ในยุคที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงโซเชียลมีเดียและเป็นเครื่องมือที่ใช้ผสมผสานกับหลากหลายสิ่งมากมายเต็มไปหมดไม่เว้นแม้แต่สื่อรูปแบบเดิมอย่างทีวี ซึ่งทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือ ?โซเชียล ทีวี? อันเป็นการพูดถึงการนำเอาเทคโนโลยีโดยรอบ มาใช้ในการโปรโมทและสร้างการมีส่วนร่วมกับรายการต่างๆ ได้
ผู้ใช้ที่กำลังรับชมรายการอยู่สามารถพูดคุยและมีส่วนร่วมกับรายการ เสมือนคุณกำลังนั่งรับชมรายการโดยมีเพื่อนนั่งอยู่ข้างๆ แต่กรณีนี้เพื่อนของคุณสามารถมาจากแห่งหนใดก็ได้จากทั่วทุกมุมโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ในฟากของผู้ผลิตรายการจะทำให้สามารถวัดพฤติกรรมและความสนใจของผู้ชมในแต่ละช่วงของรายการได้โดยตรง และส่งผลดีถึงนักโฆษณาที่ต้องการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย
ในต่างประเทศคนให้ความสนใจคำว่า ?โซเชียล ทีวี? มาสักพักหนึ่งแล้ว นี่คือตัวอย่าง
- ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อครั้ง Channel 4 เปิดตัว 4Seven จะเปิดให้มีการนำรายการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรอบ 7 วัน ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter, Facebook กลับมาฉายซ้ำ
- The X Factor รายการเรียลลิตีโชว์ชื่อดังใช้ Twitter #Hashtag ในการสร้างกระแสซึ่งทำให้ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากในวันที่เปิดตัวด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงถึง 1.4 ล้านคอนเมนต์ ?สูงกว่าเดิมถึง 624% เมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อน กลายเป็นรายการอันดับหนึ่งประเภททีวีซีรีย์ที่ถูกพูดถึงผ่านทางโซเชียลมีเดีย
สำหรับปี 2013 หลายๆ คนก็คิดกันว่าทิศทางของโซเชียลทีวีจะเป็นอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญจาก Mindshare ได้แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งนี้ว่า การเติบโตของ Tablets ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรุ่น Tablet ขนาดเล็กทั้งหลายจากทั้งระบบปฏิบัติการณ์ iOS (iPad Mini) และ Android (อาทิเช่น Samsung) จะเป็นตัวผลักดันสำคัญให้โซเชียล ทีวีเติบโตขึ้น เราจะได้เห็นผู้ผลิตรายการทีวีทำรายการที่ช่วยกันเสริมให้คนมีส่วนร่วมกับรายการมากขึ้น
Andrew Der นักกลยุทธ์ดิจิตอลและนวัตกรรมกล่าวว่า ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายที่จับตลาดนี้อยู่ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างชุมชนอย่าง GetGlue ที่คนดูสามารถ Check-in รายการที่ตนเองดูพร้อมกับรีวิว หรือจะเป็นกลุ่มคอมเมิร์ซอย่าง Shazam ตัวเขาเองคาดหวังจะได้เห็นทั้งผู้ผลิตรายการ และนักโฆษณาดึงความสามารถจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มาประยุกต์ใช้
คนไทยเรียนรู้อะไร?
ฟังดูแล้ว เราอาจคิดว่าไกลตัวสำหรับบ้านเรา แต่อันที่จริงมันค่อยๆ เข้ามาสู่ผู้ใช้บนโลกออนไลน์ของใครหลายๆ คนอย่างไม่รู้ตัว เราอาจได้เห็นการประกวดร้องเพลง และมีคนแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Twitter #Hashtag หรือพูดคุยผ่านทาง Facebook ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ, ช่อง Nation หนึ่งในสื่อรายใหญ่ของไทยก็ออกมาประกาศถึงทิศทางที่กำลังก้าวไปคือ ?โซเชียล ทีวี? นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นจากฝีมือคนไทยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับรายการทีวีโดยเฉพาะอย่าง ChatterBox บน iPhone เป็นต้น แต่ก็ยอมรับว่าบ้านเรายังคงเป็นที่รู้จักในวงแคบมาก
สำหรับผู้เขียนแล้ว คำว่า ?โซเชียล? ทีวี? หรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้ชมโดยตรง แต่มันคือ เครื่องมือที่สามารถสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ต่างหาก เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสในการเข้าใจผู้บริโภค และช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ สุดท้ายแล้วผู้จัดรายการต่างๆ?ในบ้านเราควรลองดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือคนกลุ่มไหน มีจำนวนมากน้อยเพียงใดที่จะใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสาร ถ้าเครื่องมือเหล่านี้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของเราและให้ประโยชน์ได้ก็น่าสนใจไม่น้อย