สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับ KANTAR TNS สำรวจเม็ดเงินที่แบรนด์ต่างๆ ใช้จ่ายผ่านสื่อดิจิทัล พบว่า ช่วงปลายปีมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่าช่วงกลางปี ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของปี 2560 แตะ 12,402 ล้านบาท จากที่ประเมินไว้เพียง 1,250 ล้านบาท เรียกได้ว่าเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 31% จากที่คาดการณ์ไว้เพียง 18%
นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่มีการลงทุนในเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ คือ ยานยนตร์ 1,289 ล้านบาท สื่อสาร 1,195 ล้านบาท ธนาคาร 847 ล้านบาท สกินแคร์ 723 ล้านบาทและเครื่องดื่ม Non Alcohol 644 ล้านบาท ทำให้คาดว่าในปี 2018 อันดับการใช้จ่ายก็จะของท็อป 3 ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากนี้ แต่เม็ดเงินน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
โดยในปีที่แล้ว ทางสมาคมคาดว่ากลุ่มสกินแคร์จะเป็นอันดับที่ 3 แต่กลายเป็นว่ากลุ่มธนาคารมาแรงจากกระแส Cashless Society ทำให้มีการสื่อสารตลาดเยอะมากทุกช่องทางจนขึ้นเป็นอันดับ 3 จากที่เคยคาดไว้ว่ายอดการใช้จ่ายเป็นอันดับที่ 5 รวมทั้งธุรกิจสกินแคร์เองก็เจอปัญหาฟ้องร้องช่วงปลายปี ทำให้หลายแบรนด์ต้องสร้างความมั่นใจผ่านทาง Influencer แทน ซึ่งเม็ดเงินในส่วนนี้ไม่ได้ผ่านเอเจนซี่ จึงไม่ทราบว่ามูลค่าอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ก็ทำให้ภาพรวมในการลงโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียลดลง
“ที่เราไม่ตั้งเป้าตัวเลขเยอะ เพราะฐานเริ่มสูงขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่คาดอยู่ที่ 10% และคิดว่าก็คงไม่สูงมากไปกว่านี้ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะแค่กลางปีที่แล้วอยู่ดีๆ ก็พุ่งไปแตะหลักหมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ การที่หลายแบรนด์ยังลงโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลอย่าง Facebook และ Youtube มากเป็นอันดับต้นๆ เป็นเพราะใน 2 ช่องทางนี้ คนไทยใช้งานเยอะ ทำให้ทุกแบรนด์เลือกที่จะสื่อสารผ่านช่องทางนี้ แม้ Facebook จะมีเม็ดเงินสูงกว่า 4,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของมูลค่าสื่อโดยรวมทั้งหมดของประเทศ แต่ก็คาดว่าจะยังไปได้ต่อและสูงถึง 4,600 ล้านบาทภายในปีนี้
ทางด้านของคอนเทนต์วีดีโอในรูปแบบของ Youtube ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า Line TV จะมีการเติบโตที่ดีในกลุ่มนี้ แต่เราจัดไว้รวมในกลุ่มคอนเทนต์วีดีโอไม่ได้แตะในภาพรวม ซึ่งตัวเลขรายได้ของ Youtube ในปี 2017 ปิดที่ 2,105 ล้านบาท คาดว่าในปี 2018 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,604 ล้านบาท
ส่วนการปรับการแสดงผลของ Facebook ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายของแบรนด์ แค่เป็นการสอนให้แบรนด์ได้ทราบว่าควรที่จะสร้างคอนเทนต์ที่ดีขึ้น เพราะลูกค้าจะเชื่อเนื้อหาที่ดี มาจากแบรนด์โดยตรง ทำให้การทำเนื้อหาต้องคำนึงด้วยว่าจะต้องไม่หลอกลวงลูกค้าเพื่อหวังยอดขาย แต่ต้องหวังส่งต่อข้อมูลเสริมประสบการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะโซเชียลมีเดียถือว่าช่วยเปลี่ยนภาพอุตสาหกรรมหลายอย่าง
แม้ว่าธุรกิจ E-commerce หันไปลงเม็ดเงินในกลุ่มสื่อหลักมากขึ้น เป็นเพราะต้องการเพิ่มฐานลูกค้าแบบออฟไลน์ให้หันมาออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งลูกค้าออนไลน์ยังคงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง เพียงแต่คนที่กล้าซื้อออนไลน์ยังมีน้อยอยู่ ภาพรวมถือว่าเพิ่มจาก 1% มาเป็น 3-5% แล้ว ก็ไม่แปลกที่ธุรกิจ E-commerce จะอยากขยายกลุ่มลูกค้าให้ Mass มากขึ้น
ทางด้าน Twitter และ Instagram ยังคงเป็นช่องทางที่แบรนด์ให้ความสนใจน้อย ซึ่ง IG ยังเป็นการทำกิจกรรมสื่อสารการตลาดผ่านภาพมากกว่า แต่ไม่ได้ลงเม็ดเงินมากนัก ต้องลองดูอีกทีหลัง IG เปิดให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซในไทย ว่าจะเข้าถึงลูกค้าได้ดีแค่ไหน และสร้างยอดการใช้จ่ายได้ดีเพียงใด เพราะถ้าขายสินค้าแบบ C2C ช่องทางนี้จะเวิร์คมาก แต่พอเป็นแบรนด์อาจไม่เด่นขนาดนั้น