ด้วยเทรนด์การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ทำให้หลายแบรนด์ต้องปรับตัวกันเยอะเลยใช่ไหมคะ แล้วนอกจากโอกาสในการเข้าสู่โลกออนไลน์การทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับลูกค้าก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ ทาง thumbsup ได้รับเกียรติจาก คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาของไทย มาแชร์ข้อมูลต่างๆ ให้อ่านกันค่ะ
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คนไทยยังมีเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายเพียง 1-2% หมายความว่าโอกาสของอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอีกนั้นมีสูงมาก อาจเกิน 10 เท่าเลยก็เป็นได้ แม้ว่าจีนจะมีการเติบโตเร็วมากแตะ 15% ไปแล้วในปี 2016 แต่กว่าจะโตได้ขนาดนี้ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี
นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้มีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 330 ล้านคน มากกว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ คาดว่าในปี 2020 จะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกิน 480 ล้านคนได้ไม่ยาก และประเทศอินโดนีเซียถือว่าโตเร็วที่สุด เพราะอินเทอร์เน็ตบ้านเขาเป็น 1 ใน 3 ของโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด แน่นอนว่ากลายเป็นโอกาสอย่างมหาศาลของการขายของออนไลน์
ยิ่งคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดในโลกถึง 4.2 ชม./วัน ยิ่งเป็นโอกาสในการขายสินค้าออนไลน์ โดยธุรกิจที่ขายสินค้าแบบ B2C และ C2C มีโอกาสโตมากกว่าตัวเลขคาดการณ์หรือใกล้เคียง 15% แต่การขายแบบนี้จะไม่รวมโซเชียลคอมเมิร์ซ
การที่ภาคธุรกิจสร้างโอกาสในการขายแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้เชื่อมโยงกันจะยิ่งทำให้โอกาสในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ กว้างขึ้น และความห่างระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ยิ่งสั้นลง เพราะคนตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น เพราะ 99% ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนมาเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อ จากการเก็บข้อมูลพบว่า 8 ใน 10 คนใช้มือถือในการเปรียบเทียบราคา อ่านรีวิวและหาข้อมูลสินค้า ทั้งก่อนและหลังการซื้อ หากแบรนด์จะจับเฉพาะกลุ่มออฟไลน์ก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนออนไลน์ด้วย
ส่วนในต่างประเทศ ปัจจัยที่ใช้ในการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ ประกอบด้วย
- ราคา 36%
- อ้างอิงเว็บแบรนด์ 30%
- การจัดส่งที่รวดเร็ว 17%
- จำนวนสินค้า 14%
การที่มี internet user จำนวนมาก แบรนด์ต้องทำยังไงจะเปลี่ยนให้คนกลุ่มนี้เป็น customer ก็ต้องมี buyer journey ของสินค้าก่อน เพื่อให้รู้ก่อนว่าลูกค้าจะใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อใช้เวลานานแค่ไหน และลองจับคู่สินค้ากับลูกค้าของคุณ และ Mapping ปัญหาด้วย buyer journey จะได้รู้ว่าลูกค้าแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยใช้หลัก Problem —> Search —> Sale เพราะเมื่อเกิดปัญหา จะเกิดการค้นหาข้อมูลก่อน เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา
ดังนั้น การทำบทความให้ความรู้ โดยไม่ได้แนะนำสินค้าหรือ Tie-In สินค้าตลอดเวลา จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าคุณมีวิธีแก้ปัญหาให้เขา และเขาอยากกลับเข้ามาอ่านข้อมูลจากคุณบ่อยๆ เพราะลูกค้ารู้สึกว่าคุณคือตัวจริง เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือได้จริง หรือเมื่อมีการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้าและช่วยเหลือเขาได้ ครั้งต่อๆ ไป ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า ลูกค้าจะนึกถึงแบรนด์ของคุณก่อนและเชื่อมั่นมากกว่า
แม้ว่าหน้าที่ของกูเกิลคือแก้ปัญหาให้ผู้คน แต่คุณก็จะต้องตีความคิดให้ได้ว่า คนใช้งานเขาต้องการอะไรและกูเกิลจะสแกนหาข้อมูลที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นแบรนด์จึงควรที่จะรู้ว่าเขียนบทความอย่างไรให้คนค้นหาเจอบทความของเราและเข้ามาหาความรู้ ซึ่งการให้ความรู้นั้นทำได้หลายอย่าง ทั้ง blog review หรือทำ content idea และบทความลักษณะนี้ จะเข้าถึงผู้คนได้ดีกว่าและจะมีคนช่วยคุณบอกต่อได้แบบอัตโนมัติด้วย