Site icon Thumbsup

“ประกันสังคม” สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานต้องรู้

สิทธิประกันสังคม เป็นการออมเงินภาคบังคับผ่านกองทุนของรัฐบาลสำหรับประชาชนวัยทำงานเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบว่าจะได้รับประโยชน์ทดแทน มีความมั่นคง มีเงินเก็บยามชราและเป็นหลักประกันในยามที่ลูกจ้างต้องประสบปัญหาจากภาวะอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือตาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงานจะสามารถมีเงินสำรองในการใช้ชีวิตต่อไปได้

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมนั้น มี 3 กลุ่มคือ ผู้ประกันตน นายจ้างและรัฐบาล โดยกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิ์ประกันตน ต้องเป็นพนักงานเอกชน มนุษย์เงินเดือนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยลูกจ้างจะเป็นผู้ส่งเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 750 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยทำงานประจำตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 1 ปีแต่ลาออกจากงาน ไม่ได้ทำงานประจำแล้วแต่ยังต้องการจ่ายเงินสมทบตามกฏหมาย หรือเป็นผู้ที่สมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม

ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือบุคคลทั่วไปที่ทำอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ก่อสร้าง ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ เป็นต้น และกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องไม่เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 หรือ 39 แต่สมัครใจเข้าระบบประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

สิทธิประโยชน์หลักที่ได้จากการเป็นผู้ประกันตน

    1. เจ็บป่วยเบิกได้ชัวร์ : หลายโรงพยาบาลได้จัดโซนพิเศษสำหรับผู้ประกันตนให้รักษาได้ฟรี โดยเราสามารถเลือกใช้สิทธิ์นี้ ร่วมกับบัตรประกันสุขภาพอื่นๆ ที่ทำร่วมกับบริษัทประกันชีวิตได้ โดยจะเป็นการเบิกสมทบเพิ่มเติม ทำให้ได้สิทธิ์คุ้มครองมากขึ้นกว่าเดิม
    2. กรณีเบิกผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหารโรงพยาบาลรัฐบาล เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท โรงพยาบาลเอกชน เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท (ห้องไอซียู 4,500 บาท/วัน)
    3. ทำฟัน เช่น ฟันผุ อุดฟัน ขูดหินปูน เบิกได้ 900 บาท/ครั้ง/ปี
    4. หากเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต
    5. กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์เสียชีวิตเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เท่าของเงินเดือน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ)

ตั้งครรภ์-เกษียณ ก็ได้รับสิทธิ์

      1. หากจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาท/ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) ผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
      2. สำหรับบุตรที่อายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 600 บาท (สูงสุด 3 คน/ครั้ง)
      3. กรณีว่างงาน (ที่ไม่ใช่การถูกเลิกจ้างในการทุจริตหรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย) จะได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 180 วัน คำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท) กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 90 วัน คำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท)
      4. กรณีบำนาญชราภาพ ต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงิน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ประมาณ 3,000 บาท/เดือน) แต่ถ้าจ่ายเกิน 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือน
      5. บำเหน็จชราภาพ ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบพร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักประกันสังคมประกาศกำหนด ในกรณีที่ผู้รับเงินบำนาญเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้รับสิทธิ์บำนาญชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์หรือการลดหย่อนในแต่ละปีมักจะมีปรับเปลี่ยนให้ตามสถานการณ์ เช่น วิกฤตโควิด-19 ก็จะมีการลดการจ่ายเบี้ยประกันและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจเช็คโควิด ดังนั้นควรติดตามข่าวและการอัพเดทสิทธิ์ที่ให้ใช้ประโยชน์กันเรื่อยๆ ทุกปีนะคะ

สรุปวิธีลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” สำหรับประชาชนและร้านค้า