Site icon Thumbsup

Square บุกญี่ปุ่นประเดิม Mobile Payment เอเชีย

Square600

ระบบรับชำระเงินด้วยอุปกรณ์พกพาชื่อดังสัญชาติอเมริกัน “Square” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแดนปลาดิบกลายเป็นตลาดแรกของ Square ที่ออกนอกเขตอเมริกาเหนือ ท่ามกลางความร่วมมือกับบริษัท Sumitomo Mitsui Card Corporation (SMCC) ซึ่งมีดีกรีผู้นำบัตร Visa เข้าสู่วงการค้าปลีกเมืองซามูไร

แพลตฟอร์มโมบายเพย์เมนต์อย่าง Square นั้นถูกมองว่ามีโอกาสเติบโตสูงในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากสมาร์ทโฟนอย่าง iPhone เป็นที่นิยมเหลือเกินในแดนอาทิตย์อุทัย จึงมีความเป็นไปได้มากที่ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นจะเลือกซื้ออุปกรณ์ราคาย่อมเยาของ Square มาต่อเข้ากับ iPhone หรือ iPad ซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชันของ Square เพื่อใช้แทนระบบรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต

จุดนี้ Square ระบุว่าจะชิมลางตลาดญี่ปุ่นด้วยการให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์ iOS ก่อนจะให้บริการสำหรับอุปกรณ์ Android ต่อไป

การเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นของ Square นั้นได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์อย่างมาก เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นมีดีกรีเป็นตลาดโมบายเพย์เมนต์ที่เติบโตระดับหนึ่งแล้ว แถมยังมีผู้ร่วมเล่นในตลาดเป็นยักษ์ใหญ่โอเปอเรเตอร์อย่าง NTT docomo และ KDDI รวมถึง PayPal คู่แข่งโดยตรงของ Square ที่เริ่มเปิดตลาดร่วมกับโอเปอเรเตอร์แดนซูชิอย่าง Softbank

เรื่องนี้ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Square อย่าง Jack Dorsey อธิบายเหตุผลที่เลือกญี่ปุ่นเป็นตลาดแรกในเอเชีย ว่าเป็นเพราะบริษัทต้องการเปิดตัว Square ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์งานดีไซน์และนวัตกรรมที่เข้มข้น เชื่อว่า Square จะสามารถนำเสนอคุณค่าด้านดีไซน์และนวัตกรรมได้ดีจนสามารถเรียกความสนใจจากคนในชาตินั้น

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการไม่รองรับอุปกรณ์ Android ในช่วงแรกของการเปิดตลาด Square ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีผลเสียใดๆ เนื่องจากสัดส่วนการใช้งาน iPhone ในญี่ปุ่นนั้นสูงเกิน Android อย่างชัดเจน ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Kantar ระบุว่า iPhone สามารถทำยอดจำหน่ายในญี่ปุ่นได้มากกว่า 66% ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับ Android ซึ่งมีสัดส่วน 32%

สิ่งที่เราได้รับจากข่าวนี้คือความชัดเจนว่า Square จะพุ่งเป้าขยายฐานตลาดโมบายเพย์เมนต์มาที่เอเชียแน่นอน หลังจากที่ออกนอกตลาดสหรัฐฯด้วยการลุยแคนาดาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งยิ่ง Square สามารถขยายตลาดได้มากเท่าใด รายได้ของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะจากส่วนแบ่งรายได้ transaction fee ราว 3.25% ต่อการจ่ายเงิน 1 ครั้ง

ที่มา: Techcrunch