We are Social เผยพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลกนับได้ว่ามีการเติบโตสูงกว่าหลายเท่าตัว โดยภาพรวมการใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกเติบโต 58.4% เพิ่มขึ้นเพียง 10.1% ขณะที่ในไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงถึง 81.2% แต่ถ้าเทียบประเทศในภูมิภาค SEA ก็ถือว่าไม่ต่างกันมากนัก
โดยคนไทยยังมีอัตราการใช้งานโซเชียลมีเดียเฉลี่ยวันละ 2.59 ชั่วโมง ทั่วโลกมีการใช้งานอยู่ที่ 2.27 ชั่วโมง ส่วนไนจีเรีย มีการใช้งานอยู่ที่ 4.07 ชั่วโมง และฟิลิปปินส์ 4.06 ชั่วโมง
ทางด้านของพฤติกรรมการใช้งานส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและไลฟ์สไตล์เป็นหลัก นั่นเพราะมนุษย์ยังคงเป็นสัตว์สังคมที่ชอบการสื่อสารและหาข้อมูลที่ตัวเองสนใจอยู่ จากภาพด้านบนจะเห็นได้ชัดว่านอกจากเรื่องของการสื่อสารแล้ว การช้อปปิ้งหรือโซเชียลคอมเมิร์ซก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้คนสนใจ
โดยนักการตลาดและแบรนด์จำเป็นต้องให้ข้อมูล นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจของแบรนด์และสื่อสารได้อย่างตรงจุด จะช่วยเพิ่มโอกาสในการจดจำ เข้าถึง และสร้างความสนใจ รวมทั้งต่อยอดโอกาสในการสั่งซื้อให้สะดวกขึ้น เพราะหากแบรนด์ของคุณน่าสนใจและมีภาพลักษณ์ที่ดีบนออนไลน์อยู่เสมอ นั่นย่อมเป็นเรื่องดีเมื่อผู้บริโภคนึกถึงและเลือกซื้อแบรนด์ของคุณก่อน
แน่นอนว่า Facebook, Youtube, Instagram และ TikTok ยังคงครองใจในการเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้ใช้งานอยูที่ 2,910 ล้านคน 2,562 ล้านคน 1,478 ล้านคนและ 1,000 ล้านคนตามลำดับ ขณะที่ WhatsApp, WeChat และ Facebook Messenger แพลตฟอร์มสำหรับการแชท ก็มีตัวเลขการใช้งานที่สูงไม่แพ้กัน
ทางด้านของแพลตฟอร์มที่ผู้คนใช้เวลาเยอะสุด คงหนีไม่พ้น Youtube ที่มีการรับชมเฉลี่ยอยู่ที่ 23.7 ชั่วโมงต่อเดือน เรียกได้ว่ารับชมเกือบทั้งวัน ส่วน Facebook และ TikTok ผู้คนใช้เวลาเท่ากันคือ 19.6 ชั่วโมงต่อเดือน อาจเพราะ Youtube มักมีคอนเทนต์ที่ยาวเฉลี่ยเกินกว่า 5 นาทีและหากคอนเทนต์น่าสนใจคนก็จะติดตามดูจนจบ ทำให้บางแชนแนลทำคอนเทนต์ยาว 1-2 ชั่วโมงก็ยังสามารถตรึงใจผู้ชมได้ดี
อย่างไรก็ตาม ยิ่งโซเชียลมีเดียครองเมืองมากเท่าไหร่ กระแสการติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มีจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ก็ยังเป็นกระแสที่คนให้ความสนใจมากเท่านั้น โดยประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในอันดับแรก ก็คือ เพื่อน คนใกล้ชิด หรือคนที่เรารู้จัก จะมาเป็นอันดับแรก แม้ว่ายอดผู้ติดตามจะไม่สูง แต่คนที่กดไลค์หรือติดตามเพจจะให้ความเชื่อถือและใช้บริการที่คนกลุ่มนี้รีวิวตามมากที่สุด
รองลงมาก็คือกลุ่มคนดัง เซเลบริตี้ นักแสดง, เพจมีม, นักร้อง นักดนตรี, รายการทีวี ตามลำดับ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ แบรนด์สินค้าหรือบริการที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ดีและน่าสนใจก็ติดอันดับการติดตามอย่างต่อเนื่องของคนบนโลกออนไลน์เช่นกัน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องต่างๆ ก็ถือว่าเป็นอีกประเภทอินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้คนสนใจ อาจเพราะมีความน่าเชื่อถือ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน รวมทั้งมีเหตุและผลประกอบความน่าเชื่อถือทำให้กลุ่มแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ กูรูด้านต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดอย่างรวดเร็ว
สุดท้ายหลายเทรนด์ที่มีการสรุปมาทำให้เห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ นักการตลาดและแบรนด์ที่ติดตามข่าวสารต่อเนื่องจะมีการรับทราบและเข้าใจในข้อมูลพวกนี้ดีอยู่แล้ว แต่การสรุปภาพรวมทั้งปี ทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่ากลยุทธ์ในการทำตลาดของปีนี้และปีต่อๆ ไป จะเดินไปในทางไหนต่อ และอะไรจะเป็นทางสว่างให้แบรนด์เดินหน้าต่อไป
ที่มา : Wearesocial, การตลาดวันละตอน