Site icon Thumbsup

ขายแค่สติกเกอร์ยังไม่พอ ต้องต่อยอดได้ด้วย ทีมสร้าง Warbie & Yama แนะกลยุทธ์โตนาน

นอกจากการเป็นสตาร์ทอัพที่ได้ทำงานอย่างอิสระแล้ว การเป็นครีเอเตอร์ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนมีของได้ เพราะนอกจากเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกแล้ว ยังสร้างโอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ๆที่จับต้องได้ง่ายมากกว่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะทำงานในกรอบเหมือนคนยุคก่อน แต่น่าเสียดายว่า “พวกเขา” กลับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้คนมีฝีมือเหล่านี้ ค่อยๆ กลืนหายไปกับกาลเวลา

อรุษ ตันตสิรินทร์ ผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์ Warbie & Yama ผู้โด่งดัง

อณิตา ตันตสิรินทร์ Co-Founder มาร่วมแชร์ความเป็นมาของคาแรคเตอร์ Warbie & Yama ว่า ทางคุณ อรุษ ได้ทำ Short Film ที่ชื่อว่า Warbie & Yama in “Cheez…z” Animated Short by Arut Tantasirin เกี่ยวกับเจ้านกมองแรงตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อเป็นโปรเจคสุดท้ายตอนเรียนปริญญาโท และแสดงผลงานให้กับเทศการหนังสั้น ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกเลือกให้ไปทำงานที่ Nickelodeon Movies และเป็นคนไทยในทีมสร้างสรรค์การ์ตูนหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง Teenage Mutant Ninja Turtles เต่านินจา

จากนั้น ในปี 2014 เมื่อ Line เปิดให้ครีเอเตอร์เข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน “คุณแม่ของคุณอรุษ” ก็จุดประกายให้เขานำคาแรคเตอร์นี้มาทำเป็นสติกเกอร์ ในปี 2015 และก็เป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา

จากนั้นในปี 2016 ก็ได้มีการพัฒนาออกมาเป็น Merchandise เพราะมีแฟนคลับส่งข้อความมาบอกว่า อยากได้ความเป็น Reality ของเจ้านกจอมแสบนี้มากขึ้น ซึ่งข้อดีของการทำ Merchandise ก็คือ เวลาออกไปร่วม Event จะมี fan เพิ่มมากขึ้น บางคนก็เดินเข้ามาชกมาสคอตด้วยความกวน ซึ่งบางคนที่ไม่รู้จักเจ้านก Warbie แต่เห็นแล้วชอบก็จะสนใจอยากซื้อสินค้า หรือโหลดสติกเกอร์ไปใช้งาน

“ในไต้หวัน Warbie ดังมาก ถึงขนาดว่ามีแฟนคลับมาร้องไห้ใส่นักเขียนก็มี เพราะเขารู้สึกดีใจที่ได้เจอและผูกพันกับเราจากการใช้งานสติกเกอร์”

Merchandise หลายรูปแบบที่วางขายในงาน Event

เมื่อตัดสินใจที่จะผลิตออกมาเป็นชิ้นงานแล้ว ขั้นแรก ต้องดูก่อนว่าแบรนด์คาแรคเตอร์เป็นอะไร ต้องการสื่อสารกับใคร สร้างบุคลิกแบบไหน เมื่อชัดเจนว่าต้องการส่ง Message อะไรออกไปแล้ว คนจะจำคาแรคเตอร์นั้น Story ก็จะมีความชัดเจนขึ้น อย่างเรา Target ไว้ที่คนอายุ 20-40 ปี วัยทำงาน ทำให้รู้ว่าเขามีพฤติกรรมแบบไหน จะซื้อ Merchandise ไปทำอะไร ทำให้คนจ่ายรู้สึกว่าคุ้มค่า ก็เลยทำเป็น หมอนไซ้ส์ใหญ่ให้ออกมาใช้งาน ให้คนกอดรู้สึกผ่อนคลายไม่ใช่แค่ตั้งโชว์

ตัวอย่างหมอน Warbie

จากนั้นเราก็หาโรงงานผลิตในไทย เพราะเชื่อว่าคนไทยมีความประณีตและใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าไปสั่งทำล็อตใหญ่ในจีน เพราะเราไม่ต้องการผลิตจำนวนมากเพื่อมาวางขายหวังกำไร แต่ต้องการผลิตออกมาให้คนที่รักและอยากใช้งานจริงๆ ดังนั้น พอมีลูกค้าที่ส่งข้อความมาบอกเราในเพจว่า ต้องการจะ Surprise ให้กับเพื่อนหรือคนสนิท เราก็จะมีกิมมิคพิเศษส่งไปให้เขา เพื่อให้รู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน

ตัวละครใหม่ Phebie

นอกจากนี้ ช่องทางการขายหลัก คือเว็บไซต์ www.warbieyama.com ที่เอาไว้สื่อสารกับแฟนและเป็นช่องทางการขายหลัก ก็ยังมี Line Gift shop และก็การออกงาน Event ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความที่ Warbie มีบทบาทกับผู้ที่ชื่นชอบ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนสร้างสรรค์มากขึ้น พอออกมาเป็นสินค้า ฟีดแบคจะไม่เหมือนกัน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ คือ การจดลิขสิทธิ์ ด้วยความดัง ทำให้มีคนนำไปใช้ในทางที่ผิด บางคนคิดว่าเป็นคาแรคเตอร์ของญี่ปุ่นไม่มีใครมาจับหรอก แต่พอเราแจ้งไปคนขายก็รีบหนี ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร ซึ่งปัญหานี้เมื่อคุณดังย่อมเจอแน่นอน และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ เกิดขึ้นเฉพาะในไทยและอินโดนีเซียเท่านั้น

Cheez…z : Warbie & Yama 3 (Animated) เป็นสติกเกอร์ที่ขายดีมากหลังเปิดให้ดาวน์โหลด และช่วยดันให้สติกเกอรือื่นๆ ดังขึ้นมาด้วย

ทางด้านของการสนับสนุนและเดินหน้าต่อนั้น อณิตา กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยกันผลักดันคนมีฝีมือกลุ่มนี้ให้มากขึ้น อย่างครีเอเตอร์ของ Line เองก็มีกว่า 2.45 แสนราย ก็น่าจะมีการสนับสนุนที่เปิดกว้างบ้าง แทนที่จะไปเสียเงินซื้อคาแรคเตอร์จากต่างประเทศเข้ามา อย่างเช่น ภาครัฐของไต้หวัน มีการช่วยสนับสนุนด้วยการให้นักเขียนนำครีเอเตอร์นำผลงานไปติดบนรถไฟฟ้าให้คนเห็นและอยากซื้อ อยากโหลด หรือมี Event ในแต่ละเดือนให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อให้ทั้งคนต่างชาติที่เดินทางมาไทยหรือคนไทยด้วยกันเองได้เห็นและสร้างการรับรู้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สร้างธุรกิจต่อไปได้

อณิตา ตันตสิรินทร์ ผู้เดินหน้าสร้างแบรนด์ Warbie & Yama ให้เป็นที่รู้จักในไทย

การที่คนไทยมีฝีมือไปทำงานเมืองนอก ไม่อยากกลับมาทำที่ไทยนั้น เพราะแรงขับเคลื่อนในไทยยังน้อยและแรงผลักดัน ก็ไม่เพียงพอให้เขาสามารถสร้างสรรค์ฝีมือได้เต็มที่ มีครีเอเตอร์หลายคนที่ก่อนหน้านี้ ต้องเปลี่ยนอาชีพ จากคนที่มีฝีมือในการออกแบบวาดรูปไปเป็นพนักงานบริษัท เพราะไม่มี “พื้นที่” ให้เขาได้แสดงฝีมือ แต่พอมี Line Creator เข้ามา ทำให้คนกลุ่มนี้ได้เดินตามฝันต่อ

แม้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่ชอบวาดรูปอยากหาที่ “ปล่อยของ” ได้มากกว่านี้ แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมก็ไม่ได้มองว่า ศิลปะ จะช่วยเรื่องการทำมาหากินเลี้ยงชีพในอนาคตได้ การเลี้ยงตัวเองในอาชีพนี้ ต้อง “สตรอง” ได้ในระดับหนึ่ง หากมีใครที่ช่วยแนะนำทาง สร้างการต่อยอด จนเกิดธุรกิจได้ อาชีพ ครีเอเตอร์ ก็น่าจะตอบโจทย์เด็กไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงก็เป็นได้