Wikipedia อธิบายว่า hyperlink คือคำหรือวลีที่ปรากฏอยู่ในเอกสารข้อความ ใช้สำหรับเปิดเอกสารอื่นที่เชื่อมโยงด้วยวิธีการคลิกลงบนคำหรือวลีนั้น โดยเฉพาะกับเว็บเพจซึ่งจะทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ ข้อความที่เป็นลิงก์มักจะปรากฏเป็นสีหรือรูปแบบที่โดดเด่นกว่า ซึ่งการสำรวจล่าสุดพบว่า hyperlink สามารถใช้สีใดก็ได้ที่ต้องการ ขอเพียงแค่ให้สีไม่กลืนไปกับพื้นหลังก็พอ
ผลการสำรวจครั้งนี้ถือว่าท้าทายสิ่งที่ผู้สร้างเว็บเพจรู้เกี่ยวกับสีและข้อความ เพราะตั้งแต่ยุคแรกเริ่มอินเทอร์เน็ต hyperlink ก็ถูกออกแบบมาเป็นสีน้ำเงิน ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ได้เคยพยายามทดลองเปลี่ยนสีลิงค์ผลการค้นหาทั้งหมดเป็นสีดำแทนที่จะเป็นสีน้ำเงิน แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจและกลับมากำหนดให้ผลลัพธ์บน Google เป็นสีฟ้ามาจนถึงทุกวันนี้
แถบสีช่วยเพิ่มความน่าสนใจ
งานวิจัยล่าสุดชื่อ PLOS One ที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Southampton พบว่า hyperlink สีน้ำเงินที่เป็นมาตรฐานเว็บเก่าแก่นั้นใช้ได้ผลจริง ซึ่งจากการนำเครื่องมือติดตามดวงตามาใช้ศึกษาถึงผลการอ่านสีข้อความทุกประเภท รวมถึง hyperlink บนหน้า Wikipedia นักวิจัยพบว่าสีไม่ส่งผลต่อการอ่านข้อความที่ถูกพิมพ์ออกมาบนกระดาษแล้ว แต่สิ่งที่มีผลมากกว่าสีคือการจัดวางข้อความให้โดดเด่นมากกว่าภาพพื้นหลัง
สำหรับนักออกแบบเว็บไซต์ บทเรียนสำคัญที่ได้จากงานวิจัยนี้คือการใส่สีสันในข้อความบนเว็บไซต์นั้นจะไม่มีผลกระทบด้านลบต่อพฤติกรรมการอ่าน โดยนักวิจัยทำการทดสอบแยกกัน 3 ชุดกับผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษจำนวนไม่เกิน 50 คน การทดสอบแต่ละครั้งสร้างขึ้นเพื่อพยายามหาจุดที่สีจะส่งผลต่อความเร็วในการอ่าน หรือส่งผลกระทบต่ออัตราการอ่านซ้ำ การทดสอบครั้งแรกจึงมีการแทรกคำเดียวที่มีสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว สีแดง และสีเทา ในหลายประโยค
นี่คือตัวอย่างของประโยคที่ถูกตั้งขึ้นมาในการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่ามีโอกาสน้อยที่ผู้คนจะข้าม และไม่อ่านคำที่ไฮไลท์สีเอาไว้ อาจเป็นเพราะทุกคนเข้าใจว่าสีทำหน้าที่เป็นสัญญาณว่าคำนั้นอาจมีความสำคัญในทางใดทางหนึ่ง ปัญหาคือเมื่อคำเป็นสีเทาอ่อนหรือสีเขียว การสำรวจพบว่าผู้ใช้จับจ้องกับคำนานกว่าค่าเฉลี่ย เพราะสีนี้ทำให้ความคมชัดลดลงส่งให้การมองคำไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
การทดสอบชุดที่สองมีการวางคำหลายคำด้วยสีเดียวกันในหนึ่งประโยค เช่น
นี่คือตัวอย่างของความแตกต่างในประโยคที่ทดสอบชุดที่ 2
ผลการทดสอบไม่ต่างกับชุดแรก นั่นคือสีไม่รบกวนการอ่าน เว้นแต่ว่าจะมีความคมชัดต่ำ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าเมื่อคำหลายคำถูกเปลี่ยนสีใหม่ ผู้อ่านก็จะข้ามคำเหล่านี้ไปอีก แสดงว่าผู้อ่านเริ่มอ่านคำเท่าๆกันโดยไม่สนใจสิ่งกระตุ้นพิเศษ
การทดสอบชุดที่ 3 เป็นการจำลองลักษณะข้อความบน Wikipedia ซึ่งใช้ hyperlink สีน้ำเงินดั้งเดิม ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างไม่ได้ให้ความสำคัญกับ hyperlink เป็นพิเศษ ยกเว้นในกรณีเดียว คือกรณีที่คำ hyperlink เป็นคำที่มี “ความถี่ต่ำ” ซึ่งปรากฏตัวน้อยครั้งบนบทความนั้น
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า hyperlink มักจะใช้อธิบายคำที่ผู้อ่านทั่วไปมักจะไม่เข้าใจ ทำให้ผู้อ่านมักอ่านซ้ำส่วนที่นำไปสู่คำ hyperlink นั้นอีกครั้งเพราะพยายามทำความเข้าใจความหมายของคำนี้
โดยรวมแล้วงานวิจัยนี้สามารถยุติการถกเถียงมานานเรื่องข้อดีของสีน้ำเงินใน hyperlink เพราะสามารถสรุปได้ว่าการใช้สีอื่นใน hyperlink อาจไม่มีผลกระทบ เพียงแต่อาจทำให้ยากขึ้นสำหรับผู้อ่านที่จะรู้ว่าคำใดคือ hyperlink เนื่องจากส่วนใหญ่คาดหวังว่า hyperlink มักจะเป็นสีน้ำเงิน
ดังนั้น เจ้าของเว็บไซต์สามารถใช้สี hyperlink ใดก็ได้ที่ต้องการ แต่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า hyperlink นั้นไม่ได้ใช้สีที่กลืนไปกับพื้นหลัง เพื่อให้ hyperlink สามารถดึงดูดความสนใจได้มากขึ้นบนหน้าเว็บ และหากรวมกับความเคยชินของชาวเน็ต สรุปได้เลยว่า hyperlink สีน้ำเงินยังคงเป็นสีที่ดีที่สุด
ที่มา: : FastCompany