เรื่องของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย ยังคงเป็นทั้งโอกาสอันดีและร้ายสำหรับภาพรวมประเทศ ที่ว่าดีก็เพราะมีนายทุนจำนวนมาก อีโคซิสเต็มส์และความรู้จากต่างชาติมากมาย ที่อยากเดินหน้าเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ส่วนที่ว่าร้ายก็เพราะคนที่มีความสามารถ เงินทุน และความกล้าที่จะเสี่ยงเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพ กลับมีอยู่น้อยและยังเฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อม ซึ่งจำนวนของคนที่มีความพร้อมนั้น ไม่ได้มีมากนั้นเรียกได้ว่าเป็นนิชมาร์เก็ตอย่างมาก
ในงานเสวนาหัวข้อ The World in 2030 and how start-ups will shape it โดย 4 วิทยากรชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA (ประเทศไทย) ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อุ๊คบี และผู้บริหารกองทุน 500 tuktuks โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ ผู้บริหารกองทุน Creative Venture และ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท โธธโซเชียล และจักรมนต์ นิติพน กรรมการบริษัทและผู้อำนวยการสายการลงทุน Singha Ventures
ต่างก็พูดให้เราได้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีกำลังเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนเราเร็วมาก แต่อยู่ที่ว่าคนเราจะรู้จักคว้าโอกาสและนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจได้เร็วแค่ไหน
มณีรัตน์ : จุดเริ่มต้นของการีน่า มาจากเกม แต่เราไม่ได้มองแค่โอกาสในการขยายตลาดเกมเท่านั้น เรามองว่าเรื่องของ Digital Era และ Mobile First จะเป็นเทรนด์อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งใครจะไปคาดคิดว่าทุกอย่างจะเติบโตขึ้นเร็วมาก การีน่าเข้ามาให้บริการในไทยเมื่อปี 2012 และไทยก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตติดอันดับ 1 ใน 7 ของประเทศที่เราเปิดให้บริการ มียูสเซอร์กว่า 20 ล้านราย
ต่อมาเราก็มองหาโอกาสในไทยว่าเทรนด์การใช้อีคอมเมิร์ซและใช้จ่ายผ่านมือถือน่าจะมาแรง ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อน คนไทยยังไม่ค่อยนิยมซื้อของผ่านแพลตฟอร์มที่ถูกต้อง นอกจากซื้อบนเฟสบุคหรือไลน์ เราก็มองว่าสัก 5 ปีก็น่าจะบูมแหละ แต่ใครจะคิดผ่านมาเพียงไม่กี่ปี ตอนนี้ ช้อปปี้ มียูสเซอร์ไม่น้อยกว่า 2 ล้านราย หรือแอร์เพย์ก็กลายมาเป็นบริการทางการเงินแรกๆ ที่คนใช้ซื้อตั๋วหนัง
นี่จึงเป็นจุดที่บอกให้รู้ว่า พฤติกรรมของคนเปลี่ยนเร็วมาก เทคโนโลยีแค่มีส่วนช่วยเข้ามาอำนวยความสะดวก หากสตาร์ทอัพมองเห็นโอกาสและรู้จักจับจุดให้ถูก เกาให้ถูกที่คัน ธุรกิจของคุณจะมีโอกาสโตไวมาก ซึ่งการีน่าเองก็มีลองผิดลองถูกมาเยอะ เพราะเรายังยึดหลักการที่ว่า Fail Fast Succeed faster มีหลายบริการของเราที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราก็ยอมปล่อย และเดินหน้าลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่เสียดายที่จะทิ้งและเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ คือ ล้มเร็ว รุกเร็ว ปรับตัวให้ได้
นอกจากนี้ คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ใช้งานแอพต่างๆ สิ่งที่จะเห็นในอนาคตอีก 5 ปี จะว่าด้วยเรื่องของสังคมผู้สูงวัย หรือ Aging Society เพราะต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้แหละ ที่จะกล้าใช้งานเทคโนโลยีเพราะเค้าเป็นผู้ใช้งานอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพต้องมองว่าสิ่งอำนวยความสะดวกใด หรือเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องของการศึกษาสำหรับเด็กน้อยในยุคนี้ อนาคตที่เขาเติบโตเราจะสร้างพื้นฐานเขาอย่างไร ซึ่งวัยเด็กและผู้สูงวัยถือว่าเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่ 4.0 ได้จริง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเป็นแรงผลักดันให้สตาร์ทอัพคือ อยากให้มี Passion ในการทำงาน แม้ว่าเงินทุนจะสำคัญ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์และอาจจะเลิกทำได้ง่ายๆ แต่ Passion จะเป็นแรงผลักดันให้อยากทำต่อไป เหนื่อยแค่ไหน เงินหมดเท่าไหร่ ก็สู้ต่อไป ซึ่งกองทุนหลายแห่งในไทย พร้อมจะช่วยเรื่องเงินและแชร์ประสบการณ์ รวมทั้ง Connection อยู่ที่คุณจะกล้าเปิดใจและเปิดรับสิ่งเหล่านี้หรือไม่
“อยากให้จำไว้ว่า เส้นทางสตาร์ทอัพไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องเชื่อมั่นในความ Creative และ Passion ตั้งแต่เริ่มต้น”
เช่นเดียวกับ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อุ๊คบี และผู้บริหารกองทุน 500 tuktuks ที่สวมหมวกของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ที่เล่าว่า เส้นทางการเป็นสตาร์ทอัพไม่ได้ง่าย และการที่ต้องนั่งทั้งตำแหน่งของนักลงทุนด้วย สตาร์ทอัพด้วย ทำให้รู้ว่าสิ่งไหนสำคัญและควรที่จะหยุด
สิ่งที่ท้าทายคือ สตาร์ทอัพอย่าเพิ่งคิดว่าตอนเริ่มต้น คุณจะไป Disrupt ใคร ถ้าคุณไม่แข็งแรงพอ เพราะการมีกองทุน ประสบการณ์ขององค์กรใหญ่ เน็ตเวิร์คต่างๆ จะช่วยให้คุณเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
“หากมองในมุมนักลงทุนจะรู้ว่าปัญหาของสตาร์ทอัพมีเยอะมาก จะทำอย่างไรถึงช่วยให้เค้าเดินต่อไปได้แบบไม่ล้มเลิกกลางทาง”
การทำสตาร์ทอัพย่อมมีปัญหามากมาย เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมทั้งข้อกฏหมาย การทำบัญชี เงินทุน เครือข่าย สิ่งเหล่านี้จะทำเองทั้งหมดในคนเดียวไม่ได้ การมีคนที่แข็งแรงกว่ามาช่วยย่อมดีกว่า แต่จะทำอย่างไรให้นักลงทุนเชื่อมั่นในธุรกิจของคุณและอยากเดินหน้าร่วมกันได้ต่อไป นั่นก็คือ ต้องมีการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าได้เงินเขามาแล้วจะเลิกทำหรือท้อไปซะก่อน
ทางด้านของ โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ ผู้บริหารกองทุน Creative Venture และ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท โธธโซเชียล กล่าวเสริมว่า ไทยยังคงมีอีโคซิสเต็มหลายอย่างที่ใหม่ แตกต่างจากซิลิคอนวัลเล่ย์ แต่ความเร็วในการ Take off ถือว่าเกิดขึ้นได้เร็วมาก การมีพาร์ทเนอร์ที่ดี จะช่วย “เหวี่ยง” ให้เขาไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม
มีหลายเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ Deep Tech อย่าง AI, Robotic, Biotech และ IOT เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนโลก แต่ไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ดังนั้น การดึงผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่เคยทำงานใน Siricon Valley มาช่วยพัฒนา หรือมาเป็นพาร์ทเนอร์ น่าจะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสเกิดและโตเร็วขึ้น
“อนาคตของ tech environment ในอนาคต จะเป็นอะไร อยากให้มองจากปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนที่มี อุตสาหกรรมน้ำมัน หรือ heavy industry ที่เคยเป็นผู้นำ ระยะเวลาเพียง 10 ปี กลายเป็น Technology เข้ามา Disrupt กันหมดแล้ว”
ดังนั้น ถ้ากังวลว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ เช่น การนำเอา Ai Construction Management มาช่วยเรื่องการสร้างแปลน วางแผนซ่อม ตรวจเช็คงานก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้ AI ที่จดจำระบบแปลนจากล้านๆ แบบ จะเข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายแค่ปลายนิ้ว ซึ่งมนุษย์จะทำแบบนี้ได้ต้องใช้เวลาเรียนรู้ 30 ปี ซึ่งเราไม่ต้องกลัวตกงาน เพราะมนุษย์จะเป็นคนสั่งกลางสิ่งเหล่านี้
ปัจจุบันมีกองทุนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเยอะมาก แต่ด้วยประสบการณ์และความรู้ของเด็กไทยต้องยอมรับว่า ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นสตาร์ทอัพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับในต่างประเทศ และถ้าคนกลุ่ม Gen Y และ Z ยังไม่พร้อมปรับตัวเพื่อก้าวขึ้นมาเป็น Entrepreneur การที่ประเทศไทยจะหวังปั้นสตาร์ทอัพให้ได้จำนวนมากเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ก็ดูจะริบหรี่เหลือเกิน