Site icon Thumbsup

เผยผลสำรวจจาก Deloitte หมดยุคสายการบังคับบัญชาแบบ Top-down

เทรนด์ในการจัดโครงสร้างองค์กรมาถึงจุดที่สายการบังคับบัญชาแบบเดิมๆ ไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้ว จากการสำรวจล่าสุดโดย Deloitte ระบุว่า มีบริษัทเพียง 38% เท่านั้นที่พูดว่ามันยังเป็นระบบที่ใช้ได้ดี และสำหรับองค์กรใหญ่ๆ ที่มีพนักงาน 50,000 คนขึ้นไป ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 24% 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่าอีกว่า มีองค์กรกว่า 7,000 แห่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายการบังคับบัญชาแบบ Top-down

รูปภาพจาก mikebishop.house.gov

ถ้าจะขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก่อนนี้เราจะแบ่งทีมกันด้วยหน้าที่เป็นหลัก พนักงานขายก็อยู่กับทีมขาย นักการตลาดก็อยู่กับทีมการตลาด แต่สำหรับองค์กรที่มีความโมเดิร์นขึ้นมาอีกนิด เราจะพบว่าการแบ่งทีมขึ้นอยู่กับโปรเจกต์เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มคนที่มีหน้าที่ต่างๆ กัน เข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อผลักดันโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง

92% ของบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าการออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ

ความคิดเห็นที่บริษัทต่างๆ ในการสำรวจนี้มีร่วมกันเกี่ยวกับสายการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง คือ มันสร้างความขัดแย้งและเชื่องช้า แทนที่จะทำให้งานสำเร็จ กลับกลายเป็นสร้างความขัดแย้งให้กับคนในทีม และมันไม่เวิร์กเลย ไม่ว่าจะเป็นบริบทไหนก็ตาม

ที่น่าสนใจคือ บริษัทที่ยังคงใช้สายการบังคับบัญชาแบบเดิมก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่สามารถปรับตัวรับนวัตกรรมใดๆ ได้ทัน

ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงควรปรับตัว และกำจัดเลเวลในการบังคับบัญชาที่เป็นทางการออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้งานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ระบบทางเลือกในการขับเคลื่อนก็คือ Zappos และ Medium ซึ่งใช้ระบบที่มีชื่อว่า Holacracy

หรือจะเป็น Valve ซึ่งเป็นองค์กรที่แบนมากในแง่ของสายการบังคับบัญชา เป็นองค์กรที่ปราศจากผู้นำหรือหัวหน้า แต่ทุกแผนกรวมตัวกันในลักษณะทีมที่มีความเป็นทางการไม่มาก แต่ความวุ่นวายก็น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้เชี่ยวชาญจาก Deloitte เรียกวิธีทำงานแบบนี้ว่า “อะมีบา” เพราะการแบ่งหน้าที่ภายในจะขึ้นอยู่กับความต้องการของธุรกิจเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสายการบังคับบัญชาแบบบนลงล่างกำลังจะเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ แต่การแบ่งทีมโดยขึ้นกันโปรเจกต์ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับองค์กรยุคใหม่เสมอไป

อ้างอิงจากการสำรวจของ Deloitte ในปีที่ผ่านมา พบว่า 74% ของบริษัทที่ใช้ระบบดังกล่าว มีความซับซ้อน หรือเข้าใจได้ยากเกินไป กลายเป็นการสร้างความสับสนให้พนักงาน

ทีมวิจัยเรื่องนี้สรุปว่า เทรนด์ในเรื่องนี้ยังไม่นิ่ง และไม่มีอะไรที่เป็นอนาคตอย่างแท้จริง แต่ไม่ว่าจะใช้โครงสร้างแบบไหนในการขับเคลื่อนธุรกิจ สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คนทำงานจะคิดก็มีแค่ “ทำอย่างไรจะได้เลื่อนตำแหน่ง?”

ที่มา : Bloomberg