สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายๆ คนคงจะเห็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อ 2 นักเขียนชื่อดัง “โตมร ศุขปรีชา” และ “นิ้วกลม – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” จับมือกันทำนิตยสาร (ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอก นิตยสารที่เป็นกระดาษ) ชื่อว่า “Mad About” รูปแบบโดยทั่วไปยังไม่ได้ระบุแน่ชัด แต่ที่เราแน่ใจคือ มันจะเป็นการรวบรวมสุดยอดนักคิดนักเขียนของบ้านเราหลายสิบคน จนหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า 2 คนนี้คิดอะไรกัน ทำสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาที่นิตยสารพากันปิดตัว? คิดจะท้าทายอายุขัยของนิตยสารหรืออย่างไร?
ถ้าย้อนวันเวลากลับไป เราจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งล้วน เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ตามกาลสมัย ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายพันปีก่อน เราเคยมีม้าเป็นยานพาหนะ เราผูกพันกับม้ามาก จนวันหนึ่งมนุษย์สามารถผลิตรถยนต์เข้ามาแทนที่ เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่าม้ามาก แต่ถึงกระนั้น ม้าก็ยังอยู่คู่กับมนุษย์ เพียงแต่ม้าได้เปลี่ยนบทบาทจากยานพาหนะมาเป็นการขี่เพื่อความเพลิดเพลิน สุนทรียภาพ และการกีฬา
นิตยสาร ก็เช่นเดียวกัน ถึงในเชิงโครงสร้างธุรกิจมันจะไม่สามารถไปต่อได้ แต่ในเชิงศิลปะ มันสร้างความเพลิดเพลิน สุนทรียภาพ และความละเอียดอ่อนของจิตใจได้
“Mad About” ถูกออกแบบมาให้เป็นนิตยสารที่เน้นนำเสนองานศิลปะ พวกเขาจะทำออกมาเพียง 3 เล่มเท่านั้น ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ในระยะยาว แต่จะทำทั้งที ก็อาศัยเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์มาทำ Crowdfunding หรือระดมทุนบนโลกออนไลน์แบบง่ายๆ ให้แฟนๆ ที่สนใจอ่านร่วมกันสมทบทุนโดยโอนเงินเข้าไป โดยแบ่งโครงสร้างความบ้า เป็นแพคเกจไว้ 4 ระดับ
1. HELPING HAND : ช่วยให้ MAD ABOUT ได้เกิด โดยสนับสนุนเงินเท่าไหร่ก็ได้ ตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป เราขอน้อมรับด้วยความขอบคุณครับ
2. THE COLLECTOR’S EDITION : คุณจะได้รับ MAD ABOUT จัดส่งถึงบ้านครบทั้งสามเล่ม จึงไม่พลาด MAD ABOUT แม้แต่เล่มเดียว : สนับสนุนเป็นเงินจำนวน 1,200 บาท
3. THE SUPER COLLECTORS : คุณจะได้รับ MAD ABOUT จัดส่งถึงบ้านครบทั้งสามเล่มพร้อมลายเซ็นของบรรณาธิการทั้งสอง : สนับสนุนเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท
จากที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ ผมได้ติดตามดูบรรณาธิการทั้งสองท่านออกให้ข่าวตามที่ต่างๆ ก็คิดได้ว่า ถึงทั้งสองคนจะทำ “Mad About” เป็นงานศิลปะ ตั้งใจให้ผลงานออกมาเป็น “งาน craft” (เช่น เอาต้นฉบับของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาลง มีนักคิดนักเขียนชื่อดังอย่าง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, ปราบดา หยุ่น, วินทร์ เลียววาริณ, ประภาส ชลศรานนท์, คำ ผกา, หนุ่มเมืองจันท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, อธิคม คุณาวุฒิ, อุทิศ เหมะมูล, อุรุดา โควินท์, ปองวุฒิ รุจิระชาคร และนักเขียนอีกหลายท่าน) มากกว่าจะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ระยะยาว
แต่แค่ลองคิดว่าถ้าแบรนด์ “Mad About” เกิดจุดติดขึ้นมา จากนั้นจะคิดทำ Content ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ออนไลน์ พอดแคสต์ โซเชียล ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความเป็นจริงไปเลย
คุณว่าจริงไหม?