Site icon Thumbsup

[วิเคราะห์] อุตสาหกรรมอาหารปี 64 มีความเสี่ยงและท้าทายสูง การลงทุนใหม่ยังต้องระมัดระวัง

ปี 2564 ถึงแม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญไปยังการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ แต่สภาพแวดล้อมธุรกิจร้านอาหารยังมีความท้าทายสูงจากความเสี่ยงของโควิด-19 และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแต่ละประเภทในรูปแบบที่ต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 กรณีที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไม่ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างจนทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการคุมเข้ม มูลค่าตลาดร้านอาหารน่าจะยังขยายตัวในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 1.4 – 2.6

ปัจจัยกดดันดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเทรนด์ที่เห็นชัด คือ รูปแบบของร้านอาหารขนาดเล็ก (Compact Size) ที่เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว (Mobility) รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ (Flexibility) มากกว่ารูปแบบเดิม

อย่างไรก็ดี โอกาสในความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละร้านอาหาร ซึ่งรวมถึงมาตรฐานของการป้องกันโควิดในทุกๆจุดของบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ การปรุง การจัดส่ง  เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคงจะเลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่ทำเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่า

นอกจากนี้ ในปี 2564 ถึงแม้คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะยังมีการเข้ามาลงทุนจากผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ แต่ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และปัจจัยแวดล้อมที่ท้าทายสูง น่าจะส่งผลให้ผู้เล่นจำนวนไม่น้อยต้องออกจากการแข่งขัน แสดงให้เห็นถึงภาพการหมุนเวียนเข้าออกที่สูงของผู้เล่นในธุรกิจ

ธุรกิจร้านอาหารปี 2564 : สภาพแวดล้อมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ความกังวลของผู้บริโภคต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 – 2.6 โดยเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ

ธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูง โดยในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ส่งผลทำให้ทางการในบางจังหวัดได้ยกระดับมาตรการการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิดไปจนถึงต้นปี 2464 ซึ่งคาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร เช่น สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ขณะที่หลายจังหวัดได้ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านอาหารอย่าง Full Service ทยอยกลับมาดีขึ้น หรือกลุ่มร้านอาหารอย่าง Street Food ได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบาย “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่งผลให้ทั้งปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะหดตัวร้อยละ 6.0 หรือมีมูลค่าประมาณ 4.05 แสนล้านบาท

แม้ธุรกิจร้านอาหารจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญไปยังการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ แต่เนื่องจาการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าที่จะสามารถทำการควบคุมได้ ส่งผลให้ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) อาทิ ร้านอาหาร Fine Dinning ร้านอาหาร Buffet รวมถึงร้านอาหารที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือชาวต่างชาติที่เดินมาทำงานในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากทั้งความกังวลของผู้บริโภคและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

อย่างไรก็ดี กลุ่ม Segment ที่คาดว่าจะมีการเติบโตให้เห็นเล็กน้อยจะเป็นร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street Food) โดยเฉพาะราคาระดับเริ่มต้น-กลาง เนื่องจากมีช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลายประกอบกับปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมถึงการเข้ามาขยาย Segment และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการรายกลาง-ใหญ่ จึงคาดว่าร้านอาหารในกลุ่มดังกล่าวจะมีการขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 2.0 ตามลำดับ

ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจดังกล่าว ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่รวมถึงการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนแรกของปีในบางพื้นที่ คาดว่า ในปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวม 4.10 – 4.15 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 – 2.6 จากฐานที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสสองปี 2563 โดยมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562

โควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ (Landscape) ของธุรกิจร้านอาหาร

แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่ผู้ประกอบการทั้งหลายโดยเฉพาะรายใหญ่ ที่ยังมีความจำเป็นต้องลงทุนขยายสาขาเพิ่มเติมทั้งในร้านอาหารประเภทเดิมและเพิ่มความหลากหลายของร้านอาหารทั้ง Segment เดิม และการรุกไปทำตลาดอย่างต่อเนื่องใน Segment ใหม่

เช่น ร้านอาหารข้างทาง เพื่อให้สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆและรักษายอดขายโดยรวม Total Store Sale (TSS) ของพอร์ตธุรกิจของตนได้ ตลอดจนถึงรายย่อยต่างยังให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในการทำธุรกิจร้านอาหาร

ประกอบกับกลุ่มผู้เล่นรายใหม่ขนาดเล็กที่เข้ามา โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการจ้างงานและกลุ่มที่ต้องการหารายได้เพิ่มเติมจากงานประจำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการให้บริการแพลตฟอร์มออน์ไลน์ยังให้ความสนใจเข้าแสวงหาโอกาสในการต่อยอดการให้บริการในธุรกิจร้านอาหาร ประกอบกับความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ในระยะข้างหน้า

ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในภาวะที่ความท้าทายรอบด้านสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก Compact Size มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

  1. เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว (Mobility) จากการแข่งขันที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ โดยการเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ กอปรกับ พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิดที่เปลี่ยนไปโดยปรับมารับประทานอาหารในที่พักมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องปรับมาลงทุนในร้านอาหารขนาดเล็กซึ่งมีจุดแข็งดังกล่าว

อาทิ ร้านอาหารชั่วคราว Pop up restaurant ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ผู้ประกอบการรายเล็กมักเลือกเข้ามาลงทุน เนื่องจากใช้เงินลงทุนล่วงหน้าและเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจที่น้อย ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเงินทุนสูงขึ้นและต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในหลายพื้นที่ที่ต่างกัน อาจเลือกลงทุนใน ร้านอาหารประเภท ฟู้ดทรัค (Food Truck)

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีชื่อเสียงและต้องการลดความเสี่ยงในการลงทุนขยายสาขาไปพื้นที่ใหม่ๆ อาจเลือกลงทุนใน ร้านอาหารประเภทครัวกลาง (Cloud Kitchen) ซึ่งรวมร้านอาหารหลายๆประเภทเข้าด้วยกัน และเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสั่งอาหารไปยังที่พักโดยเฉพาะ โดยมีจุดเด่นในการใช้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 รวมถึงมาตรการคุมเข้มต่างๆ ที่อาจถูกยกระดับขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนของช่องทางการสร้างรายได้และกลุ่มเป้าหมาย ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้องค์ประกอบที่สำคัญอีกประเภทในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในระยะข้างหน้าได้แก่

  1. ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ (Flexibility) ที่รวมถึงความยืดหยุ่นในช่องทางการตลาด หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ การปรับลดเวลาเปิดปิด การจำกัดประเภทเมนูอาหาร การปรับหน้าที่ของพนักงานในร้าน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนในร้านได้ง่ายขึ้น

โดยตัวอย่างรูปแบบของร้านอาหารที่มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ได้แก่ ร้านอาหารขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัด อาทิ Kiosk ซึ่งมีจุดเด่นที่การใช้เงินลงทุนล่วงหน้าและเงินทุนหมุนเวียนที่น้อยกว่าร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ ขณะที่ยังมีความยืดหยุ่นของช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลาย ทั้งจากช่องทางภายในร้าน รวมถึงรองรับการจัดส่งอาหารไปยังที่พักได้เช่นเดิม โดยความยืดหยุ่นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารก็ยังถือว่าเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูง โดยโอกาสในความสำเร็จในธุรกิจดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ ช่องทางการทำตลาดที่หลากหลาย การบริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบของร้าน รวมถึงมาตรฐานของการป้องกันโควิดในทุกๆจุดของบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ การปรุง การจัดส่ง  เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคงจะเลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่ทำเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่า

การขนส่งอาหาร/สินค้าแปรรูป ยังเจอผลกระทบหนัก

สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหาร ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเฉลี่ย 9 เดือนแรก ของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 102.15 หดตัวร้อยละ -7.02 (%yoy) ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตพืชผลเกษตรเพื่อเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลง เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารลดลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะน้ำตาลทรายดิบ (-52.76%) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (-36.36%) น้ำมันปาล์ม (-9.27%) แป้งมันสำปะหลัง (-7.74%) ผักผลไม้อบแห้ง (-17.93%) และสับปะรดกระป๋อง (-1.38%) รวมถึงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คำสั่งเคอร์ฟิว/มาตรการ Lockdown และนโยบาย WFH ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนขาดแคลนแรงงานและ มีกำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ หากไม่รวมน้ำตาลทรายพบว่า ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 103.40 ขยายตัวร้อยละ 1.35 (%yoy) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องการกักตุนอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป/อาหาร กึ่งสำเร็จรูป/อาหารที่เก็บรักษาได้นานขยายตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง (18.31%) ปลาแช่แข็ง (17.53%) ทูน่ากระป๋อง (15.65%) น้ำปลา (10.05%) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (4.07%) ไส้กรอก (1.99%) และเนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็ง (1.80%) เป็นต้น

การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 743,981.34 ล้านบาท หดตัว ร้อยละ -0.81 (%yoy) โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าส่งออก หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (-31.26%) ข้าว (-15.53%) และ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-2.35%) (สินค้าทั้ง 3 กลุ่ม มีสัดส่วน มูลค่าส่งออกกว่า 26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) มีสาเหตุสำคัญ จากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตเกษตรลดลงและไม่เพียงพอต่อ การแปรรูปเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออก ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่าลดลงไม่มากนัก เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์อาหารหลายกลุ่มยังคงขยายตัวได้ โดยได้รับอานิสงส์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยในบางประเภทเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารและ เพื่อสำรองไว้หากเกิดมาตรการ Lockdown

ธุรกิจส่งออกเครื่องดื่มก็เจอศึกหนัก

ดัชนีผลผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 113.01 หดตัวร้อยละ -0.33 (%yoy) ซึ่งได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ เศรษฐกิจชะลอตัวลง ภาครัฐออกมาตรการควบคุมและสั่งปิด สถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

ซึ่งมีความเสี่ยง ในการแพร่เชื้อฯ รวมถึงมาตรการ Lockdown ส่งผลให้ ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มจากทั้งผู้บริโภคในประเทศและ นักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลง โดยเครื่องดื่มที่หดตัวลง ได้แก่ ชาพร้อมดื่ม (-10.90%) น้ าดื่ม (-5.38%) กาแฟพร้อมดื่ม (-2.87%) โซดา (-2.48%) และน้ำอัดลม (-2.37%)

การส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 9 เดือนแรก ของปี 2563 มีมูลค่า 40,473.80 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.71 (%yoy) ซึ่งการส่งออกเครื่องดื่มขยายตัวจากความ ต้องการบริโภคเครื่องดื่มของประเทศคู่ค้าหลักที่เพิ่มมากขึ้น (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)

โดยเครื่องดื่มที่ขยายตัว ได้แก่ นมยูเอชที (17.19%) กาแฟพร้อมดื่ม (10.85%) น้ำอัดลมและ น้ำดื่ม (2.09%) การนำเข้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 9 เดือนแรก ของปี 2563 มีมูลค่า 2,844.40 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.64 (%yoy)

ซึ่งไทยนำเข้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (เช่น นม/ชา/น้ำแร่/กาแฟ/โกโก้เกรดพรีเมี่ยม และเครื่องดื่ม สปาร์คกิ้ง เป็นต้น) จากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีรายได้ประมาณ 2.50 ล้านล้านบาท มีกำไรประมาณ 9.93 หมื่นล้านบาท และมีผู้ประกอบการกว่า 14,185 ราย โดยแนวโน้มภาพรวมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ มีทิศทางดีขึ้น

สะท้อนจากรายได้ของบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมที่ขยายตัว โดยบริษัท ขนาดใหญ่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มีรายได้สูงที่สุด 5 บริษัทแรก มีรายได้รวมใน 9 เดือนแรก ของปี 2563 รวมทั้งสิ้น 187,221.93 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.37 (%yoy)

จากการขยายตัวของความต้องการผลิตภัณฑ์ อาหารจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ประกาศใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการลุกลามของไวรัส COVID-19 ทำให้ประชากรมีความต้องการกักตุนอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อไว้บริโภคภายในครัวเรือน

ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักขยายตัว โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป/อาหารพร้อมทานพร้อมปรุง/ อาหารที่เก็บรักษาได้นาน เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มปี 2564 กรณีการระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564

คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคและการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอาจมีความเสี่ยงที่ทำให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ หากการระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่และสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีระดับความรุนแรงสูง

โอกาสฟื้นตัวของธุรกิจ

ปัจจัยสนับสนุนที่เป็นแรงหนุนให้อุตสาหกรรมฯ เริ่มฟื้นตัว ฀ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก (จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) โดย IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในปี 2564 อยู่ที่ 4.0%, 8.2%, 2.3% และ 3.1% ตามลำดับ (ปี 2563 เติบโต -7.1%, 1.9%, -5.3% และ -4.3% ตามลำดับ)

ทำให้กิจกรรมทาง เศรษฐกิจ ภาคการผลิต และการบริโภคของครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ฀มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 500 บาท/คน ระยะเวลา 3 เดือน)

โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 (ภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป) มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน (มุ่งกระตุ้นให้คนที่มี ระดับรายได้ปานกลางถึงสูงมีการใช้จ่ายมากขึ้น) และการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็น กรณีพิเศษ (Smart Visa) (เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ)

ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย/การบริโภคภายในประเทศ และส่งแรงขับเคลื่อนต่อเนื่องให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมฯ ฟื้นตัวช้า ฀ ความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ซึ่งหากเกิดคำสั่งเคอร์ฟิว/มาตรการ Lockdown/ภาครัฐสั่งปิดสถานที่ต่างๆ

จะทำให้ผู้คนบริโภคอาหารและเครื่องดื่มนอกสถานที่ลดลง และส่งผลกระทบ เชิงลบต่อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในบางประเภท เช่น แฮม เบคอน น้ำดื่ม น้ำอัดลม ชาพร้อมดื่ม กาแฟพร้อมดื่ม โซดา เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินผู้คนจะเริ่มกักตุนอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อสินค้าอาหารสำเร็จรูป/ อาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารที่เก็บรักษาได้นาน เช่น น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทูน่ากระป๋อง อาหาร/ผักกระป๋อง น้ำปลา ซอส/เครื่องปรุงรส เป็นต้น

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, GSBResearch