แม้ภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะดูนิ่งจนซบเซา แต่สำหรับธุรกิจออนไลน์แล้ว ต้องยอมรับว่าความสะดวกสบายและราคาสินค้าที่ถูกกว่าการขายหน้าร้าน ยังคงดึงดูดใจให้มีการสั่งซื้อกันอย่างต่อเนื่อง ทางด้าน LAZADA เอง ยังมั่นใจว่าภาพรวมอีคอมเมิร์ซของไทยที่ยังมีตัวเลขไม่ถึง 2 ดิจิท จะยังมีการเติบโตที่ดีขึ้นได้มากกว่านี้อีก หาก Ecosystem ทุกอย่างแข็งแรง
นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ยังไม่เจอผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจหรือชะลอการช้อปปิ้งมากนัก จากที่เช็คข้อมูลกับร้านค้า SME ที่ขายผ่านระบบของ LAZADA พบว่ายังมีทิศทางที่ดีอยู่ อาจเพราะราคาไม่แพงและไม่ต้องเดินทาง ทำให้ร้านค้าหรือแบรนด์ที่มองแต่ช่องทางออฟไลน์ก็ขยายเข้ามาสู่ออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริษัทตั้งเป้าที่จะให้บริการลูกค้า 300 ล้านคนภายในปี 2030 สำหรับภูมิภาคนี้
ทาง LAZADA ยังคงมีความพยายามที่จะพัฒนาด้านอีโคซิสเต็มส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยอยากช้อปออนไลน์มากขึ้น โดยสนับสนุนร้านค้าด้วย Super eBusiness เพื่อช่วยเรื่องระบบบริหารจัดการ จัดการสต็อก หรือแม้แต่โปรโมชั่นพิเศษ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ก็ยังสนับสนุนพาร์ทเนอร์ทางด้าน Logistics และเพย์เม้นท์ให้รองรับการทำงานที่ราบรื่นในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่นตลอดทั้งปี เพราะนโยบายในปีนี้ จะมีการจัดแคมเปญ 5 ครั้ง คือ เบิร์ดเดย์เซลล์, 9.9, 11.11, 12.12 และ midyear sale จากเดิมที่จัดเพียงปีละ 3 ครั้ง เพื่อสร้างความคึกคักและดึงดูดให้ลูกค้ามาช้อปออนไลน์มากขึ้น
แม้ว่าจำนวนร้านค้าในระบบของ LAZADA ยังมีผสมผสานทั้งแบบแบรนด์ ร้านค้ารายย่อยในไทย และร้านค้าจากพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ แต่ 90% ยังผลักดันให้เป็นสินค้าของคนไทยมากกว่าและมียอดการขายที่ดีกว่า ส่วนเรื่องของราคาเฉลี่ยบนแพลตฟอร์ม แม้ว่าจะสูงกว่าคู่แข่ง แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับลดราคาเฉลี่ยลง 25% ในช่วงที่ไม่ได้จัดโปรโมชั่น เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจช้อปได้ง่ายขึ้น
ภาพรวมสถิติของนักช้อปผ่าน LAZADA
ข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจของการใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LAZADA มีดังนี้
- ช่วงอายุของคนที่ช้อปผ่านลาซาด้า สูงสุดอยู่ที่ 18-29 ปี
- จำนวนร้านค้าออฟไลน์ขยับมาขายสินค้าบนลาซาด้าเพิ่มขึ้น 68.3%
- ช่วงเวลาที่มีคนมาช้อปเยอะสุดคือ 10.00-11.00 น. กับ 21.00-22.00 น. ส่วนใหญ่เป็นวันจันทร์ที่มีคนเข้ามาดูรายการสินค้าและช้อป
- ดึง ต่อ-ธนภพ เข้ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เพิ่มเติม นอกจาก เบลล่า-ราณี เพื่อดึงดูดสาวๆ วัย 18-20 ปีให้มาช้อปผ่านลาซาด้ามากขึ้น
- หมวดหมู่สินค้าที่คนนิยมซื้อผ่านแพลตฟอร์มสูงสุด คือ กลุ่มแฟชั่น สินค้าแม่และเด็ก เครื่องสำอางค์และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
- การเติบโตด้าน Active User แบ่งเป็น Daily User 68% และ Monthly user 58% เป็นการเติบโตแบบปีต่อปี แสดงว่ามีคนกลับมาใช้งานซ้ำแบบรายวันบ่อยกว่ารายเดือน
- ยอดดาวน์โหลดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมแล้วกว่า 170 ล้านดาวน์โหลด ตั้งเป้า 300 ล้านดาวน์โหลด
- สัดส่วนการสั่งซื้อแบ่งเป็นคนต่างจังหวัด 70% อีก 30% เป็นคนกรุงเทพที่ไม่ต้องการเดินทาง
.
พาร์ทเนอร์รายใหญ่อยากเด่นบนออนไลน์
แม้ว่าที่ผ่านมา LAZADA จะมีการสนับสนุนร้านค้า SME แต่ก็ยังเดินหน้าความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่เช่นกัน โดยมีพาร์ทเนอร์หลายรายจะเลือกทำในไทยก่อนประเทศอื่นๆ
ล่าสุดที่มีความร่วมมือกับ แสนสิริ ในการจองและดาวน์คอนโดมิเนียมได้นั้น เป็นเพราะทางสำนักงานใหญ่มองว่าไทยมีศักยภาพก็เลยเลือกเปิดบริการนี้ในไทยก่อน หากมีแนวโน้มที่ดีในประเทศอื่นๆ ก็อาจมีการจองได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะคนส่วนใหญ่จะหาข้อมูลจากทางออนไลน์ก่อนที่จะไปเดินดูโครงการจริง และไทยก็ถือว่าเป็น Innovation Hub เพราะใช้มือถือกันเยอะและปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ได้เร็ว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสมาร์ทโฟนอย่าง XiaoMi ในการเปิดตัวรุ่น Redmi 7a, Mi brand 4 ผ่าน Official Store บน LAZADA แต่ภาพรวมด้านการแข่งขันของแบรนด์ใหญ่จะเห็นว่าต้องการที่จะมาใช้งาน LAZMall กันทั้งนั้น เพราะแบรนด์ใหญ่มองว่าจำเป็นและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์แบรนด์ที่ดี
ทั้งนี้ แบรนด์ที่ใช้งานมาร์เก็ตเพลสแบบรวมลาซมอลล์ก็เกินกว่า 80% แล้ว เพราะแพลตฟอร์มของเราไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และตอบโจทย์ความต้องการซื้อของลูกค้าได้ดีกว่าทำให้แบรนด์ใหญ่เข้ามาลงทุนการตลาดและออกแคมเปญเพิ่มขึ้น ทั้งส่งฟรี ลดราคา แจกของสมนาคุณ เป็นต้น
การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่ดีแบบนี้ นอกจากจะช่วยเรื่องความสะดวกสบายในการซื้อขายแล้ว ยังเป็นโอกาสของแบรนด์ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ในการเพิ่มโอกาสทางการขายได้ดีขึ้น ซึ่งในระยะยาวน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แข็งแรงเช่นเดียวกับต่างประเทศเป็นแน่