SoftBank ยักษ์ใหญ่แห่งโลกโทรคมนาคมจากญี่ปุ่นยังคงบุกหนักในตลาดสหรัญอเมริกา หลังจากที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ Sprint หนึ่งใน 4 ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือชั้นนำของอเมริกา ล่าสุด SoftBank เตรียมเข้าซื้อกิจการของ T-Mobile US อีกรายแล้ว ซึ่งหากการเจรจานี้จบลงไปจริง SoftBank จะกลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 2 ของโลกทันที
แผนการเข้าซื้อกิจการ T-Mobile US ของ SoftBank นี้ถือว่าเป็นอีกก้าวใหญ่ที่ตามการซื้อกิจการ Sprint มาติดๆ (มูลค่าการเข้าครอบครองกิจการ Sprint คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 21,600 ล้านเหรียญ หรือราว 690,000 ล้านบาท) ซึ่ง SoftBank เองได้มองไว้ว่าจะใช้ Sprint ที่เพิ่งได้มาเป็นหน่วยงานที่เข้าไปซื้อกิจการ T-Mobile US แทน ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น การเข้าครอบครองกิจการนี้น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญ หรือราว 640,000 ล้านบาท
การควบควมกิจการทั้ง 2 ผู้ให้บริการนี้ หากสำเร็จตามเป้าหมายจะส่งผลให้ SoftBank กลายเป็นผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมอันดับ 2 ของโลกเมื่อดูจากรายได้รวม (ปัจจุบันอันดับ 1 ได้แก่ China Mobile จากจีน ด้วยรายได้รวมมากกว่า 90,000 ล้านเหรียญต่อปี หรือราว 2.9 ล้านล้านบาท) และจะแซงหน้าอีก 2 ยักษ์ใหญ่ในตลาดอเมริกาอย่าง Verizon และ AT&T ทันที นอกจากนั้นก้าวสำคัญนี้จะตอบโจทย์ที่ CEO ของ SoftBank ที่ชื่อ Masayoshi Son ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นั่นคือการเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของการเข้าครอบครองกิจการในครั้งนี้อยู่ที่ข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการผูกขาดในตลาด ซึ่งการเข้าซื้อ 2 ผู้ให้บริการรายใหญ่อาจจะทำให้ SoftBank เข้าข่ายผูกขาดตลาดหรือขัดต่อการส่งเสริมให้มีการแข่งขันโดยเสรี แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ให้บริการในปัจจุบันจะมีความต้องการและความพยายามที่จะควบรวมกิจการกันอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพยายามดังกล่าวก็คือการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและลดต้นทุนที่แต่ละรายจะต้องลงทุนเองทั้งหมดซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก
รายละเอียดล่าสุดระบุว่า SoftBank ได้มีการเจรจากับ 5 ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นแล้วเพื่อหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการระดมทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการ T-Mobile US ในครั้งนี้
ความเห็นผู้แปล
การควบรวมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นแนวคิดที่มีให้เห็นในทุกประเทศที่มีฐานผู้ใช้ค่อนข้างสูงและมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ปัจจัยสำคัญคือต้นทุนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่มีมูลค่าสูงมากและแต่ละโครงข่ายต้องลงทุนเหมือนๆ กัน การควบรวมกิจการจะเป็นการแบ่งปันทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้มีทุนในการขยายส่วนอื่นๆ ซึ่งในประเทศไทยของเราเองก็เคยมีแนวคิดดังกล่างเช่นกัน แม้จะไม่มีความพยายามที่ชัดเจนในการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยเรื่องผลประโยชน์และแหล่งสัมปทานที่ไม่เอื้อให้สามารถดำเนินการได้
หากข้ามมามองที่ตลาดโลก China Mobile ยังคงเป็นอันดับ 1 ที่ทิ้งห่างรายอื่นๆ พอสมควรเนื่องจากฐานผู้ใช้ในจีนที่มีจำนวนมหาศาล ความน่าสนใจคือจากตารางสรุปอันดับผู้ให้บริการด้านล่างเราจะไม่เห็นรายชื่อของ SoftBank ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก แต่การเข้ามาควบรวมกับ Sprint และหากการเข้ารวมกับ T-Mobile US เป็นจริง มูลค่ารวมทางด้านรายได้ของกลุ่ม SoftBank จะแซงหน้า SingTel จากสิงคโปร์ขึ้นเป็นอับดับ 2 ทันที รวมถึงเป็นการแซงหน้า NTT Docomo และ KDDI จากญี่ปุ่นด้วยกันเองด้วย ซึ่งฐานที่ใหญ่ขึ้นในพริบตานี้จะมาพร้อมทั้งโอกาสอันมหาศาลทั้งการลงทุน การเจาะตลาดอเมริกาเอง รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้าน know-how และเงินลงทุน แต่ในทางตรงกันข้าม ความท้าทายหลายๆ ด้านก็จะเกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจัดการองค์กรที่ใหญ่ขึ้นในพริบตาที่จะมีความขัดแย้งในการรวมทีมต่างๆ เข้าด้วยกัน การจัดการวัฒนธรรมองค์กร หรือแม้แต่การจัดการด้านระบบหลังบ้านและเทคโนโลยีที่แตกต่างกันมาก ซึ่งยังไม่นับเรื่องของการตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือการปล่อยให้แต่ละผู้ให้บริการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระต่อไปภายใต้ทิศทางใหญ่เดียวกันแทน ซึ่งแน่นอนว่าการควบรวมในครั้งนี้จะไม่ง่ายเหมือนกรณี Sprint ที่ผ่านมาแน่นอน ต้องติดตามกันต่อครับ
การจัดอันดับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือของโลกตามรายได้และจำนวนผู้ใช้เมื่อไตรมาส 1 ของปี 2013 จาก Mobile World Live
ที่มา: The New York Times