Site icon Thumbsup

สุกี้ตี๋น้อย ปรับตัวยุคโควิด-19 อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

 

ร้านอาหารส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 โดยสาเหตุที่เลือกใช้แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ในการช่วยเพิ่มรายได้ก็เพราะมองเห็นถึงช่องทางและโอกาสในการเพิ่มยอดขาย หากโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องและมีมาตรการควบคุมจากภาครัฐที่ไม่สามารถให้นั่งประทานอาหารที่ร้านได้ยกเว้นบริการสั่งแบบ Take Away ก็คงต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย อย่างร้านบุฟเฟต์ชื่อดัง “สุกี้ตี๋น้อย” ที่จะมาแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและความท้าทายในการนำอาหารสไตล์บุฟเฟต์สุกี้เข้าร่วมสมัครเป็นพาร์ทเนอร์กับแอปพลิเคชัน Gojek ว่าตอบโจทย์กับร้านอาหารในยุคปัจจุบันอย่างไร

คุณนัทธมน “เฟิร์น” พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” เล่าว่า “เฟิร์นเกิดและเติบโตมากับครอบครัวที่มีธุรกิจหลายอย่าง 1 ในนั้นคือการทำธุรกิจร้านอาหารแต่เป็นร้านที่ไม่ค่อยมั่นคงเปิดแล้วปิดไป สมัยเด็กครอบครัวจะเน้นให้เราเรียนเป็นหลัก พออายุ 14 ปี ก็เดินทางไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย และศึกษาต่อปริญญาโทในสาขา Luxury Management and Marketing ที่ประเทศฝรั่งเศส และได้กลับมาทำงานในสายงานด้านแฟชั่นตามสาขาที่ได้เรียนมา เคยร่วมงานกับบริษัทชั้นนำในวงการแฟชั่นอย่าง CMG และ Club 21 ก่อนจะย้ายไปทำงานด้าน Consultant ให้กับบริษัทจากประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งพอทำไปได้ซักพักก็มองว่าการทำงานบริษัทที่มีเงินเดือน เราอาจมีรายได้ที่มั่นคงถ้าไต่เต้าไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีความท้าทาย และไม่ใช่ความฝันของเรา ตอนนั้นอายุ 25 ปี ก็มองว่าอีก 5 ปีจะอายุ 30 แล้ว หากไม่เริ่มตอนนี้แล้วเมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จตามฝันจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ

“ตอนนั้นคุณพ่อเพิ่งเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านบางเขน และมีคาเฟ่เล็กๆ ช่วงที่ลาออกจากงานก็ได้ไปดูทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ว่าเป็นยังไง และเห็นว่าโซนฟู้ดคอร์ทมีพื้นที่ว่างเปิดให้เช่าอยู่ ถ้าเปิดร้านอาหารก็น่าจะจัดโต๊ะได้ประมาณ 15 – 20 โต๊ะ จึงไปปรึกษาคุณพ่อว่าอยากทำธุรกิจ คุณพ่อก็ให้คำแนะนำว่าการทำธุรกิจร้านอาหารปัญหาที่เคยเจอมามีอะไรบ้างก็นำตรงนั้นมาปรับเรียนรู้ จนเป็นจุดเริ่มต้นการของเปิดร้านสุกี้ตี๋น้อย สาขาแรก

“ในตอนนั้นที่เลือกเปิดร้านสุกี้เป็นเพราะมองว่าสุกี้มีขั้นตอนไม่น่ายาก ถ้าร้านเสิร์ฟด้วยวัตถุดิบคุณภาพดี ใช้ของสด มีน้ำจิ้มและน้ำซุปที่อร่อยก็น่าจะขายได้ และมองว่าสุกี้น่าจะตอบโจทย์การทำธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้ว่าอยากขยายให้ได้หลายสาขา และเป็นบริษัทใหญ่ที่มั่นคง ยิ่งร้านขายในราคาถูกก็ยิ่งสามารถจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้มากขึ้น วัตถุดิบของทางร้านก็ได้รับการดูแลจากครัวกลางทั้งน้ำจิ้มหรือของสดแต่ละสาขามีหน้าที่นำไปจัดตกแต่งจานเท่านั้น ร้านเรามีมาตรฐานการตรวจวัดคุณภาพที่เข้มงวดตลอดเวลา”

นัทธมนเล่าต่อว่า “ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยทำการตลาดผ่านโซเซียลมีเดียเป็นหลัก โดยใช้ Facebook ตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนราย ได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีมากจากการทำกิจกรรมแจกรางวัล และช่วยสร้างเอนเกจเม้นต์ให้ร้านแบบออร์แกนิคได้ดี และเรารับฟังลูกค้าเป็นหลัก ทำให้สุกี้ตี๋น้อยได้รับความนิยมอย่างมากภายในระยะเวลา 4 ปี สามารถขยายได้ 29 สาขา และทำรายได้ในปี 2563 ได้ 1,200 ล้านบาท แม้จะมีช่วงที่เจอสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งร้านก็ได้รับผลกระทบต้องปิดไป

แต่ก็เริ่มกลับมาเปิดอีกครั้งหลังสถานการณ์ดีขึ้นซึ่งก็ช่วยสร้างรายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ตอนนั้นร้านเริ่มมีการขายสุกี้แบบ Take Away แต่ขายผ่านหน้าร้านเป็นหลัก ในปี 2564 นี้ เราเริ่มสนใจอยากเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เพราะเราอยากเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสะดวก และเข้าถึงร้านได้มากขึ้น จึงสมัครเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง Gojek ตอนนั้นคิดมาเยอะมากๆ ว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าสั่งสุกี้แบบ Take Away และยังรู้สึกคุ้มค่าเหมือนทานที่ร้าน เป็นโจทย์ที่ยากมาก เลยทำออกมาเป็น 2 เซ็ต สุดคุ้มที่ราคา 219 บาท มีให้เลือกทั้งหมูหรือเนื้อ ร้านเราให้ครบทุกอย่าง เซ็ตนึงสามารถทานได้ 1- 2 คน หรือจะเลือกสั่งเพิ่มแบบอะลาคารท์ก็ได้ สะดวกมากแค่มีหม้อก็แกะรับประทานได้เลย ยังคงคอนเซปท์อร่อยคุ้มเหมือนมาทานที่ร้าน

“การที่เลือกเป็นพาร์ทเนอร์กับ Gojek เพราะเราเห็นว่า Gojek มีจัดแคมเปญการตลาดอย่างต่อเนื่อง มีส่วนลดให้ลูกค้า และมีคูปองจัดส่งฟรี ลูกค้าก็จะชื่นชอบจนไปรีวิวและแชร์ต่อๆ กันในโซเซียลมีเดียว่าสั่งกับ Gojek คุ้ม มีส่วนลดเยอะ เลยอยากฝากว่าสำหรับร้านไหนที่สนใจอยากสมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แนะนำว่าหากสามารถดูแลจัดการเรื่องต้นทุนและค่า GP ร้านได้เอง การสมัครเป็นพาร์ทเนอร์ก็ดีมากเพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านได้ในช่วงนี้” นัทธมนกล่าวทิ้งท้าย

ต้องบอกเลยว่าในยุคนี้แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อย่างแอปพลิเคชัน Gojek ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมผู้บริโภคเข้ากับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารต่างๆ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือบริหารจัดการร้านที่ทำให้ทุกออเดอร์เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น