นประเภท MMORPG หรือเกมที่มีการดำเนินเรื่องราวและมีผู้เล่นพร้อมๆ กันจำนวนมหาศาล ซึ่งเกมดังๆ ของ Tencent ได้แก่ Dungeon & Fighter, QQ Fantasy, Xunxian, QQ Three Kingdoms, QQ Huaxia และอื่นๆ อีกมากมาย

เกม Dungeon Fighter Online ที่ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ในปี 2010 (ภาพประกอบจาก China Game)

นอกจากฝั่งของบริการแชตและเกมแล้ว Tencent เองยังเปิดให้บริการทางด้านการเงินด้วย โดย TenPay เป็นบริการที่คล้ายกับ PayPal ที่เปิดให้โอนเงินได้ และในบางเมืองของจีน TenPay ยังเปิดให้ชำระค่าบริการสาธารณูปโภคและเติมเงินในบัตรโดยสารได้ด้วย และนอกจากนั้น TenPay กำลังเตรียมที่จะเปิดให้บริการทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นแชตยอดนิยม WeChat ในเร็วๆ นี้

บริการ TenPay และการเติบโตตั้งแต่เปิดตัว (ภาพประกอบจาก TenPay)

บริการน้องใหม่ล่าสุด WeChat ถือเป็นอาวุธใหม่ของบริษัทที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟน โดย WeChat จะเป็นทั้งสังคมออนไลน์, ที่ให้บริการเกม การเงิน และเป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริการใหม่ๆ ของ Tencent ในอนาคตด้วย

นอกจากบริการหลักๆ ข้างต้นแล้ว Tencent ยังมีบริการอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น QQ Live สำหรับให้บริการสตรีมมิ่ง, QQ Player โปรแกรมสำหรับดูหนังฟังเพลง, QZone บริการสังคมออนไลน์ที่เคยได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในจีนในปี 2008 (พ.ศ. 2551), SOSO บริการค้นหาข้อมูลที่เป็นพันธมิตรกับ Google หรือแม้แต่บริการ Weibo ที่เปรียบได้กับ Twitter ของจีนที่มีผู้สมัครใช้งานทะลุ 500 ล้านคนตั้งแต่ปลายปี 2012 (พ.ศ. 2555) ที่ผ่านมา

หลังจากที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 (พ.ศ. 2541) Tencent ก็เน้นการเติบโตในบ้านเกิดมาเรื่อยๆ จนได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกงในปี 2004 (พ.ศ. 2547) และหลังจากนั้นเพียง 9 ปี ในวันนี้ Tencent มีมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 101,000 ล้านเหรียญ หรือทะลุ 3 ล้านล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว และด้วยตัวเลขนี้ Tencent จึงได้กลายเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มูลค่าบริษัทขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก ตามหลังก็เพียง Google และ Amazon เท่านั้น

ในวันนี้ Tencent สามารถยืนอยู่ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะเมื่อมาดูด้านตัวเลขรายได้เทียบกับบริษัทต่างๆ

รายได้บริษัทต่างๆ เมื่อแยกตามช่องทางของรายได้ (ภาพประกอบจาก The Economist)

จากช่องทางของรายได้ Tencent แตกต่างจาก Google, Facebook หรือ Baidu และ Sina จากจีนด้วยกันเองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในขณะที่ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเน้นรายได้จากการโฆษณา Tencent เองผลักดันการพัฒนาและสร้างรายได้จากบริการเสริม (value-added services) เป็นหลักหรือถือเป็นกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด

นอกจากนั้น หากพิจาณาเพื่อให้เห็นภาพแล้ว Tencent แซงหน้า Facebook ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ โดย Tencent มีรายได้รวมในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4,500 ล้านเหรียญ (ราว 140,900 ล้านบาท) เทียบกับ Facebook ที่มีรายได้ช่วงเดียวกันที่ 3,300 ล้านเหรียญ (ราว 103,300 ล้านบาท) และกำไรอยู่ที่ 78,300 ล้านบาท เทียบกับ 29,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าแตกต่างกันเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ ผลการสำรวจของบริษัทชั้นนำอย่าง BCG (Boston Consulting Group) ได้ระบุว่า ผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นของ Tencent ถือว่าสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับบริษัทชั้นนำทุกบริษัท และแซงหน้าแม้แต่ Amazon และ Apple

การขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของโลกของ Tencent ในวันนี้ทำให้การแข่งขันดุเดือดขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาล คู่แข่งในบ้านอย่าง Baidu, Alibaba กำลังรุกอย่างหนักเพื่อที่จะช่วงชิงฐานรายได้มาจาก Tencent ในขณะที่บริษัทต้องจับตามองคู่แข่งนอกบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ต้องมาติดตามกันต่อว่ายักษ์ใหญ่จากแดนมังกรรายนี้ จะสู้ศึกและเติบโตต่อไปอย่างไร

แน่นอนว่า thumbsup เราจะนำความเคลื่อนไหวเหล่านี้มาเล่ากันอย่างต่อเนื่องครับ 🙂

ที่มา: Tencent , Wikipedia , The Economist

ติดตามคอลัมน์ “So Now You Know by @chyutopia” ได้ที่ thumbsup.in.th อย่างต่อเนื่อง แล้วเรื่องราวบริษัทเทคโนโลยีดีๆ ก็จะไม่ไกลตัวอีกต่อไป