ระยะนี้ได้ยินข่าวเกี่ยวกับเว็บดังๆ ที่สหรัฐอเมริกาพากันออกมาต่อต้านกฏหมาย SOPA หรือ?”ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์”? กันเยอะ ใครที่กำลังสงสัยว่า SOPA มันคืออะไร และทำไมคนในแวดวงอินเทอร์เน็ตถึงให้ความสำคัญนัก ก็อ่านอันนี้ได้ครับ หลักๆ เราหยิบเอาข้อมูลในวิกิพีเดีย และรวบรวมเรียบเรียงจากหลายๆ แหล่งมาย่อยให้ง่ายๆ ขึ้นสำหรับคุณ หรือถ้ายังไม่ง่ายพอก็ “ช่วยเราย่อย” ได้โดยการแสดงความคิดเห็นไว้ด้านล่างได้เลย
ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (SOPA – Stop Online Piracy Act) เป็นร่างรัฐบัญญัติที่ ลามาร์ สมิธ (Lamar Smith) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความสามารถของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและของผู้ถือลิขสิทธิ์ในอันที่จะต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมในโลกออนไลน์ และบัดนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ซึ่งมีทีท่าว่าจะผ่านได้ด้วย ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าจะหยุดได้ก็ตาม
หากร่างรัฐบัญญัตินี้ผ่าน กระทรวงยุติธรรมและผู้ถือลิขสิทธิ์ของเนื้อหาต่างๆ ก็จะสามารถร้องขอให้ศาลสั่งปราบปรามเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ได้ ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าต่อไปนี้สามารถสั่งห้ามบรรดาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ รวมถึงสั่งห้าม Search engine เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาเหล่านี้
ใครได้ใครเสีย? คนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ สนับสนุนกันน่าดูเพราะกฏหมายนี้จะเพิ่มศักยภาพให้แก่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยก็ออกมาค้านว่า รัฐบัญญัตินี้มีนัยเป็นการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ต (Internet Censorship) อันจะส่งผลให้โลกอินเทอร์เน็ตง่อยเปลี้ย และคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย
พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากว่าผ่านขึ้นมาจริงๆ บริษัทต่างๆ จะต้องรับผิดชอบทางกฏหมายสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใช้โพสต์ เว็บไซต์อย่าง Facebook, YouTube, Twitter, Wikipedia หรือเว็บไหนก็ตามที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาสร้างเนื้อหาเองได้ก็จะไม่รอดพ้นจากกฏหมายตัวนี้ และทันทีที่กฏหมายนี้ผ่านความเห็นชอบเป็นกฏหมายขึ้นมา องค์กรที่ออกตัวว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็จะมาปิดตัวเว็บไซต์ต่างๆ ได้ ลองนึกภาพดูว่าเว็บไซต์สารานุกรมเสรีอย่าง Wikipedia อาจถูกปิดตัวลง ทำให้เราไปซื้อซอฟต์แวร์สารานุกรมเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งสื่อดั้งเดิมต่างๆ อย่างทีวีก็จะไม่เล่นข่าวเรื่องนี้ เพราะพวกเขาก็จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ หากไม่มีใครเอารายการของพวกเขาไปอัพโหลดขึ้น YouTube
คนไทยล่ะคิดอย่างไร? มันสะท้อนอะไรกลับมาที่เมืองไทยบ้าง? คนไทยเรียนรู้อะไร?
กองบรรณธิการ thumbsup คิดคล้ายๆ Jimmy Wales แห่งวิกิพีเดียว่า กฏหมายลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ดี เราเคารพมัน แต่กฏหมาย SOPA เข้มงวดเกินไป หรือคุณคิดเป็นอย่างอื่นล่ะ หรือเมืองไทยจริิงๆ ไม่ต้องดิ้นรนอะไรกันมาก เพราะอย่างไรเราก็ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว? จริงหรือไม่ อย่างไร?