สุทธิศักดิ์ วงศ์ปิยะ คือ Senior Innovation Coach และผู้ร่วมก่อตั้ง BOLD Group Thailand ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อสร้าง ‘นวัตกรรม’ โดยเฉพาะ ผ่านการใช้วิธีคิดค้นนวัตกรรมที่มีต้นแบบจากประเทศอิสราเอล
ซึ่งเขาบอกเราว่าจริงๆ แล้วนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด หากเราทราบหลักในการสร้าง ลองไปดูวิธีการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อ่านแล้วสามารถหยิบมาใช้คิดสิ่งใหม่ให้องค์กรของตัวเองได้กันค่ะ
BOLD Group Thailand ทำงานอะไรเกี่ยวกับนวัตกรรมบ้าง ?
สุทธิศักดิ์: เราทำงาน 3 ด้าน คือ
- ด้านแรก เป็นที่ปรึกษานวัตกรรมให้กับลูกค้าทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ
- ด้านที่สอง รับวิจัยภาพอนาคตของอุตสาหกรรม ว่าอีก 5-10-20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมของลูกค้ามีโอกาสพัฒนาไปในรูปแบบไหนบ้าง
- ด้านที่สาม ทำงานกับลูกค้าเพื่อพัฒนาทั้งองค์กร เพื่อให้เป็นองค์กรนวัตกรรม
เริ่มสร้างนวัตกรรมจากข้างใน ดีกว่ารับมาจากข้างนอก ?
สุทธิศักดิ์: การเริ่มสร้างนวัตกรรมไม่ควรสร้างจากข้างนอก เพราะของใหม่ คนใหม่ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการเข้ากันได้กับคนเดิม ของเดิม และวัฒนธรรมเดิมขององค์กร จนเป็นสาเหตุหลักของการล้มเหลวเวลาองค์กรจะขึ้นโครงการนวัตกรรม
การเริ่มต้นจากภายในจึงเป็นการเริ่มต้นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เพราะเรารู้ว่าใครเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง เวลาลูกค้าทำงานกับเรา เราจะเข้าไปเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ แล้วเริ่มกระบวนการให้คำปรึกษาผ่าน Workshop ในการดึงข้อมูล
หลักๆ เราจะมองว่า ‘ข้างในมีอะไรน่าสนใจ’ ผ่านการมองสิ่งที่ลูกค้ามี แล้วนำเอาของที่มีมาบิดจนน่าสนใจขึ้นมา เพราะบริษัทที่ดำเนินงานนี้มาตลอด จะต้องมีชุดความรู้ที่น่าสนใจอยู่แล้ว
ซึ่งไอเดียที่ได้จากวิธีคิดด้วยการเริ่มต้นจากข้างในแบบนี้ จะเป็นไอเดียที่ฝ่ายผลิตทำต้นแบบได้ทันที นำไปทดสอบตลาดได้เร็ว และถ้าจะทำจริงก็ลงทุนไม่มาก เพราะดัดแปลงจากของเดิม มีความเสี่ยงต่ำ และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูง
คำว่า ‘นวัตกรรม’ สำหรับคุณคืออะไร ?
สุทธิศักดิ์: เวลาพูดถึงนวัตกรรมทุกคนจะนึกถึงอะไรที่มันล้ำๆ หน่อย อย่าง AI, Blockchain, Big Data ฯลฯ แต่สำหรับเราเวลาพูดถึงนวัตกรรม เราสนใจแค่ 2 ประเด็น
- ประเด็นแรก ความใหม่ระดับอุตสาหกรรม คือสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาก่อน มันอาจจะเคยมีในอุตสาหกรรมอื่น แต่อุตสาหกรรมที่เราอยู่ยังไม่เคยใช้ ซึ่งบางเคสสามารถพัฒนาไปให้เป็นความใหม่ระดับโลกได้เลย
- ประเด็นที่สอง สิ่งนี้มันจะช่วยแก้ปัญหา หรือส่งมอบอะไรบางอย่างให้ลูกค้าได้ไหม
การคิด ‘นวัตกรรม’ ไม่ยาก แต่ต้องรู้หลักการ ?
สุทธิศักดิ์: เราใช้เครื่องมือจากอิสราเอล ชื่อ ‘Systematic Inventive Thinking’ หลักคิดคือ ‘Think inside the box’ โดยไม่ใช่ ‘การคิดนอกกรอบ’ แต่เป็น ‘การคิดในกรอบ’ ให้เต็มที่ จนพบว่า 85% ของนวัตกรรมนั้นสามารถอธิบายได้ภายใน 5 รูปแบบด้วยกัน
- Subtraction การตัดสิ่งสำคัญออก
ปกติเวลาเราทำเรื่องอะไรก็ตามมักได้ยินว่า “อะไรที่ไม่สำคัญก็ทิ้งมันไป“ แล้วเก็บเฉพาะส่วนสำคัญ แต่เครื่องมือนวัตกรรมตัวนี้มองว่า “อะไรที่สำคัญ ให้ตัดมันออกก่อน” เป็นกระบวนการคิดที่พลิกกลับ
เช่น ในยุคก่อนที่ iPhone จะฮิต ก็มี Blackberry ที่ได้รับความนิยม ซึ่งถ้าทำการสำรวจความต้องการลูกค้าในยุคนั้นว่าอยากได้อะไรเพิ่มเติม พวกเขามักจะตอบว่าอยากได้คีย์บอร์ดใหม่ๆ ที่หน้าตาแบบนี้ แบบนั้น
แต่ Apple กลับตัดคีย์บอร์ดที่ถือเป็นสิ่งสำคัญออก จนกลายมาเป็น iPhone มือถือที่ไม่มีคีย์บอร์ด ที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
- Division การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง
ในบางอย่างที่เคยเรียงลำดับ 1 2 3 4 แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนเป็น 4 1 2 3 ดูบ้างมันจะเกิดอะไรขึ้น?
เช่น กระบวนการในการทำขนมปังกระป๋อง ที่ปกติจะใช้การทำขนมปังให้เสร็จ นำมาใส่กระป๋อง ปิดฝา ฆ่าเชื้อ แล้วใส่กระป๋องขาย แต่ทางบริษัท Pan Akimoto ได้ออกแบบกระบวนการใหม่ ด้วยการเตรียมแป้ง นำเอาแป้งใส่กระป๋องแล้วอบทั้งกระป๋อง จากนั้นจึงนำไปขาย
ผลลัพธ์คือช่วยยืดเวลาขนมปังจาก 7 วัน ให้กลายเป็นเก็บได้ถึง 3 ปี เพราะไม่ผ่านอากาศ และไม่มีการสัมผัสกับเชื้อโรค จนทำให้ส่งขายได้ทั่วโลกนอกจากประเทศญี่ปุ่นด้วย
- Multiplication เพิ่มของที่มีอยู่แล้วในระบบเข้าไป
เช่น มีดโกน Gillette ที่ในช่วงแรกจะมีใบมีดเพียง 1 ใบ แต่ได้มีการใส่ใบมีดเพิ่มมาอีกใบ โดยเปลี่ยนองศาของความเอียง เพื่อต้องการให้ดึงขนให้ตึง แล้วให้ใบมีดอีกใบทำหน้าที่ตัด ส่งผลให้มีดโกนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- Unification การจ่ายงานให้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว
เป็นการจ่ายงานให้ผู้อื่น ในขณะที่ผู้ได้รับงานไม่รู้ตัวว่าต้องทำงานเพิ่มเข้ามา เช่น การให้คนที่เดินผ่านบันไดเลื่อน แล้วเป็นคนเปิดสวิตซ์เปิดการทำงานด้วย ซึ่งคนเดินก็มีหน้าที่เดินผ่านปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าโดนจ่ายงานเปิดสวิตซ์เพิ่มจากเจ้าของบันไดเลื่อนนั่นเอง
- Relation การเชื่อมโยงตัวแปร
เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เคยสัมพันธ์ให้สัมพันธ์กัน เช่น แว่นตา ที่ในสมัยก่อนแว่นใส และแว่นสี นั้นแยกจากกัน แต่วันหนึ่งมีคนนำมารวมกัน ให้ปริมาณความใสของแว่นขึ้นอยู่กับปริมาณของแสง โดยเป็นการเชื่อมโยง ‘ความใส’ ของแว่น กับ ‘ปริมาณความเข้มของแสง’ ที่มีในอากาศ
การคิดนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องทำได้ทั้งหมดถึง 5 แนวทาง ขอแค่ใช้ตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ ก็สามารถเริ่มคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้แล้ว
ทุกบริษัทควร ‘คิดนวัตกรรม’ เป็นของตัวเองไหม ?
สุทธิศักดิ์: ต้องมองว่าเรากำลังอยู่ในจุดที่ขายของเป็นเอกลักษณ์หรือเปล่า? บางที่ขายความเป็นต้นฉบับ ในแบบนี้เราอาจจะไม่ต้องการความเป็น ‘นวัตกรรม’ ก็ได้ เพราะมีคุณค่าในตัว และมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน
แต่บริษัททั่วไปจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรม ะต้องมีของใหม่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาต่อยอด เพราะเราอยู่ในยุคที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไป คู่แข่งเริ่มตามเราทันมากขึ้น
ถ้าไม่คิด ‘นวัตกรรม’ เอง แต่ไปซื้อมาได้ไหม ?
สุทธิศักดิ์: ถ้าไม่คิดเอง นั่นคือเรากำลังอยู่บนกระแสของการ ‘ซื้อมาขายไป’ คือเราจะได้นวัตกรรมนั้นมาเพราะเรามีเงิน ซึ่งไม่ผิด แต่มันไม่ยั่งยืน
เพราะไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่มีเงิน คู่แข่งทางตรงของเราก็มีเงินไม่แพ้เราเช่นกัน ถ้าเราซื้อวันนี้อีกสักพักเขาก็ซื้อตามเราแล้ว ถึงแม้บางทีเราเป็นคนเริ่มจ้างนักวิจัยให้มาวิเคราะห์เอง
แต่หากมีคู่แข่งเข้ามาแล้วบอกว่าให้บิดบางอย่างให้กลายเป็นของใหม่ มันก็ทำได้ไม่ยาก นั่นแปลว่าเรากำลังเสียเงินเพื่อให้เขาพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้มันดี จนเป็นการลงทุนให้คู่แข่งอีกทีหนึ่ง
ตัวอย่างการใช้นวัตกรรม ที่พัฒนาธุรกิจได้แบบไม่น่าเชื่อ
สุทธิศักดิ์: จริงๆ แล้วก็มีอยู่เยอะ เฉพาะในไทยเปิดบริษัทมาเกือบ 5 ปี มีการทำงานเรื่องพัฒนานวัตกรรมมากกว่า 200 โครงการ
ที่เล่าออกสื่อได้ก็มีครั้งหนึ่งเคยไปช่วยทำงานกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในเรื่อง Plant Factory ที่สร้างกระบวนการปลูกผักในน้ำที่ควบคุมได้ โดยควบคุมอาหาร ปริมาณแสง อากาศ ในระบบปิด ซึ่งเดิมมีต้นทุนค่อนข้างแพง
ภาพจาก – THIVA Innovate
โดยเขาเข้ามาบอกว่าอยากทำอะไรใหม่ๆ ผ่านการทำ Workshop กับเรา จนได้ไอเดียเป็น “การปลูกผักในแพ็กเกจ” ครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งแรกในโลก (มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว)
ซึ่งปกติคนที่จะปลูกผักแล้วปล่อยให้โตเต็มที่ แล้วตัดรากนำไปล้างตากแห้งแล้วมาหั่นใส่แพ็กเกจ ส่งขาย แต่กระบวนการของเราคือ ‘การสลับขั้นตอน’ โดยกระบวนการใส่แพ็กเกจมาอยู่ขั้นแรก แล้วให้ผักโตขึ้นมาในกล่อง เรามีหน้าที่ยกกล่องขึ้นเมื่อผักโต ตัดราก ปิดรู จนถึงส่งขาย
ผลลัพธ์คือลด Operation Cost ลงไปถึง 80% เพราะไม่ต้องมาหั่น ไม่ต้องล้าง บิดแห้ง ไม่เกิดการเน่าระหว่างการล้าง และเนื่องจากโตในกล่องทำให้มีจุดขายคือ “คนแรกที่สัมผัสผักนี้ คือคนที่จะกินผัก” เนื่องจากไม่ถูกสัมผัสและปนเปื้อนเชื้อโรค
นวัตกรรมไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี
ความเข้าใจผิดๆ เรื่องการคิด ‘นวัตกรรม’ ?
สุทธิศักดิ์: จุดใหญ่คือเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ที่คนมักคิดว่า ‘นวัตกรรม’ ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องยาก หรือต้องมีพรสวรรค์ถึงจะคิดได้
เราจึงเดินสายเพื่อไปบอกทุกคนว่านวัตกรรมไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรม แต่นวัตกรรมสามารถเป็นอย่างอื่นก็ได้
ถ้ามองดูทางฝั่งประเทศยุโรปเราจะเห็นนวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะมาจากโดรน หรือหุ่นยนต์ แต่หากเทียบกับนวัตกรรมจากฝั่งประเทศรายรับน้อยกว่าอย่าง อินเดีย บังกลาเทศ หรือแอฟริกา เราจะพบนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก แต่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ
ผู้บริหารที่อยากคิด ‘นวัตกรรม’ ควรรู้อะไรบ้าง ?
สุทธิศักดิ์: ต้องรู้นิยามของ ‘นวัตกรรม’ ก่อน เพราะจะได้ไม่ไป Kill Idea ที่ลูกน้องส่งเข้ามา และเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องเดาสุ่มแต่มีรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ควรจะตอบคำถามสำคัญให้ได้คือ
- ROI ของไอเดียนั้นเป็นอย่างไร ?
- Implement ได้ง่ายหรือยาก ?
- ทำแล้วสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจต่อคู่แข่งไหม ?
- ทำไปแล้วลูกค้าจะว้าวไหม ?
- ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไหม ?
เรียกได้ว่าเป็นแนวทางคิดนวัตกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งเขาย้ำกับเราว่า การคิดเรื่องนวัตกรรมที่ดีนั้นต้องมี ROI ที่วัดผลได้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ และประเมินแนวโน้มได้ ว่าในปีนี้บริษัทของเราอยากจะมีนวัตกรรมของตัวเองกี่ชิ้น เพราะจะนำไปวางแผนสู่ความสำเร็จได้อย่างชัดเจน