Site icon Thumbsup

ทางรอดวงการเอเจนซี่ในช่วง COVID-19

ในช่วงของการระบาด COVID-19 ทำให้ธุรกิจเอเจนซีต่างก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยและเหตุการณ์ที่ปรับเปลี่ยนทุกวัน ทีมงาน thumbsup ได้สรุปข้อแนะนำให้แก่ภาคธุรกิจ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมรับมือกับปัญหาได้ทัน

Rabbit Digital Group

– แนะนำตัว บริษัท และตำแหน่ง

สวัสดีครับ สุนาถ ธนสารอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป ครับ

– ช่วงสถานการณ์แบบนี้ มองว่าอะไรที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

ผมมองว่าเอเจนซี่ต่างก็ต้องมองหา Solution ใหม่ๆ เพื่อการทำงานร่วมกับเอเจนซี Partner ตามแต่ละธุรกิจจริงๆ หรือหากไม่สามารถทำกิจกรรมทางการตลาดอะไรได้ ก็เป็นโอกาสที่จะปรับองค์กร กลับมาดูหลังบ้านว่าอะไรที่เราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ จากปกติที่เรายุ่งจนไม่มีเวลาทำ รวมถึงการพัฒนาตัวเองผ่าน Online Course ต่างๆ เพราะในตอนนี้ก็มีเวลาในการเตรียมตัวสำหรับการ Reactivate แล้ว

– อยากให้แนะนำโซลูชั่นของบริษัทที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ขอสรุปเป็น 4 อย่างดังนี้ครับ

  1. Interactive LIVE Solutions การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะ Retail และ Event ผ่าน Interactive LIVE Solutions ที่ทั้งสามารถสื่อสาร โต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ และเกิดการซื้อขายได้โดยไม่ต้องมาที่หน้าร้าน
  2. Direct Sales & E-commerce Solutions ผ่าน Performance Marketing และ Cross-Channel Marketing ทั้งในแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจ Delivery และ Retail
  3. Re-activation Solutions เตรียมความพร้อมให้กับแบรนด์และธุรกิจเพื่อให้พร้อมในการสื่อสารอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง
  4. Foundation Restructure สำหรับบางธุรกิจอาจเป็นเวลาที่ดีที่จะหันกลับมาขันน๊อตหลังบ้าน เตรียมพร้อมระบบพื้นฐานต่างๆ ทั้ง Digital Infrastructure, Platform, Data และ Tools ต่างๆ

– แนวคิดหรือคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่กำลังหาทางรอด

ผมอยากให้ทุกคนตั้งสติ ประเมินสถานการณ์ กลับมาดูตัวเราเอง ปรับตัว และหาลู่ทางใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนที่จะเปลี่ยนไปอย่างถาวร เรียกว่าเป็น New Normal ที่เราต้องเรียนรู้สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ครับ เช่น ต่อไปบริษัทอาจจะลดการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ เพราะการทำงานที่บ้าน Effective กว่า หรือการประชุมแบบออนไลน์อาจจะช่วยย่นเวลาการเดินทางที่ช่วยลดมลภาวะและสื่อสารได้สะดวกขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละเอเจนซี่ต้องวางแผนรับมือกันให้ดีครับ

 

Advocrazy

– แนะนำตัว บริษัท และตำแหน่ง

เกื้อกูณ วงศ์ตระกูลเล็ก MD เอ็มดีบริษัท แอดโวเคซี่ (Advocrazy)

– ช่วงสถานการณ์แบบนี้ มองว่าอะไรที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

ตอนนี้เราทุกคนเจอปัญหาตั้งแต่ต้นปี ทั้งสหรัฐไปแจกระเบิดเขา ฝุ่นก็หนักขึ้นเรื่อยๆ และหนักสุดคือโรคระบาด ที่ยังแพร่เชื้อและยังไม่ถึงจุดที่หยุดยั้งได้ ทั้งหมดนี้ เกิดผลกระทบกับคนทำธุรกิจและทุกภาคส่วน เรียกว่าเป็น issue ระดับโลก เพราะเจอทุกคน แต่เอเจนซี่อย่างเราจะเอาตัวรอดอย่างไรนั้น

ผมอยากจะให้มองว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ ส่วนใหญ่อาจจะยังปรับตัวไม่ทันเพราะมาแบบกะทันหันและกระทบทุกด้าน ทั้งลูกค้า พนักงาน ซัพพลายเออร์ ดังนั้นอยากให้ใจเย็นและทำความเข้าใจในสถานการณ์ก่อนว่า ทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง

ยิ่งงานเอเจนซี่จะพบเจอผู้คนเยอะ จังหวะนี้แทนที่จะคิดว่าจะหารายได้เข้ามายังไง อยากให้คิดว่าเพื่อนเราจะรอดไปด้วยกันไหม ร่วมมือและช่วยเหลือกันดีกว่า ไม่ว่าจะเพื่อนทางธุรกิจ ลูกค้า พาร์ทเนอร์ เพราะถ้าเรารอดแต่คนเหล่านั้นไม่รอดแล้วจะหาเงินจากไหน

ถ้าเราเก่งที่สุดแต่ไม่มีคนมาขอใช้บริการก็ไม่มีประโยชน์ที่จะรอดอยู่คนเดียว การเหลือรอดอยู่นานกว่าก็แค่ตายช้ากว่าเท่านั้น วิธี surviver ที่ดีที่สุด คือ หาทางรอดไปด้วยกัน

– อยากให้แนะนำโซลูชั่นของบริษัทที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ตอนนี้ทุกคนหันไปใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซเป็นหลัก เพราะไม่อยากออกนอกบ้าน เราก็ต้องเปลี่ยนช่องทางการขายจากเดิมที่เน้นแต่ on ground หรือ on site ตอนนี้ให้มาใช้เป็น online ทันที แต่ปัญหาก็คือเราพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ยังไม่พร้อม move มาออนไลน์ แบ่งเป็น

ซึ่งการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจแต่ละกลุ่มมากมายของ Advocrazy ทำให้เราทราบว่าจุดแข็งของเราคือการเป็นที่ปรึกษาด้านความรู้ออนไลน์มากกว่าแค่เป็นเอเจนซี่ที่ทำเครื่องมือการตลาดให้เขาเพียงแง่เดียว การเข้าไปหาลูกค้าแบบ 1-1 อาจช้ากว่าจะเข้าถึงธุรกิจทั้งหมด แต่ถ้าทุกเอเจนซี่ร่วมมือกันเชื่อว่าจะพยุงภาคธุรกิจในประเทศให้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการหยุดชะงักได้

– แนวคิดหรือคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่กำลังหาทางรอด

สิ่งที่บริษัททำคือ บอกความจริงกับลูกค้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้เขามองหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักเรา และหาเราเจอบนโลกออนไลน์ เรื่องที่อยากแนะนำก็คือ อยากให้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ออนไลน์ มองหาพาร์ทเนอร์ที่จะตอบโจทย์การทำงานในยุค work from home ดึงคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์มาช่วยให้เราเข้าถึงออนไลน์ เพราะคนเหล่านี้เขาโตมากับโลกนี้

เพราะไม่รู้ว่าปัญหาเรื่องไวรัสจะจบลงเมื่อไหร่ ถ้ารอกลางปีหรือสิ้นปีจะยิ่งลำบาก เพราะลูกค้าหันเข้าสู่โลกออนไลน์กันหมดแล้ว พฤติกรรมการจับจ่ายแบบออฟไลน์จะย้ายไปออนไลน์เกือบหมด เรายิ่งต้องเพิ่มการลงทุนด้านนี้ให้ทัน พัฒนาเว็บไซต์ให้ซื้อขายได้ โปรโมชั่นกระตุ้นการซื้อบนช่องทางออนไลน์ ถ้าทำไม่เป็นก็หาพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจได้ แต่ก็ควรมีคนภายในช่วยเรื่องพวกนี้ได้จะดีกว่า

Media Intelligence

– แนะนำตัว บริษัท และตำแหน่ง

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา Media Intelligence (หรือ MI) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ Media Insight

– ช่วงสถานการณ์แบบนี้ มองว่าอะไรที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับ Media Agency อย่าง MI เราได้เฝ้าติดตาม ประเมินและปรับแผนการใช้สื่อโฆษณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ร่วมกับลูกค้าของเรามาระยะหนึ่งแล้ว โดยเราได้แนะนำลูกค้าที่สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ให้รีบปรับแผนการใช้สื่อ ส่วนผสมสื่อ (media mix) และลดงบประมาณ ตามปัจจัยที่ได้รับผลกระทบของแต่ละแบรนด์ ดีกว่าปล่อยให้ถูกใช้ไป แต่ไม่ส่งเสริมยอดขายแต่อย่างใด เพื่อให้ลูกค้าผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ลูกค้ารอด…เรารอด”

เราได้จัดทำ “แนวทางดำเนินการเพื่อปรับแผนงานสื่อสารทางการตลาดในสถานการณ์ไวรัส Covid-19″ เพื่อเป็นคู่มือเบื้องต้นให้กับนักการตลาด สื่อสารการตลาดทุกราย ไม่เฉพาะลูกค้าของ MI เท่านั้น คู่มือนี้จะให้แนวทางกับสินค้าและบริการในแต่ละหมวด ที่ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปในสถานการณ์วิกฤต Covid-19 นี้

– อยากให้แนะนำโซลูชั่นของบริษัทที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ทาง MI สรุปแนวคิดที่อาจใช้เพื่อการอยู่รอด ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจหรือกลุ่มสาขาอาชีพประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่เพื่อคนไทยทุกคน ดังนี้

แนวคิด 3As (AAA)

จากแนวคิด 3AAAs ของทาง MI เป็นเพียงแนวคิด/ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ แต่สำหรับพนักงานและลูกจ้างขององค์กร ก็จำเป็นต้องตระหนักและปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

– แนวคิดหรือคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่กำลังหาทางรอด

หากเป็นคำแนะนำทางด้านของพนักงานและลูกจ้าง จำเป็นต้องเพิ่มพูนศักยภาพของตนเองและประสิทธิภาพของงาน ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา มองหาโอกาสและช่องทางสำหรับรายได้ใหม่ๆ ให้คิดว่าองค์กรก็คือครอบครัว ธุรกิจขององค์การก็เหมือนธุรกิจของครอบครัว หากธุรกิจไม่รอด…เราจะรอดได้อย่างไร และยิ่งในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่มีวิกฤต Covid-19 มาซ้ำเติม

การเพิ่มรายได้หรือรักษาระดับของรายได้เป็นเรื่องยากที่สุด แต่เราสามารถช่วยกันได้โดยการลดค่าใช้จ่ายที่อาจไม่จำเป็น หรือหากองค์กรจำเป็นต้องออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่รอด การเพิ่มบทบาทภาระหน้าที่ การลดเงินเดือน ลดวันทำงาน ลาแบบไม่รับเงิน แบบสมเหตุสมผล อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พนักงานและลูกจ้างสามารถแสดงความมีส่วนร่วมและเสียสละเพื่อให้องค์กรของเราสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

Wunderman Thompson Thailand

– แนะนำตัว บริษัท และตำแหน่ง

มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย

– ช่วงสถานการณ์แบบนี้ มองว่าอะไรที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

เราเชื่อว่าสภาวะเศรษกิจที่ตกต่ำจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ต่างๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จในการพาตัวเองให้รอดพ้นวิกฤติ

พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยพบว่าคนไทยได้งดหรือลดการออกไปอยู่ในที่สาธารณะลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การไปสวนสาธารณะ/สนามเด็กเล่น ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เราจึงอาจคาดการณ์ได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล่านี้อย่างแน่นอน

ประการที่สอง ผู้บริโภคเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 ด้วยเช่นกัน โดยคนไทยถึง 46% ห่วงกังวลว่าในครั้งนี้เศรษฐกิจจะถดถอยไปอีกนาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก เราจึงอาจคาดการณ์ได้ว่าคนไทยคงจะรัดเข็มขัดและใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

แบรนด์จะต้องประเมินในบริบทของแต่ละสถานการณ์ว่าพวกเขาจะสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคได้ในแง่มุมใด และจำลองรูปแบบความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในด้านอุปสงค์และความจำเป็น จากนั้นจึงคิดค้นวิธีการที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไป

 

– อยากให้แนะนำโซลูชั่นของบริษัทที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

เราเชื่อว่าทุกๆ วิกฤติมีประตูสู่โอกาส อย่างไรก็ตาม โซลูชั่นต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างขึ้นโดยเฉพาะให้เหมาะกับสถานการณ์และ/หรือธุรกิจของลูกค้า ขณะนี้ แบรนด์/บริษัทต่างๆ กำลังพบกับโจทย์ที่ยาก ซึ่งต้องตัดสินใจเลือกว่า จะคอยดูสถานการณ์ หรือเป็นผู้นำและสร้างคุณค่าเพิ่ม

หากอยู่ในบริบทที่เหมาะสม เราอยากแนะนำให้ลูกค้าของเราเป็นผู้นำและสร้างคุณค่าเพิ่ม โดยการทำความเข้าใจกับช่วงเวลาต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องก้าวผ่าน จะทำให้พบว่ามีสิ่งต่างๆ มากมายที่สามารถทำได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าแบรนด์จะยังคงมีความน่าสนใจ มีความเชื่อมโยง และอยู่เคียงข้างผู้บริโภคอยู่เสมอ

ในส่วนของโซลูชั่นที่เรามีให้บริการนั้น เราสามารถช่วยแบรนด์/บริษัทต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ผ่านบริการประชาสัมพันธ์ของเรา, บริการด้านกลยุทธ์การสื่อสาร (Communication Strategy), บริการออกแบบ (Service Design) และกลยุทธ์นวัตกรรม (Innovation Strategy) เป็นต้น

แต่ต้องคำนึงว่าสิ่งที่แต่ละแบรนด์ต้องการจะมีความแตกต่างกันออกไป กุญแจสำคัญคือการเป็นคู่คิดทางธุรกิจของพวกเขา และแนะนำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจนั้นๆ ทั้งในยามยากและในยามที่รุ่งเรือง

 

– แนวคิดหรือคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่กำลังหาทางรอด

ทุกๆ บริษัทจะเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป กุญแจสำคัญคือการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ของตนเองอย่างจริงจัง วางแผนอย่างรวดเร็ว และลงมือดำเนินการ

ทุกวันนี้ การยึดถือผู้บริโภคให้เป็นหัวใจของทุกๆ สิ่งที่บริษัทหรือแบรนด์ทำ นับได้ว่าที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องรับรู้ถึงความยากลำบากของพวกเขา เข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาเป็นห่วงเป็นกังวล และช่วยพวกเขา

สิ่งที่สถานการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ จะมีหลายช่วงหลายตอนที่แตกต่างกันออกไป ในช่วงที่การติดเชื่อเริ่มแพร่ระบาด บริษัทต่างๆ ควรตอบสนองด้วยข้อความ การกระทำ หรือแนวทางแก้ไขที่แสดงถึง “ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่กระตุ้นให้มองโลกในแง่ดี”

ในช่วงของการเก็บตัว บริษัทต่างๆ ควรเน้นไปที่การทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นไปได้ด้วยดี โดยการสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดทางให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตนอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้บริโภค เช่น ผ่านบริการจัดส่ง การนำเสนอเรื่องราวที่มีประโยชน์ การบริการลูกค้า ฯลฯ

และเมื่อเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว บริษัทต่างๆ ควรจะปรับเปลี่ยนแนวทางและนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้ากับบรรทัดฐานใหม่ (หากมี) และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เป็นอย่างดี

สิ่งเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนทั่วโลกไม่เคยประสบมาก่อน เราต้องมองโลกในแง่ดีและมีความหวัง พร้อมกับเป็นคู่คิดทางธุกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นกระบอกเสียง/ผู้สนับสนุนให้กับผู้บริโภค

 

BrandBaker

– แนะนำตัว บริษัท และตำแหน่ง

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล Director of Planning & Ideas บริษัท BrandBaker ครับ

– ช่วงสถานการณ์แบบนี้ มองว่าอะไรที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

แต่ละธุรกิจมีวิธีการปรับตัวที่ไม่เหมือนกัน อย่างธุรกิจที่ขายของมีหน้าร้าน ก็สามารถย้ายตัวเองไปอยู่บนออนไลน์ได้ ธุรกิจอาหาร ก็ปรับไป Delivery ได้ ถึงจะเป็นร้านแบบนั่งกิน ก็เห็นปรับทำเมนูที่ส่ง Delivery ได้เหมือนกัน

แต่ธุรกิจบางประเภทอาจจะลำบากหน่อยเพราะสินค้าเป็นสินค้าประเภทที่ขายบนเวลาที่ลูกค้าใช้ เช่น โรงแรม ก็ต้องหาทางปรับตัวไปในสายธุรกิจอื่นๆ ผมยกตัวอย่าง การเอาร้านอาหารในโรงแรมมาขาย แต่ถ้ามองต่างไปอีกหน่อย เราอาจจะเป็นปรับตัวเป็น Social Distance Working Space คือให้ห้องแต่ละห้องเป็นที่ทำงาน เอาของมารวมขายเพื่อใช้ชีวิต เพราะบางคนไม่สะดวกทำงานที่บ้าน ไม่มีเน็ต อะไรแบบนี้ ไหนๆ ห้องก็ไม่มีใครใช้

แต่ก็ต้องวางแผนเรื่องค่าไฟ กับพนักงานดีๆ คือเราต้องมองว่า ลูกค้าเองในจังหวะนี้ มีปัญหาอะไร แล้ววันนี้เราเหลือทรัพยากรอะไรที่ยังไม่ได้ใช้ แต่ใช้ได้อีกบ้าง เอามันมาผูกกัน อาจจะตะกุกตะกัก แต่ก็น่าจะพอบรรเทาความลำบากได้ครับ

อย่างเช่น Fitness ท่ีไม่สามารถเปิดให้คนไปออกกำลังกายได้ ก็ทำ Facebook Group แบบ Secret Group เพื่อสอนฟิตเนสให้แก่ลูกค้าที่อยากออกกำลังกายหรือทำ Personal Trainer ที่บ้าน หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เองก็มีเปิดการใช้งาน webconference พาลูกค้าดูบ้านหรือห้องตัวอย่าง ส่วนคนรับรถโดยสารก็ย้ายไปทำส่งของแทน จะเห็นว่าทุกคนมีการปรับตัวในสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างดีครับ

– อยากให้แนะนำโซลูชั่นของบริษัทที่ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

คำแนะนำคือ ตอนนี้ต้องวางแผนเผื่อกันไปเลยว่า ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบนี้อีก 3-4 เดือน กว่าจะฟื้นอีก 2-3 เดือน ก็ 5-7 เดือน เราจะมีเวลาปรับตัว ปรับทางหารายได้ยังไงบ้าง ต้องออกนอกกรอบจากสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำ มองไปที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ว่าเค้ามี Need อะไร ปรับตัวตามสถานการณ์ แล้วก็อดทน ทุกปัญหาคือโอกาส ทุกโอกาสจะซ่อนอยู่ในปัญหา ก็สู้ๆ กันต่อไปครับ (แต่ถ้า พรก ออกมาห้ามออกจากเคหะสถานก็จบกัน ฮ่าๆๆๆๆ) แต่ผมก็ยินดีให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษากับทุกธุรกิจเท่าที่กำลังและสมองมีครับ