Site icon Thumbsup

[วิเคราะห์] ภาพรวมวงการอีคอมเมิร์ซ คนไทยปรับตัวเร็ว ใช้ดิจิทัลเก่งขึ้นแบบข้ามคืน

ในปี 2020 ต้องยอมรับว่าเป็นโอกาสการสร้างรายได้ของวงการอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มที่ จากที่ก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสได้มาซึ่งรายได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่เรียกว่าการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์แทบจะทันทีและผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซในหลายอีโคซิสเต็มได้รายได้แบบชัดเจนขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มสำหรับซื้อสินค้าอย่างเช่น Shopee, Lazada, JD Central แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ Grab, Gojek, LINEMAN, Foodpanda, Robinhood หรือแม้แต่บริการเดลิเวอรี่ที่แบรนด์ทำเองอย่าง กลุ่มไมเนอร์ (1112) กลุ่มซีพี (7-11) กลุ่มเซ็นทรัล (Central Online) เป็นต้น

ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซ

ทางด้านของภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่ ETDA ได้เก็บรวบรวมข้อมูลพบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยต้องเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตและการทำงาน จึงผลักดันให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ พบว่า ไทยมีการเติบโตสูงสุด เป็นอันดับหนึ่งที่ 46.51% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาท

ตามปกติแล้วในมุมของผู้ประกอบการของปี 2561 กลุ่ม B2B เติบโตสูงสุดที่ 1.80 ล้านล้านบาท รองลงมาคือกลุ่ม B2C อยู่ที่ 1.41 ล้านล้านบาท แต่ด้วยสภาวะโควิด-19 ทำให้การเบิกจ่าย พรบ.งบประมาณล่าช้าและผู้บริโภครายย่อยใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นทำให้กลุ่ม B2C มีอัตราการเติบโตเท่ากันคือ 6.11% ส่วนเม็ดเงินของกลุ่ม B2B จะอยู่ที่ 1.91 ล้านล้านบาทส่วนกลุ่ม B2C อยู่ที่ 1.49 ล้านล้านบาท

ภาพรวมตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ โอกาสใหม่ของทุกแบรนด์

ด้วยภาพรวมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สูงถึง 61,000 ล้านบาทนั้น ไมเนอร์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 8% ของภาพใหญ่ แต่ถ้าในส่วนของบริษัท เดลิเวอรี่ช่วยสร้างเม็ดเงินในบริษัทได้ถึง 50% ด้วยเทรนด์การใช้งานที่เติบโตนี้เอง เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 25-30% จึงลงทุนในส่วนธุรกิจนี้ชัดเจนขึ้น

ทางด้านของไมเนอร์กรุ๊ปเอง ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการเดินหน้าลงทุนและขยายยูนิตใหม่ จับกลุ่มเดลิเวอรี่ธุรกิจอาหารในมืออย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเติมเต็มในเรื่องของการเข้าถึงลูกค้าที่ไม่อยากออกจากบ้าน และตอบสนองเรื่องการจัดส่งได้ดีกว่าการพึ่งพาแต่พาร์ทเนอร์

คุณประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เราเห็นเทรนด์การส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดช่วงโควิด-19 จึงได้ให้คุณปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจเดลิเวอรี่ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารในส่วนของเดลิเวอรี่

แม้ว่าไมเนอร์จะมีพาร์ทเนอร์ในกลุ่มแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อยู่แล้ว แต่เราก็มีทีมเดลิเวอรี่ในมือ คงจะดีถ้าเราตอบสนองลูกค้าได้ทุกไลฟ์สไตล์

ด้วยพฤติกรรมการใช้งานเดลิเวอรี่ของคนไทย โดยเฉพาะของไมเนอร์ฟู้ดนั้น แบ่งเป็น การใช้งานผ่านแอป 1112 อยู่ที่ 86% คอลล์เซ็นเตอร์ 8% สั่งผ่านเว็บไซต์ 6% ในช่องทางทั้งหมดนี้ช่วงโควิด-19 ทำให้มียอดขายเพิ่ม 3 เท่า และคาดว่าเทรนด์เดลิเวอรี่จะโตเป็น 5 เท่าในปี 2021

ความพิเศษคือลูกค้าสามารถสั่งสินค้าในเครือไมเนอร์ได้พร้อมกันทั้ง 9 แบรนด์ โดยเราได้มีการขยายทีมเดลิเวอรี่ เช่น รับสมัครพนักงานขับขี่ใหม่ โดยตอนนี้มีอยูในมือ 3,000 คน การที่แยกทีมเดลิเวอรี่ออกมาชัดเจนนั้น เพื่อช่วยให้บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ทางด้านของค่าใช้จ่ายในการให้บริการนั้น หากลูกค้าสั่ง 400 บาทขึ้นไปจะมีการส่งฟรีอยู่แล้ว ทางแบรนด์อาหารจะเป็นคนจ่ายค่าบริการส่วนนี้แทนซึ่งแล้วแต่การดีลค่า Fee ของแต่ละแบรนด์

อย่างไรก็ตาม ไมเนอร์ฟู้ดมองว่าตนเองคงไม่เข้าไปเป็นหนึ่งผู้เล่นของตลาดนี้ แค่เป็นเรื่องของการเติมเต็มการส่งอาหารของแบรนด์ที่มีอยู่ในมือเท่านั้น เพราะไมเนอร์มีแบรนด์อาหารในมือมากถึง 7 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่าคอมปานี สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เบอเกอร์คิง บอนชอน เดอะคอฟฟี่คลับ ยังไม่นับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารในเครือ

การค้นหาบนช่องทางออนไลน์ส่งผลต่อการเข้าสู่โลกออนไลน์

อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า Google เป็นตัวกลางเชื่อมโยงมนุษย์กับโลกออนไลน์ ดังนั้น Google ได้สรุปคำค้นหายอดนิยม 2020 พบว่า โครงการของภาครัฐยังคงเป็นการค้นหาเป็นสิ่งแรกๆ ในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์

นอกจากนี้ โครงการคนละครึ่ง ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นให้คนไทยคุ้นชินกับการใช้ Wallet อย่างเป๋าตัง ทั้งในรูปแบบการเชื่อมโยงกับธนาคารของรัฐหรือเติมเงินผ่านธนาคารอื่นๆ ก็เปรียบเสมือนการกระตุ้นให้ประชาชนทุกระดับรู้จักการใช้งานวอลเลตอย่างแท้จริง รวมทั้งยังกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้ลดและร้านค้ารายย่อยด้วย

สำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งในรอบที่สองนี้ พบว่ามีตัวเลขการลงทะเบียนเร็วขึ้นกว่าเดิม เพียง 2 ชั่วโมง ก็มีการลงทะเบียนเต็มโควต้าแล้ว

ภาคธุรกิจก็ยังมีการใช้จ่ายบนโซเชียลสูง

นอกจากการใช้จ่ายของประชาชนแล้ว ในแง่ของแบรนด์เองก็มีการซื้อโฆษณาเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแพลตฟอร์มที่ธุรกิจในกลุ่ม SMEs และกลุ่ม Enterprise จะมีการเลือกลงโฆษณาที่แตกต่างกัน

จากภาพจะเห็นว่ากลุ่ม Enterprise ค่อนข้างทุ่มไปกับการซื้อ Facebook Ads อาจเพราะมองว่าเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากได้ดีกว่า รวมทั้งการที่เฟสบุ๊ก มีครบในเรื่องของเครื่องมือการซื้อสินค้า (E-commerce) คือรับชมคอนเทนต์และสั่งซื้อได้ทันที แบรนด์รายใหญ่จึงคาดหวังกับช่องทางนี้มาก รวมทั้งเฟสบุ๊ก ประเทศไทยเอง ก็มีเครื่องมือที่ตอบสนองแบรนด์รายใหญ่ครบรอบด้านจึงยิ่งกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น

ในขณะที่เอสเอ็มอีรายย่อยเอง กล้าที่จะเสี่ยงกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ และไม่ทุ่มไปกับแพลตฟอร์มรายใดรายหนึ่งแต่จะกระจายใช้ไปในหลายๆ แพลตฟอร์ม และตามเทรนด์เร็วกว่าแบรนด์รายใหญ่ทำให้ธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า

ส่วนช่องทางการจ่ายให้ซื้อสินค้าและแบรนด์ของผู้บริโภคต่อธุรกิจนั้น จากตารางจะเห็นว่าการใช้จ่ายผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นธนาคาร (โอนเงิน) ยังคงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ แต่ด้วยธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการใช้จ่ายมากกว่าเช่น ผ่อนระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ หรือให้ทดลองใช้ก่อนตัดบัญชีบัตรเครดิต ทำให้ตัวเลขในการใช้บัตรเครดิตกับโอนเงินสดของธุรกิจขนาดใหญ่มีตัวเลขห่างกันไม่มากนัก

ขณะที่ลูกค้าจะเลือกจ่ายให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีด้วยการโอนเงินผ่านเว็บไซต์หรือแอป มีสัดส่วนที่ห่างจากการใช้บัตรเครดิตมากกว่า 20%

สรุป

ไม่ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยจะเจอปัญหาอย่างไร ในทุกปัญหานั้นสิ่งที่ยังอยู่รอดคือกลุ่มธุรกิจออนไลน์ หากต้องการเป็นแบรนด์ที่อยู่รอดผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องพยายามที่จะปรับตัวและมองหาโอกาสอย่างเต็มที่ เพื่อการรักษาธุรกิจที่มีมายาวนานให้คงอยู่หรือสร้างโอกาสให้แบรนด์เกิดใหม่ได้ลืมตาอ้าปากสักครั้งก็เป็นได้