หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) คลายล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านเสริมสวย ฟิตเนส ฯลฯ ก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
Thumbsup จึงได้รวบรวมข้อแนะนำและแนวทางการปฏิบัติในสำหรับ “คลินิกเวชกรรมและสถานเสริมความงาม” ในการกลับมาเปิดบริการหลังวิกฤตโควิด-19 มีอะไรบ้างไปดูกันเลยครับ
คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นคลินิกที่มีแพทย์ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมประจำคลินิก ให้เปิดให้บริการเฉพาะบริเวณเรือนร่าง ผิวพรรณ และเลเซอร์ ไม่รวมการเสริมความงามบริเวณใบหน้า ทั้งนี้อาจพิจารณาในส่วนอื่นให้เป็นไปตามมาตรฐานของสถานพยาบาล และมาตรการป้องกันควบคุมโรค
สถานเสริมความงาม อาจรวมถึงกิจการควบคุมน้ำหนัก ไม่รวมการเสริมความงามบริเวณใบหน้า ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการนวดเพื่อเสริมความงาม สปาเพื่อสุขภาพและความงาม สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
มาตรการคัดกรอง
- จัดให้มีการตรวจคัดกรองอาการไข้ไอ หอบเหนื่อย เป็นหวัด สำหรับพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคนก่อนเข้าสถานที่ทั้งนี้ควรมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5องศาเซลเซียสและไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ
- ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะบริเวณส่วนให้บริการห้องสุขา และสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ
มาตรการบริการ
- พนักงานทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าระหว่างให้บริการ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ประจำเคาน์เตอร์ต่างๆ
- พนักงานทุกคน ต้องล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล 70% ก่อนและหลังให้บริการ
- จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันโรคเช่น หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า FaceShield ให้พนักงานทุกคน และรองเท้าสะอาดหรือถุงคลุมรองเท้าสำหรับผู้ใช้บริการ ก่อนเข้าห้องหัตถการ
- งดเว้นบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งหรือเลือด โดยเปิดให้บริการได้เฉพาะบริเวณผิวหนังและการผ่าตัดเล็กแบบไม่ดมยาสลบ
- งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดทันทีหลังการใช้งานของลูกค้าแต่ละคนได้
มาตรการเว้นระยะห่าง
- ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ ไม่ให้แออัดด้วยการลดเวลาในการทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น และงดรอรับบริการภายในคลินิก
- จัดให้มีฉากกั้น (Counter Shield) ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ ณ จุดต้อนรับ จุดประชาสัมพันธ์ หรือจุดให้บริการอื่นๆ และให้ทำสัญลักษณ์เว้นระยะห่างของจุดบริการและพื้นที่รอคิว ที่นั่ง หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
- พิจารณาจัดให้มีการเหลื่อมเวลาการให้บริการ ด้วยระบบจองคิวล่วงหน้าออนไลน์ หรือโทรศัพท์ เพื่อลดความแออัด
มาตรการทำความสะอาด
- จัดให้มีการชำระเงินค่าบริการผ่านระบบออนไลน์(e-Payment) หรือ QR Code ผ่านแอปพลิเคชัน หากชำระด้วยเงินสด ต้องไม่สัมผัสมือโดยตรง
- ให้ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่และพื้นที่จุดสัมผัสร่วม เช่น ถาดใส่เงินทอน ที่จับหรือลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ราวจับ ราวบันได จุดบริการ โต๊ะ เคาน์เตอร์อุปกรณ์ด้วยน้ำยาทำความสะอาด
ที่มา ศบค.