กระแสการรับชมคอนเทนต์ผ่านสตรีมมิ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมคอนเทนต์ทั้งเก่าและใหม่ ให้ผู้บริโภครับชมย้อนหลังหรือในช่วงเวลาที่ตนเองสะดวก ด้วยพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ตามความพอใจของคนรุ่นใหม่นั้น กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คนสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบละคร ซีรี่ย์ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันกระแส
thumbsup ได้เข้าร่วมฟังงานสัมมนา Nitade@NIDA ในหัวข้อ “Streaming Wars 2021: โอกาสหรือวิกฤตของธุรกิจ content ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย” มีประเด็นที่น่าสนใจมากมายเลยค่ะ
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ และ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Disney+ ไว้อย่างน่าสนใจ
ด้วยธุรกิจสตรีมมิ่งที่ขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ผู้บริหารของ Disney วางกลยุทธ์ที่จะเปิดตัว Disney+ และ Disney+ Hotstar เพื่อนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพสูงสำหรับครอบครัวและผู้ชมทุกเพศทุกวัย รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเติบโตของแบรนด์ดิสนีย์สู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ สตรีมมิ่งเป็นบริการที่มีผู้ให้บริการรายเดิมในตลาดอยู่แล้ว เราจึงเห็นการผสมผสานด้านกลยุทธ์ของดิสนีย์ทางด้านราคากับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้เร็วขึ้น ผ่าน 5 แนวทางคือ
- สร้างแรงจูงใจด้านราคา ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าผู้ให้บริการรายอื่นในท้องตลาด
- ให้ผู้บริโภคที่ได้ทดลองใช้บริการเป็นคนสร้างกระแสให้ผู้บริโภครายใหม่สนใจ อยากรับชม เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงคอนเทนต์
- สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับดิสนีย์ ทำให้เป็นงานที่ต้องเสพ (must see)
- ตอกย้ำแบรนด์ที่มีความสร้างสรรค์และเป็นสตรีมมิ่งที่อยากรับชมเป็นตัวเลือกแรก
- เน้นกลุ่มผู้ชมทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นฐานผู้บริโภคหลัก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ดิสนีย์พลัส สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เพียงพอต่อการเผยแพร่ ทีมบริหารจึงวางงบประมาณในการผลิตคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟไว้ถึง 14-16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2024 รวมทั้งคาดหวังให้คอนเทนต์เหล่านี้ สามารถเข้าถึงคนทุกระดับและดึงดูดกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ อยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังคาดหวังคุณภาพของคอนเทนต์มากกว่าปริมาณ เพราะต้องการที่จะเป็นท็อป 3 ในวงการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และ Amazon Prime ทำให้จำนวนซีรี่ย์ในระบบตอนนี้แบ่งเป็น ซีรีย์และรายการโทรทัศน์ 7,500 ตอน ภาพยนตร์ 500 เรื่อง ถือว่าน้องกว่าคู่แข่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ ที่มีภาพยนตร์ 3,600 เรื่อง ซีรี่ย์หรือรายการโทรทัศน์ 1,800 เรื่อง (มากกว่า 10,000 ตอน)
ตัวเลขทางธุรกิจที่น่าสนใจของดิสนีย์พลัส
ในปี 2020 ที่ผ่านมา ดิสนีย์พลัสสามารถสร้างรายได้อยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีผู้สมัครทั่วโลก 86.8 ล้านคน โดย 30% จากตัวเลขนี้มาจากผู้สมัคร ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ และยังตั้งเป้ารายได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญในสิ้นปี 2021 ซึ่งมียอดผู้สมัครเกิน 100 ล้านคนทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผู้สมัครทั่วโลกรวมกัน 230-260 ล้านคนในปี 2024 โดย 30-40% ของผู้สมัครต้องมาจากดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์
ตั้งแต่ Disney+ เริ่มเปิดให้บริการในประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนกันยายน ปี 2020 มีผู้สมัครถึง 2.5 ล้านราย Viu 1.5 ล้านราย Vidio 1.1 ล้านราย และ Netflix 850,000 ราย
ทั้งนี้ เมื่อดูตัวเลขเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและสิงคโปร์ พบว่า ผู้ใช้บริการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 4.9 ล้านราย แบ่งเป็น Disney+ 43% Viu 12% ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมกัน 24.2 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม Netflix ยังคงครองสัดส่วนระยะเวลาของผู้ชมได้มากถึง 40% Viu 15% WeTV 13% iQiYi 10% Disney+ 2%
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งเลือกชมคอนเทนต์เกาหลีใต้สูงถึง 34% คอนเทนต์อเมริกัน 30% คอนเทนต์ท้องถิ่น 13% ญี่ปุ่น (คอนเทนต์ประเภทอะนิเมะ) 9% และอื่นๆ อีก 14%
glocalization โอกาสของคอนเทนต์ไทยสู่สากล
การใช้กลยุทธ์ glocalization ของทุกสตรีมมิ่งดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกแรกที่ทุกสตรีมมิ่งจะต้องมีอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะไม่ว่าคอนเทนต์ต่างชาติจะดีแค่ไหน แต่คอนเทนต์ท้องถิ่นด้วยวัฒนธรรมที่คุ้นเคยของแต่ละชาติ ก็ยังทำให้คนในประเทศนั้นๆ คุ้นเคยกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ไวกว่าการมีคอนเทนต์หลักเพียงอย่างเดียว
อาจารย์วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล DPU และ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ อาทิ “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” “30+ โสด ออน เซลล์” เล่าว่า เราเห็นความพยายามของ Netflix อย่างการแต่งตั้งนายยงยุทธ ทองกองทุนเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทย เข้ามาเติมโอกาสในเรื่องของการดีลธุรกิจการนำคอนเทนต์ไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ทำให้มีคอนเทนต์สัญชาติไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือกับไทยทีวีสีช่อง 3 ในการนำละคร 6 เรื่องออกอากาศคู่ขนานทั่วอาเซียน
การร่วมมือกับผู้ผลิตรายการดังชั้นนำหลายรายของไทย ทั้ง GDH, GMM
นอกจากนี้ ยังมีซีรี่ย์วายที่ผลิตโดยผู้กำกับชาวไทยแต่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน อย่างเรื่อง Love Sick the series ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการนำเสนอคอนเทนต์รักร่วมเพศในบทตัวแสดงนำ หรืออย่างดิสนีย์พลัสก็มีการสร้างคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ อย่าง อิน-จัน มาสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชาวไทยเช่นกัน
ปัญหาที่คอนเทนต์ไทยในระดับโลกมีน้อย
ด้วยเนื้อหาของคอนเทนต์ที่เปิดกว้าง และโอกาสของผู้ชมคอนเทนต์ก็ต้องเนื้อหาที่หลากหลายมากกว่าที่มีการออกอากาศอยู่ในระบบทีวีแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ผลิตเองต่างก็ต้องพัฒนาความสามารถ รู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคและภาครัฐส่งเสริมให้ถูกจุดกว่านี้
ในต่างประเทศอย่างเช่น เกาหลีใต้ มองว่าการสร้างสรรค์งานซีรี่ย์ให้เข้าถึงผู้ชมได้นั้น จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการผลักดันทั้งความสามารถทางการแสดง วัฒนธรรมเสื้อผ้า อาหาร ภาษา บทเพลง อัตลักษณ์ทางกายภาพ
เราจึงเห็นความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีอย่างรวดเร็วทั้งด้านของศิลปิน นักแสดง สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ไปจนถึงการศัลยกรรม ต่างก็เป็นโอกาสที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี
“คนที่สร้างคอนเทนต์เก่งๆ ไม่ได้มีหัวทางเรื่องของการบริหารทุกคน ดังนั้น การมีหน่วยงานส่วนกลางเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องให้คำปรึกษา สร้างคอนเนคชั่น เป็นแหล่งข้อมูลวิเคราะห์ผู้บริโภค หากมีสิ่งเหล่านี้ได้ครบก็น่าจะช่วยให้วงการผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทยเติบโตระดับโลกและสร้างรายได้เข้าประเทศได้”
นอกจากนี้ การศึกษาในระบบแบบเดิมไม่ได้ให้ความรู้นักศึกษาเกี่ยวกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่อัพเดทตลอดเวลา เครื่องมือในการพัฒนาและสร้างสรรค์คอนเทนต์ก็ยังเป็นแบบเก่า ทำให้นักศึกษาไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความรู้ความสามารถทัดเทียมระดับโลกได้
ผู้บริโภคที่พร้อมจ่ายหรือเสพคอนเทนต์นั้นมีอยู่อย่างมาก สวนทางกับความสามารถที่ยังมีขีดจำกัดและโอกาสก็ยังเข้าถึงไม่มากพอ หากรัฐและเอกชนร่วมกันสร้างฐานความรู้และธุรกิจให้แข็งแรงย่อมเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจคอนเทนต์ที่มีอยู่อย่างมหาศาล
ที่มา : Nitade@nida