Site icon Thumbsup

Synnex กับการลงมาเล่นในตลาด E-sport

หลายคนรู้จัก ซินเน็ค (SYNNEX) ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีชั้นนำหลากหลายประเภท เรียกได้ว่ากวาดสินค้าเทคโนโลยีเกือบทุกประเภทเข้ามาอยู่ในพอร์ตสินค้า ซึ่งทาง Thumbsup ได้รับเกียรติเข้าร่วมสัมภาษณ์ คุณสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบุกตลาดเกมมิ่งในครั้งนี้

ภาพรวมของ Synnex

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa ระบุว่า ในปี 2562 ตลาดเกมภายในประเทศ จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นราว 15% เมื่อเทียบจากปี 2561 ที่มีมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท (ในกลุ่มอุปกรณ์เกมส์) และในปี 2568 จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 64,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเกมมิ่งของ Synnex ยังมีตัวเลขในส่วนนี้ไม่สูง แต่คาดว่าปีนี้น่าจะทำรายได้แตะ 2,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก เพราะภาพรวมธุรกิจของ Synnex สินค้าในกลุ่มสมาร์ทโฟนมีสัดส่วนที่สูงมากถึง 30-40% เลย จาก 3 แบรนด์ดังอย่าง หัวเว่ย ซัมซุง และไอโฟน ทำให้สัดส่วนของสินค้ากลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างจะลดหลั่นลงมา ทำให้กลุ่มเกมมิ่งเองยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน

“เดี๋ยวซินเน็คอาจจะมีการจัดพอร์ตสินค้าใหม่ เพราะตอนนี้เราพาร์ทเนอร์กับสินค้าไอทีหลากหลายมาก และตัวสินค้าเองจะคาบเกี่ยวกัน เช่น สินค้าในกลุ่มเกมมิ่งจะทับซ้อนกับ PC, Notebook, Mouse, Keyboard ซึ่งจะสร้างความสับสนกับรายได้ในส่วนของ PC, Notebook, Accessories อื่นๆ ที่วางขายในตลาด แต่ทุกกลุ่มสินค้าต่างก็มีรายได้โดดเด่นชัดเจน”

นอกจากนี้ ภาพรวมรายได้ของ Synnex ในปีที่ผ่านมา ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 15% หรือ 37,500 ล้านบาท พอสรุปปิดปี รายได้เกินกว่าเป้าที่วางไว้แล้ว ทำให้ในปีนี้ก็ยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 10-15% เช่นเดิม แต่เพิ่มในส่วนของเกมมิ่งมาอีก 2,000 ล้านบาท

เดินหน้าเรื่องเกม

สำหรับการจัดงาน SYNNEX GAMING & ESPORT TOURNAMENT 2019 การแข่งขันเกมออนไลน์ PLAYERUNKNOWN’S BATTLEGROUNDS หรือ “PUBG” ในระดับอุดมศึกษานั้น ทางคุณสุธิดา เล่าว่า มองเห็นโอกาสในกลุ่มเกมมิ่งมากขึ้น และการใช้จ่ายในกลุ่มนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นระดับพรีเมียมไม่แพ้การซื้อสินค้าประเภทอื่นๆ 

 

“หากมองแต่เรื่องสินค้าโน้ตบุค ต้องยอมรับว่ากลุ่มเกมมิ่งมีกำลังซื้อมากที่สุด หากเทียบกับสินค้าทั้งหมดของซินเน็ค กลุ่มโน้ตบุคสำหรับเกมมิ่งเพิ่มขึ้นถึง 30% เลย เมื่อเทียบกับตลาดโน้ตบุคเพียงอย่างเดียว การเติบโตยังเป็นหลักเลขตัวเดียวเท่านั้น”

 

ทั้งนี้ บริษัทมองเห็นโอกาสจากการที่มีลูกค้าเกมมิ่งเข้ามาซื้อสินค้าไปประกอบเอง โดยเคยมีคนซื้อสินค้าไปประกอบเอง สูงสุดถึง 200,000 บาท บริษัทจึงมองหาพาร์ทเนอร์และประกอบเซ็ตสินค้าสำหรับกลุ่มเกมมิ่งขึ้นมา ชื่อผลิตภัณฑ์ LEMEL – PUBG Certified Gaming PC ขึ้นมา ในราคา 66,900 บาท ที่ครบเซ็ทสำหรับการเล่นเกมและยังได้ไลเซนต์เกมแท้ เรียกว่าซื้อไปใช้เล่นเกมแนวไหนก็ได้ เพราะได้รับการยอมรับจากนักพัฒนาเกม PUBG แล้วว่าความเร็วเครื่องดีไม่แพ้ประกอบเองเลย

นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันเกมออนไลน์ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันทางการตลาด เพื่อเป็นแนวทางในการมองหากิจกรรมใหม่ๆ

โดยคุณสุธิดา ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีแผนชัดเจนในการบุกตลาดกีฬาอีสปอร์ตว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน เพราะอยากทำให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานในตลาดมากที่สุด

แต่ตลาดเกมค่อนข้างหมุนเวียนเร็ว มีเกมใหม่ๆ เข้ามา และความนิยมก็เปลี่ยนแปลงไปได้เร็ว ทำให้ซินเน็คเอง ก็ต้องมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งด้านเกมส์ เข้ามาช่วยเสริมทัพเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็มั่นใจว่าการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจทั้ง 18 รายและ PUBG Corporation น่าจะช่วยให้ ซินเน็ค เข้าถึงลูกค้าเกมมิ่งได้อย่างตรงจุด

การจัดการแข่งขันอีสปอร์ตของบริษัทในครั้งนี้ ได้รับความนิยมในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก ยิ่งเข้าไปจัดในระดับต่างจังหวัด ยิ่งมองเห็นว่ามีโอกาสขนาดใหญ่และคนในท้องถิ่นก็ต้องการ แรงสนับสนุนจากเอกชนเช่นกัน โดยรอบตัดสินจะแข่งขันกันท่ีจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 25 มีนาคม 2562

ภาพรวมตลาดไอทียังรุ่ง

แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว แต่ร้อนแรงในเรื่องของภาพการเมือง แต่ในมุมของธุรกิจเอกชนเอง ผู้บริหารหญิงคนเก่งของซินเน็ค มองว่า กำลังซื้อยังมีทิศทางที่ดีอยู่ อาจเพราะถึงจังหวะของการเปลี่ยนอุปกรณ์การทำงาน และอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันต่อกระแสมากขึ้น

“องค์กรเอกชนเริ่มทะยอยเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ PC กันมากขึ้น และมองเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, Cloud ทั้งแบบ Hardware และ Software มาปรับใช้มากขึ้น เพราะต้องตามกระแสโลกให้ทัน รวมทั้งธุรกิจเดิมที่เคยมีการลงทุนเทคโนโลยีเอง ก็เริ่มหันมาใช้จ่ายแบบ Subscription กัน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่าย เชื่อว่าอย่างน้อยในอนาคต ภาคธุรกิจยังสนใจลงทุนด้านอุปกรณ์กันต่อ เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนเร็ว”

ทั้งนี้ สินค้าในการ Networking หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อภายในบ้าน ก็ยังมีผลตอบรับที่ดี หรือ Component ก็ยังมีความต้องการในตลาด หรืออย่างสินค้าในกลุ่มโดรนเอง ก็มีผลตอบรับที่ดีมาก เช่น Osmo ของ DJI เรียกว่ายังมีการสั่งจองสินค้าเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้บริษัทยังเดินหน้าทำตลาดต่อเนื่อง หากผ่านเรื่องข้อกฏหมายที่ชัดเจน ก็เชื่อว่าจะมีสินค้ากลุ่มโดรนที่น่าสนใจอีกหลายประเภทเข้ามาทำตลาดในหลายอุตสาหกรรม

“ที่จริง โดรนในต่างประเทศถูกใช้ทำงานหลายอย่างได้ ทั้งเชิงขนส่ง หรือ เกษตรกรรม แต่รุ่นที่นำเข้ามายังจำกัดแค่ในกลุ่มคนเล่นกล้อง แต่ก็เชื่อว่าหากมีความชัดเจนในเรื่องข้อกำหนดก็น่าจะช่วยให้มีโอกาสในการนำเข้ามาใช้งานอย่างถูกต้องมากขึ้น”

ด้วยสถานการณ์ที่หลายธุรกิจเข้ามาสนับสนุันด้านอีสปอร์ตกันมากขึ้น ก็หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งรายได้ของอุตสาหกรรมที่จะเข้าสู่ประเทศ เพราะเอกชนหลายรายเองก็ยอมรับว่ามีโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ เข้าประเทศ หากมีการผลักดันและสนับสนุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งลบความคิดว่าเกมเป็นเพียงสิ่งมอมเมาเยาวชน เพราะในหลายประเทศที่กำกับและสนับสนุนอย่างเหมาะสม สามารถสร้างโอกาสให้เด็กเดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง และสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างสะพัดด้วย