Site icon Thumbsup

ไต้หวัน-ไทย แชร์ประสบการณ์บริหารน้ำและพลังงานหมุนเวียน

หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำรุนแรงขึ้นทุกปี ตั้งแต่น้ำท่วมหนักไปจนถึงแล้งจัด โดยในส่วนของประเทศไทยในบางพื้นที่ก็เผชิญกับน้ำท่วมในบางฤดู แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำส่วนเกินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่หลายพื้นที่ก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่กำลังปลุกปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งในอนาคตจะต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือ

สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย (TAITRA) ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้จัดสัมมนา “Taiwan Water Management & Sustainable Energy” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ การบริหารจัดการน้ำและโซลูชั่นพลังงานทดแทนสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการไทย

นายแม็กซ์ จาง ผู้อำนวยการสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย (TAITRA) กล่าวในงานสัมมนาว่า ไต้หวันมีชื่อเสียงในระดับโลกในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านน้ำ พลังงาน และอุตสาหกรรมกรีนเทค งานสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีให้ผู้ประกอบการไทยในทุกอุตสาหกรรมได้รับทราบข้อมูลและเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จของไต้หวัน ซึ่งพร้อมจะร่วมมือกับไทยเพื่อดูแลเรื่องนี้

“นโยบายพลังงานสีเขียวเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในไต้หวัน และเราหวังว่าผู้ประกอบการไทยจะพิจารณาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไต้หวันในการลงทุนด้านนี้ เพื่อความสำเร็จด้านบริหารจัดการน้ำและพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในประเทศไทย”

ด้านนายชูชาติ สายถิ่น รองประธานกรรมการ สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะวอเตอร์ จำกัด ได้บรรยายหัวข้อ “ภาพรวมการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย”  โดยกล่าวว่า การเติบโตของพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกจะทำให้ในอนาคต มีความต้องการใช้น้ำมาถึง 5,700 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวมีความสามารถกักเก็บน้ำเพียง 2,400 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น หากไม่เร่งผลักดันการพัฒนาแหล่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การใช้น้ำ การหมุนเวียนนำน้ำมาใช้ใหม่ รวมถึงการทำน้ำจืดจากน้ำทะล ก็เชื่อว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำจะรุนแรงหนัก

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติของประเทศไทย รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา พบว่า ไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งทุก ๆ 4-5 ปี ซึ่งคาดว่าภัยแล้งรอบต่อไปจะเกิดขึ้นประมาณปี 2568-2569

“วิกฤตน้ำของไทยมี 2 อย่าง คือ น้ำท่วมและน้ำแล้ง แต่ภาคอุตสาหกรรมจะเดือดร้อนมากถ้าน้ำแล้ง ที่ผ่านมา เราจะเห็นน้ำท่วมทุกปี แต่ก็เป็นน้ำที่มาเร็วไปเร็ว หากต้องการกักเก็บน้ำดังกล่าวมาเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและใช้ในประเทศได้ดีขึ้นก็ต้องอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องเทคโนโลยี วันนี้มีโอกาสได้เรียนรู้จากไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องเทคโนโลยีด้านน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ”

คุณชูชาติ กล่าวถึงประสบการณ์การบริหารน้ำของนิคมอมตะว่า มีสถานีบำบัดน้ำเสีย ที่จะนำน้ำที่บำบัดแล้วไปใช้ในโรงไฟฟ้า ใช้ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนก็ยังช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนด้วย ทำให้ได้น้ำบริสุทธิ์กลับคืนสู่ระบบอุตสาหกรรมกรรม ปัจจุบัน นิคมอมตะมีสถานีรีไซเคิลน้ำเสีย 5 แห่ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำหลักได้ถึง 40% และเป็นต้นแบบของนิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการน้ำดีเด่น และตอนนี้ทุกสถานีฯได้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้สนใจทั่วไปด้วย

ด้านนายอาทิตย์ เวชกิจ กรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน นอกจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ภาคอุตสาหกรรมก็จะเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน ซึ่งหากในปี 2593 ถ้าต้องการมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไทยก็ต้องให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องหาพลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งหากไทยแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้ ไทยก็จะเป็นประเทศที่ติดท็อป 10 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากปัญหาโลกร้อน

“ถ้าเรายังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 65-70% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด เราไปไม่รอดแน่ในสถานการณ์โลกปี 2593 ดังนั้น แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ของไทยจะต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกพลังงาน ซึ่งตอนนี้ยังหาข้อสรุปเรื่องแผนนี้ไม่ได้”

นายอาทิตย์กล่าวทิ้งท้ายว่า จริง ๆ เพียงรัฐปลดล็อกกฎ Zero Export โดยส่งเสริมให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ผ่านสายส่งให้คนอื่นได้ ก็จะช่วยให้การใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

นายไมเคิล จง กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชีย วอเตอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และประธานผู้ทรงคุณวุฒิสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย (TAITRA) ได้ยกตัวอย่างการทำแก้มลิงใต้ดินในหลายประเทศ ซึ่งนอกจากใช้กักเก็บน้ำแล้วยังมีการบริหารจัดการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ นอกจากนี้ ยังได้แนะนำไส้กรองเซรามิค (Ceramic Filter) ที่สามารถช่วยกรองและกักเก็บน้ำที่มาจากธรรมชาติได้อย่างมาก เช่น ในกรณีเกิดน้ำท่วมน้ำหลากในไทย หากนำ Ceramic Filter มาสร้างเป็นที่กักเก็บตามแนวถนนที่เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อย ๆ เมื่อมวลน้ำไหลมา ไม่ว่าจะเกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่อง หรือน้ำท่วมจากภาคเหนือลงมา Ceramic Filter ก็จะช่วยกักเก็บและกรองแบคทีเรียบางชนิด สารตกค้างต่าง ๆ สามารถนำน้ำที่ผ่านกระบวนการ Ceramic Filter มาใช้สำหรับการล้างทำความสะอาดได้ สามารถนำน้ำที่เกิดจากน้ำท่วมมาใช้ประโยชน์ได้ทันที

“คงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องคำนึงและหานวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งทางไต้หวันพร้อมที่จะถ่ายทอดทุกอย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและพลังงานหมุนเวียนให้แก่ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการของไทย”

นายภัทรพงศ์ ดิษฐกรโภคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการค้า สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย ได้แจ้งกับ TAITRA ว่าอยากมีโอกาสได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ไต้หวัน เพื่อสัมผัสและได้เห็นการทำงานจริง ๆ ของนวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปีนี้ทาง TAITRA ได้สนับสนุนค่าที่พักและตั๋วเครื่องบินให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย

ทั้งนี้ TAITRA ขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยไปร่วมชมงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำและพลังงานหมุนเวียนจำนวน 3 งานที่ไต้หวัน ได้แก่ งาน Taiwan International Water Week จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2565 งาน Energy Taiwan Exhibition จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 และงาน Taiwan Alliance for Sustainable Supply (TASS) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2565 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 02-651-4470 หรือ ทางอีเมล bangkok@taitra.org.tw