จากซ้ายไปขวา กิตติ สิงหาปัด, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, อศินา พรวศิน, สุทธิชัย หยุ่น? ขอบคุณภาพจาก ITPC
ใครที่ติดตามศึกษาบทบาทของ Social Media กับการรายงานข่าวสารข้อมูลน่าจะสนใจเรื่องราวที่เรานำเสนอวันนี้ครับ… เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา มีงาน ?รวมพลคนข่าว Social Media? ที่บ้านไร่กาแฟ เอกมัย ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากการใช้ Social Media ของ “คนข่าว”? ชื่อดังอย่าง สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการกลุ่ม Nation, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, อศินา พรวศิน ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนนักข่าวเกือบทุกสำนักข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวทาง Facebook, Twitter อย่าง กิตติ สิงหาปัด , นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์, เสถียร วิริยะพรรณพงศา มาแชร์ความคิดและประสบการณ์ในการใช้ Social Media หลายๆ อย่างน่าสนใจ และหาอ่านไม่ได้ทั่วไป
สุทธิชัย หยุ่น กับ เสถียร วิริยะพรรณพงศา: ภาพโดย @jin_nation
การเสวนาในวงกาแฟวานนี้ช่วงแรกเป็นการแชร์ประสบการณ์ของนักข่าวแต่ละคน ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน และน่าสนใจตรงที่เพิ่งรู้ว่านักข่าวหลายต่อหลายคนในที่นี้หลายคนพูดเหมือนกันว่า เริ่มแรกไม่ค่อยมีใครใช้ Social Media แต่ผู้บังคับบัญชาขององค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ก็มอบหมายให้ใช้ Social Media อย่าง Twitter ในการนำเสนอข่าวซึ่งจะส่งผลให้ขับเคลื่อนองค์กรข่าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวฯ และนักข่าวอาวุโสจากไทยรัฐ หนึ่งในผู้สร้างเว็บไซต์ Thairath.co.th ตั้งแต่ยุคแรกๆ ก็เปิดใจยอมรับตรงๆ กับผู้ร่วมเสวนาในเรื่อง Social Media ว่า
ตอนแรก “ไทยรัฐ” ก็รู้สึกว่าตัวเอง “ช้า” ไปในเรื่อง Social Media แม้แต่คอลัมนิสต์บางคนของไทยรัฐจะส่งต้นฉบับทีหนึ่งก็ยังเขียนด้วยปากกาลงกระดาษให้คนนำมาพิมพ์ต่อในคอมพิวเตอร์ และไทยรัฐน่าจะเป็นสื่อสุดท้ายที่ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ข่าวอย่างเดียว แต่ด้วยความที่โลกข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไป ทางไทยรัฐเลยเปิดบริษัทใหม่อย่าง Trend VG3 ที่แยกออกมาทำเรื่องดิจิตอลโดยเฉพาะ จากนั้นก็มีนักข่าวไอทีรุ่นใหม่ของไทยรัฐออกความเห็นตามมาอีกหลายคนว่า เพื่อการรายงานที่อัพเดตมากขึ้น ตัวเองจึงต้องใช้ Social Media อย่างแอคทีฟมากยิ่งขึ้น ไม่หยุดอยู่เพียงอะไรเดิมๆ
จากนั้นณัฏฐาได้ตั้งคำถามไปทาง สุทธิชัย หยุ่น ที่ค่อนข้างอัพเดตข่าวผ่านทาง Twitter อย่างรวดเร็วว่องไว ซึ่งบรรณาธิการอำนวยการเนชั่นก็เผยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Social Media มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในแง่ของบทบาทการนำเสนอข่าว น่าดีใจที่วงการนักวิชาการกับวงการสื่อเองก็ร่วมผลักดันให้มีการใช้งานกัน สอนและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น โดยทางเนชั่นเองภายในก็มีการแจกคู่มือจริยธรรมของนักข่าวของเนชั่นว่า จะต้องใช้ Social Media อย่างไร
จากนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นนักข่าวรุ่นเด็กๆ และรุ่นกลางๆ ถามนักข่าวผู้ใหญ่ อย่างเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะนักข่าวบางคนก็เริ่มสับสนเหมือนกันระหว่าง การนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัว กับการนำเสนอข้อเท็จจริง ของข่าว ซึ่งในเรื่องนี้ สุทธิชัย หยุ่นได้แชร์ว่า “ใน Social Media นักข่าวจะต้องระวังความคิดเห็นส่วนตัวเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะคนรับสารไม่ได้แยกว่าอันไหนส่วนตัว อันไหนฐานะนักข่าว นักข่าวจะไม่มีความเป็นส่วนตัวใน Social Media ทุกคนมีสิทธิเอาไปพูดต่อได้ นักข่าวทุกคนต้องยอมรับเมื่อได้พูดออกไป… เมื่อคุณจะมีความเป็นส่วนตัว คุณต้องแยก Account ออกไป มันบอกกับคนรับสารไม่ได้… นอกจากเนื้อหาข่าว นักข่าวต้องเก็บบรรยากาศ สีสัน มาทวีตด้วยซึ่งสิ่งเหล่านี้บางทีไม่ได้ลงข่าว”
ส่วนทางด้าน กิตติ สิงหาปัด นักข่าวมากประสบการณ์ ล่าสุดกับข่าว 3 มิติก็แชร์ว่า “ผมไม่ใช้ Twitter เพื่อการส่วนตัว แต่ผมจะใช้ Twitter รายงานข่าว เพราะบางทีการทวีตเรื่องส่วนตัว อย่างผมไปกินข้าวอะไรที่ไหน Follower ของผมไม่ค่อยได้อะไร อย่างการที่ผมมาแชร์เรื่องวันนี้ผมก็ไม่ได้ทวีตบอกใคร… ส่วนตัวแล้วเวลาใช้ Twitter ก็ใช้ในการรับข่าวด้วย เช่น มักจะมีคนดูรายการส่งเบาะแสเข้ามาว่ามีข่าวไหนน่าไปทำ ก็จะเลือกและตามไปทำข่าว”
จากนั้นณัฎฐาก็ถามไปทาง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในเชิงของการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ดร.มานะก็เผยว่าตอนนี้ตัวเองกำลังพยายามผลักดันให้นักศึกษาใช้ Social Media ในการทำข่าวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างตั้งแต่การคิดประเด็นข่าว การสำรวจเทรนด์ แง่มุมข่าว การหาแหล่งข่าว การร่วมมือกันระหว่างนักข่าวมืออาชีพ กับนักข่าวพลเมือง ในอนาคตจะต้องมี Social Media Editor ที่ทำงานร่วมกับนักข่าวในพื้นที่ อย่างเช่น เฮลิคอปเตอร์ตก ก็ต้องมีคนในพื้นที่ทำงานร่วมกับนักข่าวที่สำนักข่าว ต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องการใช้ Social Media มาทำงานมากขึ้น อย่างในต่างประเทศ 97% ของนักข่าวใช้ Social Media ในการทำงานข่าวแล้ว ดังนั้นเราจึงอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่มิติใหม่ของการทำข่าวที่มีมิติลุ่มลึกมากขึ้น
หลังจากนั้นก็จบช่วงแรก เข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่เป็นการแชร์กลเม็ดการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก Social Media เพื่องานข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Media อย่าง อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ จาก Pantip.com และเมธา เกรียงปริญญากิจ จาก Facebookgoo.com ซึ่งวิทยากรทั้งสองคนได้แชร์ว่า Social Media เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการทำข่าวมาก พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคในการสร้าง Twitter List ที่ใช้ในการติดตามบทสนทนาของแหล่งข่าวออนไลน์ ตลอดจนเว็บไซต์ที่ใช้ติดตามดูเทรนด์ของข่าว เช่น Lab.in.th/thaitrend และ Zanroo.com นอกจากนี้ ทั้งสองคนกล่าวตรงกันอย่างหนึ่งว่า Social Media เป็นสื่อที่เราจะต้องสร้างความน่าติดตามให้กับผู้รับสาร อย่าง Facebook ใช้ในการ “คุยข่าว” ในเชิงพูดคุย ตั้งคำถาม แชร์ความรู้สึกส่วนตัว ในแบบ “เปิดโอกาสให้คนโต้ตอบ” กับสิ่งที่เราคิดมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแชร์เนื้อหาที่หาไม่ได้จากที่ไหน เช่น ภาพเบื้องหลังข่าวที่เราถ่ายได้เอง ส่วน Twitter จะเหมาะกับการใช้ “รายงานข่าว” และโต้ตอบได้ฉับไว เน้นการอัพเดตแบบ Realtime
จากที่เฝ้าติดตามงานมาทั้งหมด เราพบว่ามันถึงเวลาแล้วที่นักข่าวจะต้อง “เอาจริง” กับการใช้ Social Media ในการ “ทำข่าว” ไม่ใช่เพียงแค่ “นำเสนอข่าว” ในแบบทำข่าวอะไรมาก็นำมาส่งผ่านทาง Facebook และ Twitter แต่สิ่งที่นักข่าวจะต้องทำก็คือ คิดใหม่ทำใหม่ทั้งกระบวนการตั้งแต่ สืบตามดูเทรนด์ข่าวออนไลน์ หาแหล่งข่าวออนไลน์ อ้างอิงแหล่งข่าว สืบประวัติบุคคล และนำเสนอผ่านทาง Social Media ให้ถูกจริตผู้รับสารในแต่ละช่องทาง เพื่อให้ข่าวที่ตัวเองนำเสนอนั้นถูกต้องน่าเชื่อถือ ฉับไว และเจาะลึก อันเป็นหัวใจของการนำเสนอข่าวสารข้อมูล
ชมภาพบรรยากาศในงานดูเป็นแบบกันเองได้นะครับ จะสังเกตได้ว่ามีเสียงบรรยากาศครื้นเครง ออกมาเป็นระยะๆ และผู้เข้าร่วมทุกคนก็ได้รับ “เทคนิคการทำข่าว” ตั้งแต่ “ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ด้วย Social Media” มากพอสมควร และปิดท้ายด้วยดนตรีเพราะๆ จากวง iHear