3 เอเยนซี่ในเครือ ดับบลิวพีพี (WPP) ได้แก่ คันทาร์ อินไซท์ เกรย์เจ ยูไนเต็ด และ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) ร่วมกันเผยงานวิจัย SOCIAL DISTANCING และผลกระทบต่อพฤติกรรมคนไทย จากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีผลกระทบทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ กับผู้บริโภคชาวไทยตั้งแต่การเสพสื่อและเนื้อหา รวมไปถึงวิธีการจับจ่ายเปลี่ยนไป
ผลวิจัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักการตลาดเข้าใจถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสามารถตอบสนองและเข้าถึงผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมและทัศนคติที่ไม่เหมือนเดิมจากวิกฤติการณ์ โควิด-19 และสามารถนำแนวคิดไปปรับกลเพื่อให้แบรนด์สามารถสร้างแคมเปญหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตรงความคาดหวังในช่วงเวลาที่เหมาะสม
งานวิจัยสื่อโซเชียลมีเดียโดยโดย คันทาร์ อินไซท์ ได้นำเสนอถึงวิวัฒนาการของพฤติกรรมการสื่อสารของผู้บริโภคชาวไทยตั้งแต่เริ่มการระบาดของโรคจนถึงปัจจุบัน
โดยในช่วงแรกของปี 2020 คนไทยเน้นในเรื่องของการตอบสนองต่อวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในระดับนานาชาติ ซึ่งมีเรื่องของการแสดงออกทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
หลังจากที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ พบว่าคนไทยมีการรักษาระยะห่างทางสังคมเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากตอนแรก ทำให้ประชาชนเริ่มพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้น โดย
- 77% ของคนไทยเชื่อว่าโควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- 54% ของคนไทยเชื่อว่าโควิด-19 จะให้เศรษฐกิจถดถอย และกว่า 66% เริ่มมีการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมขึ้น
- 59% ของคนไทยเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลานาน ซึ่งผลของวิกฤติครั้งนี้จะกระทบต่อการว่างงานและธุรกิจขนาดเล็กและกลาง
อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะวิตกกังวลต่ออนาคต แต่ก็มีการเตรียมตัวและปรับเปลี่ยนชีวิตตามข้อระวังต่างๆ
คุณปัทมวรรณ สถาพร จาก มายด์แชร์ (ประเทศไทย) ได้ทำการสรุปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยตั้งแต่เริ่มมีการประกาศปิดเมืองและการรักษาระยะห่างทางสังคมไว้ว่า
50% ของคนไทยทำการยกเลิกการเดินทางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและกว่า 44% ของคนไทยเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านแทน ซึ่งทำการการเสพสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและสื่อนอกบ้านลดลง
ในขณะที่การดูทีวีและสื่อดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มายด์แชร์ พบว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคสื่อโทรทัศน์อยู่ที่ 2 ชั่วโมง 17นาที ต่อวัน โดยผู้บริโภคเลือกติดตามคอนเทนต์ประเภทข่าวมากที่สุดเพื่ออัพเดทสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ และรองลงมาเป็นรายการบันเทิง
ในด้านทัศนคติพบว่า 54% ของคนไทยมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีภาวะที่ถดถอยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ 59% ของคนไทยเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและจะส่งผลกระทบต่อการอัตราการว่างงานและธุรกิจขนาดเล็กและกลาง โดยที่กว่า 66% เริ่มมีการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมขึ้น
คนไทยมีพฤติกรรมซื้อของออนไลน์มากขึ้น ทั้งในส่วนของอาหารและการบริการ โดยกว่า 41% มีการสั่งอาหารส่งถึงบ้านในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี 92% ของผู้บริโภคยังคงอยากให้แบรนด์มีโฆษณาอยู่ต่อไป แต่แบรนด์ยังคงต้องสื่อสารด้วยความระมัดระวังโดยเลือกเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นจริงเกี่ยวกับวิธีการป้องกันวิกฤติจากเชื้อไวรัสด้วยวิธีของแบรนด์เอง อีกทั้ง 41% ของคนไทยต้องการให้แบรนด์ยืดหยัดต่อวิกฤติครั้งนี้ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
คันทาร์ เวิร์ลพาแนล เสริมว่าพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามที่เคยคาดการณ์ไว้ คนไทยมีการเดินทางไปซื้อของเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มากขึ้น
จากผลสำรวจพบว่าคนไทยเป็นผู้บริโภคที่มีเหตุผล อีกทั้งยังเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยมากขึ้นเช่นอาหารสดเพื่อไปทำอาหารกันที่บ้าน ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
ในช่วงนี้ผู้บริโภคไทยสามารถยอมรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แม้ว่าผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายส่วนตัวมากขึ้น แต่ก็นับเป็นการสร้างโอกาสให้แก่แบรนด์ ทั้งนี้การยอมรับไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะต้องแข่งขันกันในเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าผู้บริโภคจะมีการตัดสินใจซื้อสินค้าจากคุณค่าของแบรนด์มากกว่าเรื่องของราคา
จากตัวอย่างการฟื้นตัวของประเทศจีนดังต่อไปนื้ทำให้แบรนด์สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้บริโภคจะกลับมาเมื่อมาตรการปิดเมืองผ่อนคลายลง
- สตาร์บัคส์กลับมาเปิดสาขากว่า 90% จากจำนวนสาขาทั้งหมด
- 95% ของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศจีนได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม
- การระบาดของเชื้อไวรัสนั้นส่งผลต่อการค้าขายเกือบทั้งหมด จากตัวอย่างจากประเทศจีนคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสลดลง
- แบรนด์จะต้องทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นที่สนใจอยู่เสมอ และเมื่อผู้บริโภคพร้อมใช้จ่ายอีกครั้งก็จะกลับมาหาแบรนด์
- แบรนด์จะต้องปรับตัวและวางกลยุทธ์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการบริโภคสื่อและการซื้อของผู้บริโภค