ถือว่าน่าสนใจมากทีเดียวสำหรับการปาฐกถาพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในหัวข้อ “Thailand IoT Ecosystem for Thais” ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาชี้ถึงจุดเปลี่ยนของสังคมไทยในช่วงสามปีนี้ว่าจะเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งหากไม่สามารถยกระดับการสร้างนวัตกรรมจากโครงสร้างเดิมที่ล้าสมัยได้แล้ว อนาคตน่าจะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากของประเทศไทยอย่างแน่นอน
โดยจุดที่ ดร.สมคิด ชี้อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยก็คือ คนไทยตื่นสาย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เขาตื่นกันหมดแล้วกับการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัล ประเทศไทยกลับมีการตื่นตัวช้า และทำให้เข้าสู่ตลาดนี้ได้ช้ากว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งการตื่นสายนี้ยังส่งผลต่อการปรับโครงสร้างต่าง ๆ ภายในประเทศที่โครงสร้างเดิมของประเทศนั้นล้าสมัยไปหมดแล้ว ไม่สามารถรองรับการผลิตในยุคดิจิทัลได้อีก เหล่านี้คือความเสี่ยง ซึ่งถ้าไม่ปรับตัว จะทำให้ประเทศเริ่มแข่งขันกับคนอื่นได้ยากลำบากมากขึ้น
“สภาพัฒน์ฯ ทำนายว่าปีนี้ อัตราการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ที่ 4.1% แต่ต้องมาจากการที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผนด้วย เช่น การส่งออกเติบโตต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่ในฐานะที่ทำตัวเลขพวกนี้มาเป็นสิบปี พบว่า ผมบอกได้เลยว่า ตัวเลขพวกนี้มีขีดจำกัด เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามันเก่า ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ลองดูจากสินค้าใน Category ที่ส่งออกก็ได้ ตอนนี้บาง Category ก็เริ่มถูกประเทศอื่นแซงไปแล้ว”
นอกจากนี้ ดร.สมคิด ยังเผยว่าเศรษฐกิจรากหญ้าเป็นสิ่งที่แก้ยาก ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างการเกษตรเป็นโครงสร้างที่ล้าสมัย และที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง ดังนั้น ในการแข่งขันยุคดิจิทัล สิ่งที่จำเป็นคือการปลุกคนไทยให้ตื่น มอบเครื่องมือและความรู้ให้ เพื่อให้เขานำทุกอย่างที่มีนั้นออกไปสร้างโอกาสให้ตัวเอง
“ตอนนี้เป็นยุครุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ โลกตื่นขึ้นมาด้วยดิจิทัล ดิจิทัลทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เวลาเรียนหนังสือ กว่าจะได้ความรู้มาใช้เวลาเป็นปี ทุกวันนี้ความรู้อยู่ในมือถือ มันสามารถให้ความรู้ได้ไม่จำกัด ทุกมิติของการดำรงชีวิตเปลี่ยนหมด ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกเลย เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจก็เปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ อย่างน้อยที่สุดอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านต้องไปให้ถึง และเขาเหล่านั้นต้องสามารถเข้าถึง ได้รับการฝึกฝน และได้รับความรู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย”
เปลี่ยนประเทศสู่การเป็น Digital-Driven Economy
นอกจากในเรื่องการกระจายดิจิทัลไปยังมือประชาชนแล้ว อีกฟากหนึ่งที่ต้องก้าวขึ้นมายืนอย่างแข็งแกร่งคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัป รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ต้องสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ ออกมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่
“Digital-Driven Economy จะเกิดได้ เอสเอ็มอีคือกำลังหลัก เพราะเอสเอ็มอีมีเป็นล้าน สตาร์ทอัปคือต้นกล้า มหาวิทยาลัยต้องสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ ออกมา ดูว่าชาติต้องการอะไร” ดร.สมคิดกล่าว นอกจากนั้น หน้าที่ของรัฐบาลยังต้องทำ BigData ให้เป็น SmartData เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชน และช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ดร.สมคิด เชื่อว่า การมาถึงของดิจิทัลจะนำไปสู่ Digital Politics ที่สามารถสร้าง Engagement ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในประเทศได้โดยตรง โดยประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมกับการบริหารประเทศได้โดยตรง รัฐบาลจะเริ่มรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั้นถูกหรือผิด อะไรคือสิ่งที่คนต้องการอย่างแท้จริง ก็สามารถดูได้จากจุดนี้
ท้ายที่สุด คือเรื่องของการควบคุม เพราะการมาถึงของดิจิทัลก็มีด้านมืด โดยเฉพาะในเรื่องการแบ่งแยก เมื่อคนสามารถเลือกที่จะคุยกับคนที่อยากคุย และไม่คุยกับคนที่ไม่อยากคุยได้ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งขึ้นมา ดังนั้น ต้องใช้อย่างมีสติ