Site icon Thumbsup

ไม่ขอกลับไปบริหารทีวีอีก! คุยกับ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ตอนที่ 1 : เมื่อสื่อเก่าถูก Disrupt แบบเต็มตัว

Thumbsup ได้รับเกียรติจากอย่างยิ่งจาก ‘สุทธิชัย หยุ่น’ อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง Kafedam Group (กาแฟดำกรุ๊ป) เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในวงการสื่อมาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในยุคสื่อเก่าและสื่อใหม่ตลอด ยิ่งในยุคนี้สื่อใหม่ก็ยังเจอกับการ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ซึ่งหลายองค์กรก็พยายามปรับแก้ไขวัฒนธรรมภายในอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ความจริงที่ใครหลายคนพบคงคือ คนที่ต้องการปรับตัว มักจะต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ทั้งในแง่งานที่ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว กับทัศนคติของเพื่อนร่วมงาน

“ทัศนคติของคนไทยที่ไม่ดีอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ ใครทำก่อนนี่จะซ่า นี่เอาใจเจ้านาย เนี่ยๆ ดูสิมันทำเป็นทำตามแบบเจ้านาย มันจะเอาหน้า” สุทธิชัย กล่าว


ก่อนหน้านี้ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ คือผู้คุมบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เครือเนชั่น” ที่มีทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่เมื่อสภาวะ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ก็มาถึง สุทธิชัยประกาศลาออกจากตำแหน่ง “ประธานบอร์ดเนชั่น” ในวันที่ 29 เมษายน 2558 และออกจากทุกตำแหน่งในเนชั่นในภายใน 5 มีนาคม 2561 รวมถึงยุติการจัดรายการทีวีผ่านช่อง NationTV 22 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 และเขียนคอลัมน์ ‘กาแฟดำ’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2561

สุทธิชัยให้เหตุผลของการออกจากบ้านที่ตัวเองสร้างมากับมือ คือ เรื่องของสุขภาพ ความตั้งใจที่จะเกษียณจากการงาน และหมดสัญญาจ้างจากบริษัท โดยตำแหน่งสุดท้ายที่สุทธิชัยดำรงตำแหน่ง คือ “ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น”

แต่แน่นอนว่าชายวัย 75 ปีผู้นี้ยังคงติดตามข่าวสาร และทำรายการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง “Suthichai Live” และเป็นผู้ผลิตรายการอิสระให้กับรายการ “กาแฟดำค่ำนี้” ทางช่อง 9 MCOT HD และรายการ “ตั้งวงคุยกับสุทธิชัย” ทาง ThaiPBS อีกด้วย สะท้อนว่าเขายังไม่หายไปไหนจากวงการสื่อ

Thumbsup ได้รับเกียรติจากอย่างยิ่งจากคุณสุทธิชัย หยุ่นมาพูดคุยถึงเรื่องสื่อเก่าและสื่อใหม่ การเปลี่ยนผ่านและบริหารงานภายในองค์กรมีความยากหรือง่ายมากน้อยแค่ไหน เพราะเขาถือบุคคลสำคัญในวงการสื่อที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว

ความแตกต่างระหว่างการบริหารสื่อยุคเก่ากับสื่อยุคใหม่มีอะไรบ้าง?

ภาพจาก LINE TODAY

แตกต่างกันแน่ครับ เพราะว่าพฤติกรรมคนอ่านและคนดูก็เปลี่ยนไป พฤติกรรมกระบวนการผลิตก็เปลี่ยนไป พฤติกรรมคนใน Social Media ก็เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือ ผู้บริหารของสื่อ วิธีคิดของคนทำสื่อ นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก

ผมเชื่อว่าคนทำสื่อทุกคนรู้ว่าต้องปรับต้องเปลี่ยน เพราะ Disruption หรือความป่วนที่เกิดจากเทคโนโลยี มันเกิดขึ้นจริง แล้วเห็นสัญญาณไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้ว

แต่ว่าความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน ดูเหมือนว่ายังไม่เข้าไปอยู่ในพฤติกรรมประจำวันของคนทำสื่อ ดังนั้นการบริหารนี่ ถ้าถามว่าการบริหาร ต่างกันไหม

การบริหารสื่อหลักของหนังสือพิมพ์ ทีวี แม้กระทั่งวิทยุ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์เดิมๆ เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของปัญหาว่าต้องปิด หนังสือพิมพ์ต้องปิดไปบ้าง ทีวีต้องปิดไปบ้าง

แต่ความจริงก็คือว่า โลกสื่อมันเปลี่ยนไปหมดละ ถามว่าถ้าจะอยู่รอดเนี่ย จะต้องปรับอย่างไร มันก็คงจะต้องดูว่า ผู้บริหารพร้อมที่จะยกเครื่องระบบการทำงานทั้งหมดไหม พร้อมที่จะยุบบางแผนกไปเลยไหม พร้อมที่จะเขียน Job Description หรือหน้าที่งานการของคนทำสื่อ

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข่าว ฝ่ายเนื้อหา ฝ่ายการตลาด แม้กระทั่งฝ่ายบัญชี ฝ่าย Support ทั้งหลาย เขาจะกล้าปรับใหม่หมดไหม

ลองเล่าประสบการณ์การปรับตัวรับกับ Disruption ในการทำงานสื่อได้ไหม?

ตอนที่มี Twitter ใหม่ๆ เนี่ย ผมเห็นแล้วก็ตื่นเต้น เพราะว่าเราเป็นนักข่าวยุคเก่า เราเห็น Twitter จะส่งข้อความได้ทันที และไปถึงคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันได้ ผมตื่นเต้นมาก เพราะนักข่าวสมัยนั้นกว่าจะส่งข่าวได้ กว่าที่จะสามารถเขียนข่าวได้ กว่าที่จะรู้ว่าใครดูเรา มันยากเย็นแสนเข็ญ

แต่พอมี Twitter เฮ้ยมันทำอย่างนี้ได้เลยหรอ ผมรู้มาจากเด็กนักศึกษาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอะไรนะ วันนึงนักศึกษาคนหนึ่งเอามือถือมาให้ผมดู แล้วบอกว่า “คุณสุทธิชัยมันมีอะไรที่มันแปลกมาก” ในเวลานั้นแอปเรายังไม่รู้จักเลย แอปคืออะไรยังไม่รู้เลย

นักศึกษาบอกว่านี่ “เวลาใส่ข้อความเข้าไปนะ คนที่เป็นเพื่อนเราเนี่ย อยู่ไหนก็ตาม มันขึ้นมาทันทีเลยครับ” ผมก็บอก “จริงอ๊ะเปล่า! เป็นไปได้หรอ” นักศึกษาก็พูดต่อว่า “เดี๋ยวลองทำดูนะครับ” แล้วก็เอามือถือไปให้คนอื่นดู “นี่นะครับข้อความที่ส่งขึ้นทันทีเลย”

ผมถึงกับอุทานว่า “เฮ้ยจริงหรอ!” ถ้าอย่างงั้นเนี่ยมันแปลว่า เรานักข่าวเนี่ยจะมีอาวุธพิเศษใหม่ที่เหลือเชื่อเลย

นั่นแหละเป็นจุดที่ในสมองผมรู้ทันทีว่า อาชีพเราจะเปลี่ยนแล้ว แต่เชื่อไหมผมบอกกับนักข่าวในเนชั่น เขาไม่เชื่อ เขานึกว่าเป็นของเล่น ของเด็กเล่นน่ะ

ทำอย่างไรให้คนในองค์กรยอมเปลี่ยนจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่?

ที่เนชั่นมีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเปลี่ยน ที่เป็นตัวอย่าง เพราะงั้นผมปรับไปเป็น Convergence Newsroom ห้องข่าวรวมเป็นห้องกลาง ทุกสื่อมาเรื่องของข่าว มาเรื่องของคอนเทนต์มาอยู่ตรงนี้ และตั้งโต๊ะกลมเลย ต้องตั้งให้เห็นด้วย ไม่ใช่แค่บอกว่า ประชุมร่วมกันนะ บอกทุกคน บ.ก. ทุกสื่อ แต่มันไม่ได้แปลว่าทุกคนทำได้หมด

ก็มีที่รับปากจะทำ แต่ทำไม่ได้ก็มี ประเภทมานั่งจริง ประชุมจริง แต่ไปโต๊ะเดิม เขาก็กลับไปทำเหมือนเดิมก็มีอีกครับ ก็มีจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว

แต่คนเหล่านั้นพอถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็ย้ายที่ย้ายทาง เพราะว่าองค์กรเดิมเนี่ย ตัวเขาเองเขารู้แล้วว่าคงพัฒนามากกว่านี้ไม่ได้ เขาก็ไปกระจายอยู่ ทุกวันนี้คุณก็เห็นเขาไปอยู่ Standard บ้าง ไปอยู่ทีวีช่องต่างๆ ซึ่งก็ดีนะครับ เพราะเราไม่จำเป็นต้องอยู่ตายตัวที่นี่

เพราะว่าถ้าองค์กรของเราไม่ปรับ เราก็คงเสียเวลาอีกสัก 3-5 ปี ถ้าเราไปออกก่อน ถ้าเราทำสิ่งที่อยากทำ มากกว่าแออัดยัดเยียดอยู่ที่เดิม ต้องทะเลาะกัน ดีเบตกัน

ทัศนคติของคนไทยที่ไม่ดีอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ ใครทำก่อนนี่จะซ่า นี่เอาใจเจ้านาย เนี่ยๆ ดูสิมันทำเป็นทำตามแบบเจ้านาย มันจะเอาหน้า

มันก็เลยเป็นอุปสรรค ของการแก้ไขปรับวัฒนธรรม คนที่อยากปรับตัวเนี่ย ต้องเผชิญกับอุปสรรคมาก ทั้งในแง่งานที่ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว กับทัศนคติของเพื่อนร่วมงาน

 

ใช่มะ ทัศนคติยากที่สุด คุณอยู่เฉยๆ เพื่อนทุกคนมันหมั่นไส้อ่ะ ทำเป็น Twitter ทำเป็นเขียน Blog เพราะคนอื่นไม่อยากทำ ก็เลยนึกว่า “เฮ้ย อย่าทำดีกว่า” มันกลับกันไง คนที่ทำต้องชวน “เฮ้ย มา สนุกจะตาย”

“เฮ้ย ไม่เอา มึงซ่าหรอ” เนี่ยตรงนี้ที่มันเป็นอุปสรรคอันใหญ่ข้อหนึ่งของสังคมไทยเราในทุกวงการนะ ไม่ใช่แค่วงการสื่อ

มีหลายคนเชิญให้มาช่วยมานั่งเป็นผู้บริหารสื่อหรือไม่

มีครับ แต่ผมปฏิเสธไปหมด อย่างนี้ผมทำงานสนุกกว่า มีความสุขมากกว่า เพราะว่าถ้าผมกลับไปบริหารให้องค์กรไหนก็ตาม ผมต้องกลับไปเปลี่ยนความคิด อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไง

แล้วคนทำสื่อวันนี้ยังไม่ยอมเปลี่ยน ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาจริงๆ นะ ไม่เห็นคนตกงาน ยังไม่ตกใจ ตอนนี้จะเริ่มตกใจ

แต่สำหรับคนไม่จำนวนไม่น้อย มันก็สายไปแล้ว เพราะอายุเขาก็เยอะ ถ้าคุณอายุ 40 ขึ้นก็ลำบากแล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนอายุ 40 ที่บอกโอเคผมพร้อมจะเริ่มใหม่ ผมพร้อมจะฝึกใหม่ ผมพร้อมจะทำข่าวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีน้อยไง

ดังนั้นถ้ามีใครมาชวนผมไปเนี่ย เงื่อนไขสำคัญมาก คือ องค์กรคุณพร้อมจะเปลี่ยนขนาดนั้นเลยหรอ ผมอาจจะยุบแผนกกี่แผนกก็ไม่รู้นะ ผมอาจจะเอาเด็กรุ่นใหม่มาทำหมดเลยนะ แล้วคนเก่าคุณจะทำยังไงกับเขา

“อันนี้มันก็ยากไง ผมก็ไม่อยากจะไปทำอ่ะ” สุทธิชัย กล่าว

ทำนายอนาคตทีวีดิจิทัลได้ไหม?

ผมคิดว่าเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของ 15 ช่อง แต่ครึ่งนึงก็ไม่ใช่ว่าจะสบายนะ ก็ต้องดิ้นรนนะ อีกครึ่งนึงคงต้องปรับตัวไปทำอะไรอย่างอื่น

อย่างคุณก็เห็นช้อปปิ้งออนไลน์ คือจะไปนอกจากเนื้อหาที่เห็นอยู่จะเปลี่ยนไปแน่นอน มันจะกลายเป็นช้อปปิ้งออนไลน์ บันเทิงสุดๆ ไปเลย จะกลายเป็นช่องใช้เฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจซื้อ ผมว่าคงจะเป็นแบบนั้น

แต่ที่เรามองว่าเหมือนเดิมคือช้อปปิ้งออนไลน์ ที่มีทั้งข่าว ละคร สารคดีเนี่ย คงจะยาก เพราะว่าคนดู ไม่จำเป็นต้องมานั่งดูหน้าจอทีวี ยกเว้นเสียแต่ว่าคนทำทีวีช่องนั้น จะเลิกคิดว่าเป็นทีวี

เพราะว่าทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือว่า ยังคิดว่าตัวเองเป็นช่องทีวี แล้วออนไลน์เป็นตัวเสริม แต่มันต้องกลับกันไง มันต้องมองว่าทีวีเป็นตัวเสริม อนาคตของคุณอยู่ที่มือถือ ทุกอย่างที่สะดวกสำหรับคนมันต้องอยู่ตรงนั้น

ซึ่งการวางแผน วางบุคลากร งบประมาณ วิธีคิด วิธีทำเนื้อหาเนี่ย คุณต้องคิดถึง Mobile ก่อนที่จะคิดถึงทีวี

แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เนี่ย คิดทีวีก่อน แม้กระทั่งวางงบประมาณ วางนักข่าว วางทีมข่าวก็ยังคิดแบบทีวี ดังนั้นมันยากมาก เพราะว่าพนักงานก็คิดแบบทีวี ผู้บริหารก็คิดแบบทีวี

แต่ผู้บริหารที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหา ก็ต้องไม่คิดแบบทีวีแล้วนะ อย่างคุณบี๋ (อริยะ พนมยงค์) ผมเชื่อว่าแกทำมาจาก LINE มาจาก Google แกจะคิดแบบ Online และ Mobile มากกว่า

แต่ปัญหาของแกคือ แกจะเปลี่ยนความคิดของคนข้างในได้หรือเปล่า อันนี้ยากมาก (หัวเราะ) เริ่มจากเปลี่ยนจากเจ้าของก่อน เขาอาจจะเชื่อนะ เพราะเจ้าของต้องการอยู่รอด

แต่เจ้าของจะต้องไปจัดการองค์กรใหม่ ตรงนี้แหละที่ยากที่สุด ไม่ตั้งใหม่จะง่ายกว่า แต่แน่นอนเราทิ้งคนเก่าไม่ได้

“วิกฤตจริงๆ ก็คือว่า คุณทิ้งเก่าก็ไม่ได้ แต่คุณก็ไม่กล้าไปสร้างใหม่”

การเปลี่ยนผ่านจากสื่อเก่าเป็นสื่อใหม่ จะเกิดอีกนานแค่ไหน?


ภายใน 3 ปีครับ ไม่เกิน 5 ปีครับ รุ่นพวกคุณอ่ะทันแน่นอน ผมไม่รู้จะทันรึป่าว (หัวเราะ) แต่ผมจะบอกพวกคุณว่า สิ่งที่สนุกสุดในภาวะที่เปลี่ยน คือมันเป็นโอกาสมหาศาล เข้าไปทดลองดู ไม่เวิร์คไม่เป็นไรนะ คุณต้องทำใจเลยนะว่า 10 อย่างเราลอง 8 อย่างอาจจะไม่เวิร์ก แต่ถ้าคุณเจออย่างนึงที่มันเวิร์ก คุณไปก่อนคนอื่นเลย แต่อย่าหยุดที่จะทดลอง ลองนู่นลองนี่ดู

เพราะมันไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไป ที่จะบอกว่าอันนี้เวิร์ก อันนี้ไม่เวิร์ก แล้วก็อย่ามุ่งแต่ตลาดที่เป็นแมสว่า ทำอย่างนี้ต้องมีเรตติ้งขนาดนั้น ทำอย่างนี้ต้องมีคนดูขนาดนั้น ไม่จำเป็นเลย เอาที่มันเป็นเนื้อหาที่ไม่มีใครมี คุณชอบคุณสนุกกับมัน ค่อยๆ สร้างขึ้นไป ค่อยๆ สร้างการรับรู้ คนก็จะค่อยๆ มา

เชื่อไหมว่า ยิ่งใน Social Media มี Fake News เยอะ มีข่าวปลอมเยอะ มีเรื่องดราม่าเยอะเนี่ย คนยิ่งแสวงหาเนื้อหาที่ดีนะ คนยิ่งแสวงหาของที่มีคุณภาพ ตรงนี้แหละที่พวกเราที่อยู่ในวงการที่ทำเนื้อหาที่มีคุณภาพ ไม่ควรจะท้อใจ หรือไม่ควรจะเปลี่ยนทิศทาง ควรจะทำ และก็ทำลึก ทำดีขึ้นไปเรื่อยๆ

แล้วอย่างที่ผมบอก ภายในอีก 3 ปี 5 ปีเนี่ย เราจะเป็นจุดแข็งของวงการ ที่ผมกลัวก็คือ พวกเราจะท้อไปซะก่อน เอ้อ ไม่มีใครดูเลยอ่ะ เอ้อเนี่ย รายได้ยังไม่เข้ามา

โอเคคุณหิวข้าวไปก่อน (หัวเราะ) เงินมันไม่หมดหรอก มันต้องมีวิธีสร้างรายได้ที่เราสบายใจ


บทสัมภาษณ์นี้เรียกได้ว่าสนุกและน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับใครหลายคนที่อยู่ในวงการสื่อ หรือแม้ไม่ได้อยู่ในวงการสื่อ ก็เป็นผู้เสพสื่อ ที่จะได้ข้อมูลดีๆ จากอดีตผู้บริหารสื่อชื่อดัง แต่บทสัมภาษณ์ยังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โปรดรอติดตามตอนที่ 2 ที่กำลังจะออกมาได้ในเร็วๆ นี้

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ สัมภาษณ์
ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ สัมภาษณ์ร่วม