หลังจากจบช่วงการลงทะเบียนรับสิทธิ์ เราไม่ทิ้งกัน ในวันเสาร์ที่ผ่านมา พบว่ามีตัวเลขคนลงทะเบียนกว่า 10 ล้านคน ซึ่งถือว่าเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และมีเสียงเรียกร้องจากเหล่าคนทำงานว่าคนทำงานออฟฟิศ มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่เราควรทราบ
ประกันสังคมจ่ายชดเชยกักตัว 14 วัน
สำนักงานประกันสังคมได้ชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกันตนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มติครม.ให้แก้กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
โดยให้แก้ไขคำให้ครอบคุมถึงภัยที่เกิดจากโรคโควิด-19 เช่น กรณีกักตัว 14 วัน จากการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ประกันสังคมจะจ่ายเงิน 50% หรือกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th เพื่อประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนให้
- กรณีการว่างงานจากการเลิกจ้าง หรือนายจ้างหยุดกิจการ ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนจากกรณีว่างงานไม่เกินระยะเวลา 200 วัน กรณีลูกจ้างลาออกจะได้รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้างไม่เกินระยะเวลา 90 วัน
- กรณีภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 7,500 บาท สืบเนื่องจากคำสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราว ผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์อื่น ๆ ทดแทน (สปส.2-01/7) (ไม่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน)
- ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากโควิด 19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 7,500 บาท
แต่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนว่างงาน และรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้งในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มช่องทางในการติดต่อ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคม เช่น ไปรษณีย์ โทรสาร อีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ของแต่ละจังหวัด
บริจาคช่วยโควิด-19 ลดหย่อนภาษีได้
พนักงานบริษัทที่เข้าช่วยเหลือโรงพยาบาลหรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการระบาดที่ลุกลามสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขว่า
- การบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐโดยตรงสามารถนำเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดบริจาคจริง
- การระดมทุนหรือบริจาคให้แก่มูลนิธิหรือโครงการที่จัดตั้งแยก ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้
- บริจาคให้แก่โรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
ดังนั้น การทำเรื่องลดหย่อนภาษีควรระบุและดูหลักเกณฑ์ให้ดีด้วย
คนทำงานออฟฟิศที่โดนเลิกจ้างยังรับสิทธิ์ได้เหมือนเดิม
สำหรับคนที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในตอนนี้ เช่น กรณีการเลิกจ้าง ปิดกิจการ หรือจำเป็นต้องลาออกจากงานกะทันหัน ชราภาพ ซึ่งเงื่อนไขคือเป็นเงื่อนไขสำหรับกรณีว่างงานเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้นนะคะ ใครที่เงื่อนไขข้อนี้ผ่านก็สามารถทำตามขั้นตอนนี้เลยค่ะ
>>> เข้าไปลงทะเบียน www.sso.go.th
>> กรอกแบบฟอร์มอิเลคทรอนิกส์ ตามขั้นตอนได้เลย
>>> หากท่านเป็นมาตรา 39 หรือ 40 ต้องไปลงทะเบียนที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
ประกันสังคม มาตรา 33 คือ กลุ่มลูกจ้าง พนักงานบริษัทเอกชน หรือหมายถึงกลุ่มลูกจ้างที่นายจ้างมีการจดทะเบียนบริษัทและทำงานอยู่ในสถานประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขประกันสังคม
ประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยออกจากรูปแบบบริษัทมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานอิสระ แต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประกันสังคมไว้
ประกันสังคม มาตรา 40 คือ ผู้ประกันตนที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า พนักงานอิสระ ไม่เคยทำงานในรูปแบบบริษัท ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39
แม้ว่าผู้ประกันตนที่อยู่ในมาตรา 39 และ 40 จะไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน แต่ยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้
ส่วนคนที่กังวลเกี่ยวกับการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com มีความกังวลเรื่องการตรวจสอบภาษีย้อนหลังนั้น ทางกรมสรรพากรเปิดเผยว่า อาจจะมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจะไม่มีการตรวจย้อนหลังของกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ เพราะทางสรรพากรตระหนักถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิตจากสถานการณ์นี้ สำหรับการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะขยายเวลาไปถึง 31 สิงหาคม 2563
ดังนั้น ทั้งกลุ่มพนักงานอิสระและพนักงานบริษัทก็อย่าลืมไปลงทะเบียนรับสิทธิ์และยื่นภาษีกันด้วย
ที่มา : มติชนออนไลน์ itax Kapook