ในยุคโซเชียลมีเดีย – แอปพลิเคชันส่งข้อความครองเมือง เคยพลาดเผยแพร่ข่าวปลอมโดยไม่ตั้งใจกันบ้างไหมคะ ถ้าใครยังไม่เคย ก็ต้องยกนิ้วให้ว่าเก่งมากๆ จริงๆ
ส่วนหนึ่งของปัญหาข่าวปลอมนั้นคงต้องยอมรับว่า สังคมคนเมืองทุกวันนี้ หลายครั้งที่เราต่างมองหาความจริงใจ และความจริงใจนั้นก็มักจะมาจากโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นที่รวมของเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง ทำให้บางครั้งเราเผลอเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับข้อมูลข่าวสารที่เขาเหล่านั้นแชร์กันบนโซเชียลมีเดียไปโดยไม่ได้ตรวจสอบ
เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันส่งข้อความ ยิ่งเป็นสังคมพ่อแม่ เมื่อลูกเข้าโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือไลน์กลุ่มห้องเรียนของลูก ไลน์กลุ่มห้องวิชาการ ฯลฯ เพื่อให้พ่อแม่รับทราบข่าวสารได้โดยตรงจากโรงเรียน ผู้เขียนมีเหตุการณ์ของโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเกิดมีเด็กป่วยพร้อมๆ กันหลายคน และคาดว่าจะมาจากอาหารเป็นพิษ โดยลูกของเพื่อนผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งในขณะที่ร้อนใจอยู่นั้น ก็มีเพื่อนผู้ปกครองที่สนิทกันคนหนึ่งส่งมาว่า มาจากเชื้อ xxx นะ
เพื่อนผู้เขียนก็เลย “ส่งต่อ” ข้อความนั้นไปถามคุณครูประจำชั้นในไลน์กลุ่ม ผลก็คือ มึนกันไปทั้งกลุ่ม จากเหตุการณ์นี้สรุปได้ว่า มันเป็นข้อความที่เกิดขึ้นนานมากแล้ว แต่บังเอิญเข้ากับสถานการณ์นี้ได้อย่างเหมาะเจาะ ซึ่งการถามไปโดยไม่ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ถูกต้อง ได้ทำให้ผู้ปกครองคนอื่นต้องแตกตื่นไปด้วยอย่างไม่จำเป็น
จริงๆ แล้ว การตรวจสอบที่มาของข่าวสาร เป็นสิ่งที่พึงกระทำค่ะ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จาก URL ที่ส่งถึงกันว่าน่าเชื่อถือไหม เมื่อเห็นว่าน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วก็อาจคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาข้างใน ซึ่งเมื่อเห็นหน้าตาเว็บไซต์แล้ว ด้วยวุฒิภาวะ ผู้ใหญ่หลายคนก็จะพอแยกแยะได้แล้วว่า เนื้อหาที่เรากำลังจะอ่านมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือเป็นแค่เพจที่มาพร้อมข้อความโฆษณาเรียกยอดคนอ่านอย่างเดียว
แต่สำหรับเด็กแล้ว ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ
เพราะมีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมถึง 82 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างข่าวกับบทความที่มีเนื้อหาแอบแฝง (เช่น ได้รับการสนับสนุนโดยสปอนเซอร์) ได้
โดยการศึกษาครั้งนี้มีเด็กเข้าร่วม 8,704 คน (การศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับวิทยาลัย) ซึ่งพบว่า มีเด็กระดับไฮสคูลถึง 4 ใน 10 คนเลยทีเดียวที่เชื่อว่าพื้นที่แถบฟุกุชิม่าของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยสารพิษกัมมันตภาพรังสี โดยเด็กเหล่านี้ได้อ่านเจอมาจากพาดหัวข่าวชิ้นหนึ่ง ที่ภายในมี “ภาพ” แต่ไม่ระบุแหล่งที่มาว่าถ่ายจากที่ไหน เมื่อไร
ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งโรงเรียนและพ่อแม่ต้องหาทางรับมือกันแต่เนิ่นๆ เลยทีเดียว
ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังระบุด้วยว่า ผู้ใหญ่เองก็บริโภคข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย แถมยังมากถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้การรับรู้ข่าวสารเป็นไปในลักษณะที่ว่าแล้วแต่ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Twitter จะเลือกข่าวสารใดขึ้นมานำเสนอให้เรารับรู้ ซึ่งถึงแม้ว่า Facebook และ Google จะเริ่มลงมือจัดการ Fake News เหล่านี้แล้วจริงจังด้วยการแบนไม่ให้ธุรกิจที่นำเสนอข่าวปลอมได้ลงโฆษณาอีก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะข่าวเหล่านี้มีความสามารถในการกระจายตัวเองได้อย่างรวดเร็วอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองคือ “ตัวจริง” ที่จะต้องรับบทผู้ชี้แนะลูกๆ ให้สามารถมองเห็นความแตกต่างของข่าวจริง กับบทความแฝงโฆษณาให้ออกโดยไว ก่อนจะตกเป็นเหยื่อในการบริโภคข้อมูลข่าวสารค่ะ
ที่มา: TechCrunch