ในวันที่ธุรกิจการเงินการธนาคาร, ประกันภัย, ยานยนต์, โฆษณา, ค้าปลีก, การแพทย์, การศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ กำลังมุ่งสู่การทำ Digital Transformation กันอย่างดุเดือดเพื่อตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลนั้น สิ่งที่ดุเดือดยิ่งกว่าที่ปรากฏอยู่ ณ ฉากหน้า อาจเป็นตลาด “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” ก็เป็นได้
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเทรนด์การทำ Digital Transformation ที่องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการจะมุ่งไป ใครไม่ทำเท่ากับตกขบวนนั้น ได้สะท้อนภาพของประเทศไทยที่ขาดแคลนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในสาขาต่าง ๆ ออกมาสู่สายตาชาวโลกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้โดยการผลิตนักศึกษาในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ออกมาให้ได้มาก ๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันอาจต้องแก้โดยการมองภาพของตลาดนี้ในองค์รวม และต้องคิดถึงรูปแบบการแข่งขันในตลาดร่วมด้วย กล่าวคือ
- ทุกวันนี้ธุรกิจแข่งขันสูงมาก การมีทีมนักพัฒนาจำนวนเท่า ๆ กัน รู้เทคโนโลยีเท่า ๆ กัน ยังไม่อาจเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าจะสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาได้โดยมีประสิทธิภาพพอ ๆ กัน
- สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ การวางแผนพลาด หรือการเปิดตัวช้ากว่าคู่แข่งแค่วันเดียว สามารถเป็นตัวตัดสินสถานะผู้นำผู้ตามในตลาดได้
- องค์กรขนาดใหญ่มีความเทอะทะ และไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือให้เข้าทำงานได้อีกต่อไป
- นักศึกษาสายเทคโนโลยีที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจทำงานในสายนักพัฒนา โดยสนใจเป็นนักวิเคราะห์ระบบ หรือนักทดสอบโปรแกรมมากกว่า ทำให้แนวคิดในการผลิตนักศึกษาสายไอทีออกมาให้ได้มาก ๆ อาจไม่ได้คนทำงานจริงตามที่ต้องการ
- คนยุคใหม่มีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ก็สามารถเติบโตได้ในสายอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์
จากภาพของตลาดการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่แข่งกันดุเดือด และมีปัญหายิบย่อยซ่อนอยู่มากมายนี้ ในมุมของผู้คร่ำหวอดในวงการนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แถมยังเป็นคนไทยในทีมผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Mendix จากประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างคุณปนายุ ศิริกระจ่างศรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัททีบีเอ็น ซอฟต์แวร์ จึงออกมาให้ทัศนะว่า
“Thailand 4.0 เป็นตัว Drive ที่ดีสำหรับธุรกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่ปัญหาของฝ่ายไอทีในปัจจุบันคือเรายังอยู่บนแพลตฟอร์ม หรือรูปแบบการพัฒนาแบบเก่า ๆ อยู่ ทำให้ไม่สามารถก้าวไปกับยุคใหม่ได้ นอกจากนั้นยังอาจต้องเสียเวลามากขึ้นในการดูแลรักษาระบบเก่าที่ไม่ได้มาตรฐาน กลายเป็นต้นทุนขององค์กรไปอีกทางด้วย”
“เทรนด์ของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคต่อไปจะมีการใช้เครื่องมือ หรือระบบอัตโนมัติเข้าช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เสร็จเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ฝ่ายไอทีสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้ ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวจะเข้ามาเปลี่ยนภาพของโปรแกรมเมอร์จากเดิมที่เคยเขียนโค้ดหน้าดำคร่ำเครียด มาสู่การพัฒนาบนแพลตฟอร์มที่ใช้เพียงการวาด Flowchart ระบบก็สามารถ Generate ซอร์สโค้ดออกมาได้ เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลได้ สร้างแบบฟอร์มต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถ Publish ได้ภายในเวลาสั้น ๆ”
เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากคุณปนายุมองว่า ในอนาคต จะมีเทคโนโลยีเกิดใหม่อีกมากมายถาโถมเข้ามา ซึ่งมนุษย์จะมีเวลาน้อยลงเรื่อย ๆ ในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่เหล่านั้น หรือการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น AI, Machine Learning, Big Data หรือ IoT ที่ตอนนี้เชื่อว่ามีนักพัฒนาในภาคธุรกิจหลายคนยังไม่มีเวลาศึกษาได้มากพอ เนื่องจากมีงานล้นมือมากเกินไป
นักพัฒนายุคต่อไปเน้น “ความคิดสร้างสรรค์”
คุณปนายุให้ทัศนะว่า จากรูปแบบการแข่งขันที่จะค่อย ๆ รุนแรงและกดดันมากขึ้นนี้ ถ้านักพัฒนาไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ก็จะมีการนำระบบอัตโนมัติหรือ AI เข้ามาแทนที่มากขึ้น เว้นแค่สิ่งเดียวที่ AI ยังทำได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับมนุษย์ นั่นคือ “ความคิดสร้างสรรค์”
“สกิลหลาย ๆ อย่างจะเปลี่ยนไป จากที่ต้องเรียนเขียนโปรแกรม ตอนนี้ระบบอัตโนมัติเริ่มเข้ามาทำแทนได้หมดแล้ว โปรแกรมเมอร์ในยุคต่อไปจึงอาจมีแค่ไอเดียที่ดี สามารถคิดเป็นระบบได้ ก็สามารถพัฒนาโปรแกรมได้แล้ว ซึ่งแนวคิดนั้นได้นำไปสู่เทรนด์ใหม่อย่าง “Citizen Developer” หรือก็คือการที่ใคร ๆ ก็เป็นนักพัฒนาได้”
“ในจุดนี้เราอาจเห็นได้ว่า ในสาขาอื่น ๆ นั้นค่อนข้างนำหน้าไปไกลแล้ว เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่มีชิ้นส่วนพร้อมประกอบเป็นตัวบ้านได้เลย ไม่ต้องมานั่งก่ออิฐทีละก้อนอีกต่อไป แต่สาขาการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นต้องบอกว่าเพิ่งเริ่มเข้าสู่การทำงานแบบอัตโนมัติ”
โดยคุณปนายุยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงแนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ควรมุ่งไปในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้านี้ด้วยว่า อาจเป็นเรื่องของ Open Platform ต่างๆ รวมถึงการโฟกัสเรื่อง Hybrid Mobile ให้มากขึ้น และศึกษาเรื่องการพัฒนา Smart Application ยกตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรให้ใช้ AI ได้ง่ายขึ้น หรือทำ Facial Scanning – IoT ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง